xs
xsm
sm
md
lg

RDC2011 ทุบสถิติ “น็อคเอาท์” คู่ต่อสู้คว้าชัยแข่งหุ่นยนต์ใน 29 วินาที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฉมหน้า ทีม “wind” ที่สามารถคว้าชัยจากเวที RDC2011 ได้สำเร็จ นายบรรหาร เนรวงศ์, นายณัฐวุฒิ คมสระน้อย, นายสมพงษ์ จารุจิตจำเริญ, นายวรุตม์ โพธิ์พันธ์ และนางสาวณัฐนพิน ปทีปโชติวงศ์ (เรียงจากซ้ายไปขวา)
เวที RDC2011 ปิดฉากการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ด้วยงบประมาณแค่ 600 บาทและวัสดุที่จำกัด ทีมแชมป์ทุบสถิติ “น็อคเอาท์” คู่ต่อสู้ด้วยเวลาเพียง 29 วินาที ได้เยาวชนไทย 5 คนเป็นตัวแทนไปแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกที่สหรัฐฯ

การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 (Robot Design Contest 2011) รอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 28 พ.ค. 54 ณ ลาน ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ ชั้น 1 ปิดฉากลง และได้ตัวแทนเยาวชนไทย 5 คนจากทีมชนะเลิศ ที่จะเดินทางไปแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ (International Design Contest 2011 : IDC RoBoCon 2011) ที่สหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 54 นี้

สำหรับปี 2554 มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 12 ทีมๆ ละ 5 คน ซึ่งสมาชิกแต่ละทีมเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาจากต่างสถาบัน โดยทีมชนะเลิศนั้นได้รวมตัวกันแข่งขันในทีม “wind” และเข้าชิงชัยกับทีม “Geothermal”  ทั้งนี้ ผู้เข้าแข่งขันทุกคนได้เข้ารับการอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับความรู้ด้านการออกแบบและสร้างหุ่น ในระหว่างวันที่ 9- 27 พ.ค. 54 ณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)   อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี หลังจากนั้นจึงได้แบ่งสายการแข่งขันเป็น 4 สาย คัดเลือกจนเหลือ 2 ทีมสุดท้ายเพื่อหาทีมที่จะบินลัดฟ้าไปแข่งขันในเวทีโลกที่สหรัฐฯ

สำหรับกติกาการแข่งขันนั้น ได้ดำเนินภายใต้แนวคิด “พลังงานสีเขียวสำหรับโลกสีเขียว” (Green Energy for The Green Planet) ในแต่ละทีมนั้นจะได้รับชุดคอนโทรลเลอร์และอุปกรณ์เพื่อผลิตหุ่นในเบื้องต้น พร้อมเงินจำนวน 600 บาท ในการหาซื้อวัสดุในการออกแบบหุ่นขึ้นมา 2 ตัว เพื่อปฏิบัติภารกิจในการแข่งขัน หากแต่ละทีมมีอุปกรณ์ที่ได้เตรียมมาเอง โดยไม่ใช้เงินซื้อจะต้องนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาให้คณะกรรมการตีเป็นมูลค่าเพื่อความเท่าเทียมกับทีมอื่นด้วย

หุ่นยนต์ตัวแรกมีภารกิจในการนำก้อนพลังงานทดแทนมาเรียงกันเพื่อสร้างพลังงาน ซึ่งหุ่นยนต์ของแต่ละทีมต้องนำก้อนพลังงาน 3 ก้อนข้ามเนินมาวางไว้ในถาดที่กรรมการเตรียมไว้ โดยก้อนพลังงานมีคะแนนก้อนละ 10 คะแนน รวมเป็น 30 คะแนน หากวางก้อนพลังงานรูปเดียวกัน แต่สีไม่เหมือนกันจะได้ 60 คะแนน หากวางรูปเดียวกัน สีเดียวกันทั้ง 3 ก้อน รับไป 90 คะแนน โดยมีระยะเวลาการแข่งขัน 90 วินาที

สำหรับหุ่นยนต์ตัวที่ 2 ภารกิจของหุ่นตัวนี้คือการทำ “บิงโก” กล่าวคือถ้าหุ่นยนต์ของทีมใดสามารถโยนลูกบอลที่เก็บได้จากต้นปาล์มลงตึกสะสมพลังงาน ได้ 2 ลูกก่อน ถือว่า “น็อคเอ้าท์” และเป็นผู้ชนะในเกมนั้นทันที โดยไม่ต้องสรุปคะแนน ซึ่งหุ่นยนต์ตัวที่ 2 สามารถทำภารกิจไปพร้อมๆ กับหุ่นยนต์ตัวที่ 1 ได้ แต่ยังไม่สามารถโยนลูกบอลลงตึกเพื่อบิงโกได้ จนกว่าหุ่นยนต์ตัวแรกจะสามารถนำกล่องพลังงานทั้ง 3 ก้อน มาวางบนถาดให้เรียบร้อยก่อน แต่หากโยนได้ 1 ลูก ได้ 20 คะแนน แต่ถ้าครบ 2 ลูก ถือว่า “น็อคเอ้าท์”

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ติดตามการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศอย่างใกล้ชิด เริ่มการแข่งขันเกมแรกทีม “wind” ใช้หุ่นยนต์ตัวที่ 1 เร่งทำภารกิจเก็บก้อนพลังงานอย่างรวดเร็ว จากนั้นตัวแทนจากทีมบังคับให้หุ่นยนต์ข้ามเนินมาอีกฝั่งเพื่อนำก้อนพลังงานมาวางไว้ในถาดอย่างแม่นยำ ขณะเดียวกันทีม “Geothermal” ก็สามารถเก็บก้อนพลังงานได้อย่างรวดเร็วตามมาติดๆ ในระยะเผาขน แต่ทีม “wind” อาศัยความคล่องตัวในการบังคับหุ่นยนต์ตัวที่ 2 จนสามารถโยนลูกบอลที่เก็บมาจากต้นปาล์มลงตึกสะสมพลังงานได้ก่อน จบเกมลงในเวลา 29 วินาที ถือเป็นการจบการแข่งขันด้วยเวลาสั้นที่สุด

เริ่มเกม 2 ทีม “wind” มาพร้อมกับสมาธิที่มุ่งมั่น เพราะหากชนะเกมนี้จะทำให้พวกเขาเป็นแชมป์ประเทศไทย และเป็นตัวแทนไปแข่งขันในเวทีโลก การแข่งขันเริ่มขึ้น ทีม “wind” บังคับหุ่นยนต์เข้าเก็บก้อนพลังงานอย่างรวดเร็ว จนสามารถบังคับหุ่นข้ามเนินเพื่อวางกล่องพลังงานได้ครบตามกติกา ขณะเดียวกันทีม “Geothermal” สามารถวางกล่องพลังงานตามมาติดๆ ท่ามกลางการลุ้นระทึกของเหล่ากองเชียร์ แต่จังหวะนั้น ทีม “wind” สามารถยืดแขนกลโยนบอลลงตึกสะสมพลังงานได้ก่อนจบเกม ด้วยเวลา 32 วินาที

หลังจบการแข่งขัน สมาชิกทีม “wind” ได้เผยเคล็ดลับการคว้าชัยในครั้งนี้กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า การออกแบบหุ่นยนต์ของทีมนั้นจะเน้นการออกแบบหุ่นยนต์ให้ง่ายต่อการบังคับมากที่สุด เพราะหากออกแบบให้หุ่นยนต์ให้มีความซับซ้อน การบังคับของชุดคอนโทรลเลอร์จะยาก และนอกจากจะทำให้ให้ตื่นเต้นเวลาบังคับแล้ว ยังทำให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่ทันเวลา

ตัวแทนจากเยาวชนไทยจากทีมชนะเลิศ ได้แก่ 1.นายณัฐวุฒิ คมสระน้อย นักศึกษาจากสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี  2.น.ส.ณัฐนพิน ปทีปโชติวงศ์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น  3.นายสมพงษ์ จารุจิตจำเริญ สาขาวิศวยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.นายวรุตม์ โพธิ์พันธ์ สาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร และ 5.นายบรรหาร เนรวงศ์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท เชียงใหม่

นายสมพงษ์ จารุจิตจำเริญ หนึ่งในสมาชิกทีม “Wind” เผยถึงความรู้สึกที่ทีมจะได้เป็นตัวแทนเข้าแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ในเวทีโลก โดยบอกว่ารู้สึกดีใจมากที่จะได้ลงสนามแข่งขันระดับโลกที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นเลิศด้านวิศวกรรม แต่การไปแข่งขันครั้งนี้ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมเนื่องจากต้องทำงานร่วมกับประเทศอื่น แต่ก็จะไม่ทำให้ประเทศไทยผิดหวังอย่างแน่นอน

“สำหรับประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันในครั้งนี้ นอกจากได้นำความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์มาออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาเองแล้ว ยังได้เพื่อนใหม่ที่มาจากต่างสถาบัน ต่างจังหวัด มาร่วมกันทำงานอย่างพร้อมเพรียง และสามัคคีกัน จนทำให้เกิดความสำเร็จขึ้นมาได้” นายสมพงษ์ กล่าว

สำหรับทีม “Geothermal” แม้จะพลาดการคว้าชัยไป แต่ทีมนี้ยังได้รับรางวัล “ออกแบบความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น” มาปลอบใจ โดยสมาชิกทีมนี้บอกว่าได้รับรางวัลออกแบบความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น เพราะทีมพวกเขานำอุปกรณ์ที่มีอยู่มาแปรรูปได้มากที่สุด และใช้ชิ้นส่วนที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เช่น รางเลื่อนที่นำมาประกอบกับหุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ทีมอื่นจะซื้อแบบสำเร็จรูปมาใช้ แต่ทีมนี้ใช้ไม้ประกอบเอง เป็นต้น และยังได้เผยจุดเด่นของทีมด้วยว่า หุ่นยนต์ที่ออกแบบเก็บก้อนพลังงานนั้นได้ถูกออกแบบให้สามารถวางก้อนพลังงานลงถาดได้อย่างแม่นยำ แต่ข้อเสียคือจะเสียเวลาในการเก็บกล่องนาน จึงทำให้พลาดแชมป์ในครั้งนี้

แม้ว่าทีมนี้จะเป็นแค่รองแชมป์ แต่สมาชิกของทีม “Geothermal” ได้ให้ความเห็นว่า  รางวัลเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั่นคือการได้เข้ามาเรียนรู้กลไกการทำงานของเครื่องมือต่างๆ เพื่อนำไปคิดออกแบบหุ่นยนต์ นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้ที่จะใช้วัสดุที่กรรมการมอบให้ และใช้เงินจำนวนจำกัดเพื่อสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ง่าย ที่สำคัญยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนต่างสถาบันอีกด้วย และโดยส่วนตัวแล้วเขาไม่ผิดหวังที่ได้เข้ามาร่วมการแข่งขันในครั้งนี้  

การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 (Robot Design Contest 2011) ได้จัดขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)  สถาบันไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ และสถาบันการศึกษาทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เชียงใหม่ (มช.)  ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนสุรนารี  ซึ่งในรอบชิงชนะเลิศนี้ รศ.ดร.วีรศักดิ์ อุดมกิจจา ผอ.เอ็มเทค ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีการแข่งขัน ร่วมชมการแข่งขันคู่ชิงชนะเลิศและมอบรางวัลด้วย
บรรยากาศหลังเวที ที่น้องๆ กำลังเช็คสภาพหุ่นยนต์เพื่อเตรียมพร้อมก่อนลงการแข่งขัน
บรรยากาศการแข่งขัน ที่คณะกรรมการได้จำลองสนามแข่งขันให้เป็นฐานพลังงานทดแทน ทั้งการเก็บก้อนพลังงานเพื่อนำไปสร้างพลังงานทดแทน และนำลูกบอลมาออกแบบให้เป็นผลปาล์มเพื่อนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน
บรรยากาศการแข่งขัน RDC2011 ในวันที่ 28 พ.ค. 54 ณ ลานศูนย์การค้นพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ ผู้คนที่ผ่านไปมาต่างให้ความสนใจการแข่งขันในครั้งนี้
สีสันการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับประเทศ ครั้งที่ 4 ที่หลายทีมได้นำพวงมาลัยมาห้อยที่หุ่นยนต์เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับทีมของตัวเอง
ผู้เข้าแข่งขันกำลังลุ้นให้หุ่นยนต์ตัวที่ 1 วางกล่องพลังงานลงถาดให้ครบ 3 กล่อง เพื่อให้หุ่นยนต์อีกตัวทำภารกิจหย่อนลูกบอลที่เก็บมาจากต้นปาล์ม 2 ลูก ลงตึกสะสมพลังงานก่อนคู่ต่อสู้ เพื่อจะได้เป็นฝ่ายน็อคเอาท์ในทันที
การแข่งขันของ ทีม “wind”  ในรอบชิงชนะเลิศ ท่ามกลางกองเชียร์ที่แน่นขนัด
ทีม “wind” กำลังทดลองบังคับหุ่นยนต์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ
ทีม “Geothermal” แม้จะพลาดการคว้าชัยไป แต่ทีมนี้ยังได้รับรางวัล “ออกแบบความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น” ปลอบใจแทน
ผู้เข้าแข่งขันเวที RDC2011 ทั้งหมด 56 คน จาก 24 สถาบันการศึกษา
โฉมหน้าทีม “Solar”  ซึ่งได้ที่ 3 จากเวที RDC2011
กำลังโหลดความคิดเห็น