xs
xsm
sm
md
lg

“นักคณิต-นักอุตุ” คลายกังวลสภาพอากาศไม่วิปริตในปี 2012

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพอากาศแปรปรวนเหนือศูนย์การบินอวกาศเคนเนดี ทั้งนี้ เราพบทั้งภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่แปรปรวน จึงทำให้หลายคนคิดถึงคำทำนายปี 2012 ที่โลกอาจจะเจอภัยพิบัติครั้งใหญ่ แต่นักอุตุนิยมวิทยาระบุว่าปีหน้าสภาพอากาศจะเข้าสู่ร่องปกติหลังผ่านปีเอลนิโญและลานีญามาแล้ว (รอยเตอร์)
สภาพอากาศเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว บางวันก็มีครบ 3 ฤดู ชวนให้หลายคนกังวลว่า ปี 2012 ที่ร่ำลือกันว่าโลกจะถึงกาลวิบัตินั้น จะเผชิญอากาศวิปริตสุดขั้วมากกว่านี้หรือไม่? ด้านนักอุตุนิยมวิทยาและนักคณิตศาสตร์ ซึ่งกำลังจะร่วมกันศึกษาสภาพอากาศด้วยตัวเลข ให้ความเห็นว่าปีหน้าสภาพอากาศจะเข้าภาวะปกติ แต่อาจช้าหน่อยเท่านั้น

ดร.วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยา สำนักเฝ้าระวังและเตือนสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราไม่รู้จักปรากฏการณ์เอลนิโญ (El nino) และลานีญา (La nina) แต่การส่งดาวเทียมขึ้นไป จึงทำให้เราได้รู้จักปรากฏการณ์นี้มากขึ้น จากเดิมที่เข้าใจว่า เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้เฉพาะอเมริกาใต้ช่วงวันที่ 25 ธ.ค.ซึ่งเรียกกันว่า “ปรากฏการณ์พระเยซู”

ทั้งนี้ กว่าจะผ่านไปถึงปีที่มีสภาพอากาศเป็นปกตินั้น ตามวัฏจักรจะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ ซึ่งจะเกิดความแห้งแล้งก่อน ตามมาด้วยปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์น้ำมาก โดยปี 2011 นี้ ดร.วัฒนากล่าวว่า เป็นลานีญาแบบอ่อนๆ เพราะไม่มีคนเสียชีวิตร้ายแรง และไม่มีการอพยพ เมื่อถึงปี 2012 สภาพอากาศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

“ณ วันนี้คนเรียนรู้ถึงหายนะมามาก จึงรู้สึกว่ามีอะไรที่ต้องเจ็บปวดมากกว่านี้อีก แต่ระบบอากาศจะต้องเข้าในร่องเดิม” ดร.วัฒนากล่าว

ด้าน ดร.กิตติศักดิ์ ชยันตราคม อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีแนวคิดที่จะร่วมกับ ดร.วัฒนาใช้คณิตศาสตร์ในการศึกษาทางด้านอุตุนิยมวิทยา ให้ความเห็นว่า ในปี 2012 สภาพอากาศจะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในความเห็นของเขาแล้ว ปัจจัยจากภาวะเรือนกระจกซึ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้สงอาทิตย์เข้ามาแล้วออกไปไม่ได้ จนโลกร้อนขึ้นนั้น จะทำให้การเข้าสู่ภาวะปกติของสภาพอากาศล่าช้าออกไป

ดร.วัฒนาให้ข้อมูลอีกว่า การพยากรณ์สภาพอากาศนั้น ต้องอาศัยข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศ ซึ่งยิ่งมีสถานีตรวจวัดหลายแห่ง ยิ่งทำให้ได้ข้อมูลในการพยากรณ์ได้แม่นยำขึ้น ซึ่งยุคแรกๆ นั้นจะประเมินผลกันทางสถิติ ด้วยข้อมูลที่เก็บจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ แต่ตอนนี้ไม่สามารถใช้ได้แล้ว เพราะมีปรากฏการณ์ซ้อนปรากฏการณ์ ดังนั้น ไม่สามารถใช้ชุดสมการสำหรับพยากรณ์อากาศปกติในปีที่เป็นลานีญาและเอลนิโญได้

ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยระหว่างการเสวนา “การคำนวณเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและภาวะหล่อแหลมของการแปรปรวนทางภูมิอากาศ” เมื่อวันที่ 21 เม.ย.54 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมฟังการเสวนาดังกล่าวด้วย
ร่องรอยความเสียหายจากพายุพัดถล่มเมืองเบิร์กเลย์ในสหรัฐฯ (เอพี)
เวทีเสวนาการคำนวณเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและภาวะล่อแหลมของการแปรปรวนทางภูมิอากาศ (ซ้ายไปขวา) ดร.กิตติศักดิ์ ชยันตราคม จากภาควิชาคณิตศาสตร์ มหิดล ผู้ร่วมเสวนา , ดร.บริบูรณ์ นวประทีป ผู้ดำเนินการเสวนา และ ดร.วัฒนา กันบัว
กำลังโหลดความคิดเห็น