xs
xsm
sm
md
lg

“โลคอลเชนจ์” ทำ "พายุงวงช้าง” ตระกูลทอร์นาโดรุนแรงขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพพายุงวงช้างซึ่งเป็นพายุที่มีการเกิดแบบเดียวกับทอร์นาโด แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งในภาพนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สนามฟุตบอลในโรงเรียนแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น (ภาพประกอบข่าวจากโต๊ะข่าวกีฬา)
แม้ไทยไม่มีทอร์นาโดเหมือนในสหรัฐฯ แต่พายุตระกูลเดียวกันอย่างพายุงวงช้างที่ปกติไม่ค่อยมีพิษสงอะไร เริ่มมีกำลังรุนแรงขึ้น ซึ่งนักอุตุนิยมวิทยาทางทะเลอธิบายว่าเป็นเพราะ “โลคอลเชนจ์” การเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น ทั้งการก่อสร้าง เทปูน ลดพื้นที่ของดินและหญ้า เป็นเหตุให้อากาศร้อนยกตัวรุนแรงขึ้น

ในขณะที่เรามัวกังวลใจต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ “ไคลเมตเชนจ์” (Climate Change) ดร.วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล สำนักเฝ้าระวังและเตือนสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงใกล้ตัวที่จะส่งผลกระทบต่อเรามากกว่า ที่เรียกว่า “โลคอลเชนจ์” (Local Change) หรือการเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น อย่างเช่นไทยไม่มีพายุทอร์นาโด แต่ระยะหลังเริ่มมี "พายุงวงช้าง" ซึ่งเป็นพายุประเภทเดียวกันมากขึ้น

พายุงวงช้างเป็นพายุประเภทเดียวกับพายุทอร์นาโด แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า แต่การเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น ทำให้พายุงวงช้างมีความรุนแรงขึ้น ล่าสุดพายุงวงช้างได้ลากเรือชาวประมงใน จ.ระยอง ลงทะเล ซึ่งความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นนี้ ดร.วัฒนากล่าวว่า เพราะปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างมากขึ้น จากเดิมพื้นที่ปกคลุมด้วยพื้นดินและพื้นหญ้า ทำให้ความร้อนจากดินยกตัวขึ้นไม่รุนแรง แต่ปัจจุบันมีสิ่งก่อสร้างและการเทปูนทับลงไป ทำให้ความร้อนยกตัวรุนแรง พายุจึงรุนแรงขึ้น

สำหรับทอร์นาโดที่เกิดในสหรัฐฯ นั้น เป็นผลจากมวลอากาศเย็นพัดจากแคนาดามาปะทะความชื้นในเม็กซิโก แล้วเจอกับความร้อนสูง ระหว่างนั้นมีลมเฉือน (wind shear) หรือการเปลี่ยนแปลงความเร็วลมความสูงที่ทำให้เกิดลมหมุนตามแนว จึงทำให้อากาศยกตัวหมุนขึ้น

ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยระหว่างการเสวนา “การคำนวณเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและภาวะล่อแหลมของการแปรปรวนทางภูมิอากาศ” เมื่อวันที่ 21 เม.ย.54 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมฟังการเสวนาดังกล่าวด้วย
เวทีเสวนาการคำนวณเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและภาวะล่อแหลมของการแปรปรวนทางภูมิอากาศ (ซ้ายไปขวา) ดร.กิตติศักดิ์ ชยันตราคม จากภาควิชาคณิตศาสตร์ มหิดล ผู้ร่วมเสวนา , ดร.บริบูรณ์ นวประทีป ผู้ดำเนินการเสวนา และ ดร.วัฒนา กันบัว
กำลังโหลดความคิดเห็น