xs
xsm
sm
md
lg

ภัยภูเขาไฟ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภูเขาไฟในเอกวาดอร์
มนุษย์สนใจและสะพรึงกลัวภูเขาไฟมานานแล้ว จากการได้เห็นการระเบิดที่รุนแรง เห็นลาวาร้อนที่ไหลทำลายชีวิตและทรัพย์สินของคนจำนวนมาก มนุษย์โบราณจึงมีตำนานเกี่ยวกับสาเหตุการระเบิดของภูเขาไฟมากมาย เช่น คนกรีกโบราณเชื่อว่าอาณาจักร Atlantis ล่มสลายเพราะภูเขาไฟบนเกาะระเบิด และการที่ภูเขาไฟ Etna บนเกาะ Sicily พ่นไฟนั้นเพราะ Hephaistos เทพแห่งไฟ ผู้มีนิวาสสถานอยู่ใต้ภูเขาไฟ ประดิษฐ์อาวุธโดยการตีเหล็กจนไฟปะทุ คนโรมันโบราณเชื่อว่าเวลา Vulcan เทพเจ้าแห่งไฟ เขี่ยไฟในเตาเผาใต้ภูเขาไฟ ควันและไฟจะถูกพ่นออกมา ชนแอซเทกในเม็กซิโกและนิการากัวเชื่อว่าในภูเขาไฟทุกลูกมีเทพเจ้าสถิตอยู่ ดังนั้นจึงนิยมนำหญิงสาวสวยไปถวายให้เทพเจ้าภูเขาไฟโปรดปราน ส่วนชาวฮาวายเชื่อว่า ในภูเขาไฟ Kilauea มีเทพธิดาชื่อ Pelé ประทับอยู่ และเวลานางพิโรธ นางจะบันดาลให้ภูเขาไฟระเบิด พ่นลาวาไหลฆ่าคนที่พูดถึงนางในแง่ร้าย แต่ใครที่นับถือและสรรเสริญนาง ลาวาจะไหลเลี่ยงบ้านของเขา ชาวฮาวายบางคนเชื่อเทพธิดาภูเขาไฟ Pelé มาก จนถึงกับอ้างว่า ก่อนภูเขาไฟจะระเบิดเล็กน้อย เทพธิดา Pelé จะปรากฏตัวในร่างของหญิงชราทุกครั้งไป

ทุกวันนี้ มนุษย์มีความรู้และความเข้าใจภูเขาไฟดีขึ้นมาก เพราะนักวิทยาศาสตร์ใช้หลักการทางฟิสิกส์และเคมี ศึกษาภูเขาไฟอย่างละเอียด ต่อเนื่อง และใกล้ชิด แต่ภูเขาไฟมิได้ระเบิดบ่อย ดังนั้นการจะรู้ธรรมชาติของภูเขาไฟแต่ละลูกอย่างสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องศึกษาชีวิตของมันตั้งแต่ในอดีต จนกระทั่งถึงปัจจุบันและอนาคต

โลกมีภูเขาไฟนับ 1,300 ลูก โดยแยกเป็น 700 ลูกที่ดับแล้ว และอีก 600 ลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่มีภูเขาไฟใดมีชื่อเสียงมากเท่าภูเขาไฟเวซูเวียส (Vesuvius) ซึ่งเคยระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ปี 622 ดังที่ Pliny ผู้เยาว์ได้บันทึกไว้ว่า บริเวณโดยรอบภูเขาไฟลูกนี้เป็นป่าที่มีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น และก่อนภูเขาไฟจะระเบิด 7 ปี Spartacus กับเหล่า gladiator ได้เคยมาพักผ่อนในพื้นที่แถบนี้ ในคืนเกิดเหตุขณะที่กำลังยืนอยู่ที่ชายฝั่งของเมือง Misernum ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเนเปิลส์ที่มีภูเขาไฟเวซูเวียสเด่นเป็นสง่าอยู่เบื้องหลัง เขาได้เห็นกลุ่มควันหนาทึบปรากฏเหนือยอดเขา และทะเลควันได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้บริเวณนั้นมืดสลัว จากนั้นได้ยินเสียงภูเขาไฟระเบิดพ่นหินเหลวและเถ้าถ่านเป็นลำสูงขึ้นไปในท้องฟ้า ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ทะเลควันและทะเลลาวาได้ไหลพุ่งกลบบ้านและกำแพงเมือง ฆ่าผู้คนทั้งหมดในเมืองปอมเปอี (Pompeii) กับ Herculaneum ทั้งเป็น ถึงกระนั้นภูเขาไฟก็ยังพ่นเถ้าถ่านออกมาตลอดเวลา จนฝุ่นและหินภูเขาไฟถมทับหลังคาของทุกบ้านเรือนอย่างสมบูรณ์

ตลอดระยะเวลาร่วม 1,000 ปีที่นครปอมเปอีถูกลบหายไปจากแผนที่โลก ไม่มีใครรู้ว่าวินาทีสุดท้ายของชีวิตผู้คนในนครนี้เป็นเช่นไร จนกระทั่ง J. Alcubiere ได้ขุดพบซากปรักหักพังและศพของชาวเมืองเมื่อ 250 ปีก่อนนี้ การวิเคราะห์หลักฐานทำให้เรารู้ว่า ชาวเมืองตายเพราะอากาศเป็นพิษ และบางคนตายเพราะถูกฝุ่นภูเขาไฟที่หนักถึง 500 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถล่มทับจนขาดอากาศหายใจ

ส่วนการระเบิดของภูเขาไฟ Tambora ซึ่งสูง 4,300 เมตร และตั้งอยู่บนเกาะซุมบาวาที่อยู่ห่างจากเกาะชวาไปทางทิศตะวันออก 400 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 10 เมษายน ปี 2358 นั้น เป็นการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะผู้คนที่อยู่ไกลจากตำแหน่งระเบิด 1,600 กิโลเมตร สามารถได้ยินเสียงระเบิด พลังระเบิดทำให้ต้นไม้บริเวณภูเขาไฟล้มระเนระนาด และฝุ่นภูเขาไฟได้ลอยปกคลุมท้องฟ้าจนผู้คนไม่เห็นแสงอาทิตย์เป็นเวลา 3 วัน หลังจากการระเบิด คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้เข้าไปสำรวจพื้นที่และพบว่า ความสูงของยอดภูเขาไฟได้ลดลง 1,200 เมตร และภูเขาไฟมีปากปล่องที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวถึง 6 กิโลเมตร ลึก 1 กิโลเมตร อานุภาพการระเบิดนี้รุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณู 6 หมื่นลูก คนอินโดนีเซียนับหมื่นคนใน Bali, Lombok และซุมบาวาเสียชีวิต ในอังกฤษเองก็พบว่าฤดูร้อนปีนั้นมีฝนตกมากผิดปรกติ เป็นต้น

กรากะตัว (Krakatoa) เป็นภูเขาไฟตั้งอยู่บนเกาะกรากะตัวในช่องแคบซุนดาระหว่างเกาะชวากับสุมาตราของอินโดนีเซีย ซึ่งได้ระเบิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ปี 2426 แม้แต่ชาวออสเตรเลียที่อยู่ห่างไกลก็ยังได้ยินเสียงระเบิด W.J. Watson ผู้อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 15 กิโลเมตร ได้รายงานการเห็นลำฝุ่นพุ่งขึ้นสูง 70 กิโลเมตร และเห็นคลื่นสึนามิสูง 45 เมตร พุ่งเข้าถล่มเมืองบนเกาะต่างๆ จนราบพณาสูร การระเบิดครั้งนั้นได้ทำให้ผู้คน 35,500 ชีวิต ใน 165 หมู่บ้านล้มตาย นอกจากนี้กระแสคลื่นยังได้พัดพาแพจากเกาะกรากะตัวไปไกลถึงเกาะ Zanzibar ในแอฟริกาตะวันออกที่อยู่ห่างไกลออกไปถึง 4,800 กิโลเมตรด้วย

ในการอธิบายการเกิดภูเขาไฟ นักธรณีวิทยาอธิบายว่า เพราะเปลือกโลกมีสองส่วน คือส่วนที่เป็นพื้นทวีปกับส่วนที่อยู่ใต้มหาสมุทร เปลือกโลกหนาไม่สม่ำเสมอ เช่นหนาตั้งแต่ 8-40 กิโลเมตร บริเวณใต้เปลือกโลกคือส่วนที่เรียกว่าเปลือกโลกชั้นใน และลึกลงไปอีกคือส่วนที่เป็นแก่นโลก แม้องค์ประกอบหลักของเปลือกโลกชั้นในจะเป็นหิน แต่อุณหภูมิใต้โลกสูงมาก ดังนั้นหินแข็งจึงละลายเป็นหินเหลวที่หนืดและไหลช้า คล้ายน้ำเชื่อม ส่วนแก่นโลกมีอุณหภูมิสูงยิ่งขึ้นไปอีก ความร้อนจึงถูกส่งกระทำต่อเปลือกโลกชั้นในได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเตาที่ให้ความร้อนแก่น้ำ จะทำให้น้ำที่ก้นกาไหลวนพาความร้อนไปทั่วกา ด้วยกระบวนการเดียวกันนี้ เมื่อหินเหลวจากเปลือกชั้นในไหลผ่านรอยแยกของเปลือกโลก เราจะเห็นการระเบิดของภูเขาไฟที่พ่นหินเหลวร้อน (ลาวา) ก๊าซ ฝุ่น ดินและหินต่างๆ ออกมา ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าการระเบิดของภูเขาไฟมีบทบาทในการกำหนดลักษณะของภูมิประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศและวิถีชีวิตของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณภูเขาไฟ สถิติ ณ วันนี้แสดงให้เห็นว่าประชากรโลกราว 600 ล้านคนอาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟ เช่น ชาวเมืองเนเปิลส์อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟเวซูเวียสในอิตาลี

ส่วนภูเขาไฟ Rainier นั้นตั้งอยู่ใกล้เมือง Seattle-Tacoma ในสหรัฐอเมริกา และภูเขาไฟ Popocatepetl ตั้งอยู่ใกล้เมืองเม็กซิโกซิตีที่มีประชากรมากถึง 15 ล้านคน เป็นต้น

ในการจัดชนิดของภูเขาไฟ นักธรณีวิทยาแบ่งภูเขาไฟออกเป็นสามชนิด คือ ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นซึ่งเป็นพวกที่เคยระเบิดในช่วงเวลา 500 ปีที่ผ่านมา ส่วนพวกที่เคยระเบิดในช่วง 500-5,000 ปีก่อนนี้ ก็คือภูเขาไฟที่กำลังหลับ และถ้าการระเบิดครั้งสุดท้ายเกิดเมื่อกว่า 5,000 ปี ภูเขาไฟลูกนั้นก็ถือว่าดับแล้ว

ในการวิจัยภูเขาไฟ นักภูเขาไฟวิทยามุ่งหมายจะศึกษาหลายเรื่อง เช่น โครงสร้างเชิงธรณีวิทยา องค์ประกอบของลาวาที่ไหลจากปล่อง ชนิดของก๊าซที่ถูกปลดปล่อยจากปล่อง รวมถึงปรากฏการณ์แผ่นดินไหว โดยใช้วิธีวัดความเข้มสนามแม่เหล็ก สนามโน้มถ่วง และวิเคราะห์ลักษณะการไหลของลาวาซึ่งก็ได้พบว่า ลาวาภูเขาไฟมักมีหิน silica, feldspar, biotite, augite, hornblende, quartz, olivine และ nepheline ซึ่งอุณหภูมิของลาวานั้นก็สูงตั้งแต่ 900-1,300 องศาเซลเซียส ความหนืดในการไหลของลาวาขึ้นกับองค์ประกอบ อุณหภูมิ และปริมาณฟองอากาศที่ลาวามี เช่นถ้าลาวามีก๊าซมาก มันจะไหลได้เร็วและไกลด้วยอัตราความเร็วตั้งแต่ 1-10 เมตรต่อวินาทีและอาจไปไกลถึง 45 กิโลเมตร เวลาภูเขาไฟระเบิดก๊าซที่เล็ดลอดคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และไอน้ำ

ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในการทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของภูเขาไฟ เพื่อสามารถทำนายเวลาที่มันจะระเบิดครั้งต่อไป และความรุนแรงของการระเบิดครั้งนั้นๆ ได้ และก็พบว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรู้เวลาระเบิดของภูเขาไฟ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นเพื่อใช้ศึกษาภูเขาไฟ เช่น นำระบบ Global Positioning System (GPS) และ Envisat ซึ่งใช้เรดาร์วัดปริมาณการขยายตัวของผิวดินภูเขาไฟได้ละเอียดถึงระดับมิลลิเมตร เพราะเวลาภูเขาไฟจะระเบิด ขนาดภูเขาไฟจะเปลี่ยนแปลง หรือใช้อุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในบรรยากาศเหนือภูเขาไฟได้ เพราะก่อนภูเขาไฟจะระเบิดจะมีก๊าซชนิดนี้เล็ดลอดออกมามาก หรือใช้ดาวเทียม Landsat-7 และ Terra ที่มีอุปกรณ์ไวรังสีอินฟราเรดวัดอุณหภูมิบริเวณส่วนต่างๆ ของภูเขาไฟขณะใกล้ระเบิด เพราะความร้อนจะถูกปล่อยออกมามาก แต่ดาวเทียมก็มีข้อจำกัดที่ว่า มันโคจรเหนือภูเขาไฟลูกหนึ่งๆ ได้เพียงครั้งเดียวในทุก 15 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นานเกินไปสำหรับความละเอียดด้านเวลา

ตามปรกติ เวลานักวิทยาศาสตร์ศึกษาเหตุการณ์ภายในภูเขาไฟ เขามักวางอุปกรณ์สำรวจที่ผิวภูเขาไฟ เพื่อดักฟังเสียงคำรามและการสั่นสะเทือนเบื้องล่างทำนองเดียวกับที่แพทย์วางหูฟัง (stethoscope) ที่หน้าอกคนไข้เพื่อฟังเสียงเต้นของหัวใจ แต่ในฤดูร้อนของปี 2548 คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติกลุ่มหนึ่งได้ศึกษาภูเขาไฟลึกยิ่งกว่านั้น คือได้เจาะภูเขาไฟลงไปเพื่อดูสภาพการเคลื่อนที่ของหินเหลว โดยหวังว่าข้อมูลที่ได้จะช่วยให้รู้เวลาและความรุนแรงของการระเบิดครั้งต่อไปได้

ภูเขาไฟ Unzen ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมือง Shimabara บนเกาะคิวชูในญี่ปุ่น คือภูเขาไฟที่คณะนักวิทยาศาสตร์โดยการนำของ S. Nakata แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวเจาะ เพราะภูเขาไฟนี้เมื่อ 216 ปีก่อน เคยระเบิดทำให้ชาวบ้าน 15,000 คนเสียชีวิต ซึ่งนับว่ามากเป็นอันดับ 5 ของสถิติการสูญเสียชีวิตด้วยภัยภูเขาไฟระเบิดในญี่ปุ่น

ข้อมูลที่ได้แสดงว่า อุปกรณ์ที่ใช้เจาะภูเขาไฟต้องสามารถทนทานอุณหภูมิที่สูงถึง 600 องศาเซลเซียสได้ และอุปกรณ์ต้องมีระบบทำความเย็นช่วยระบายความร้อน ตลอดเวลา นอกจากนี้อุปกรณ์เจาะจะต้องมีกล้องถ่ายภาพ และเทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิของหินเหลวและดินแข็งด้วย Nakata คาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของหินเหลวขณะไหลขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้รู้เวลาที่ภูเขาไฟจะระเบิดและทิศการไหลของลาวาได้ ข้อสรุปที่ได้จะช่วยให้สามารถปกป้องชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนที่อาศัยในถิ่นภูเขาไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิธีนี้เป็นการศึกษาที่ระยะใกล้เพราะนักวิทยาศาสตร์ต้องสูดดมก๊าซภูเขาไฟตลอดเวลา ดังนั้นสุขภาพและชีวิตของนักสำรวจจึงเป็นเรื่องเสี่ยง แต่นั่นเป็นวิธีเดียวที่เขาจะได้ข้อมูลปฐมภูมิมาช่วยให้อพยพผู้คนได้ทันเวลา

ก๊าซที่เล็ดลอดเวลาหินเหลวไหลขึ้นตามปล่องภูเขาไฟก็น่าสนใจ เพราะมีการพบว่า เมื่อหินเหลวไหลถึงพื้นผิวโลกความดันภายในหินเหลวจะลด มีผลทำให้ก๊าซภายในหินเหลวถูกปล่อยออกมา โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายในหินเหลวได้ดีจะออกมาก่อน ส่วนก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งละลายได้น้อยกว่า จะออกมาภายหลัง ในการหาปริมาณของ CO2 กับ SO2 นั้น นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีวัดสมบัติการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด และอัลตราไวโอเลตของก๊าซทั้งสอง ดังนั้นถ้านักวิทยาศาสตร์เห็นปริมาณ SO2 เพิ่มขึ้นตลอดเวลา นั่นแสดงว่าหินเหลวกำลังไหลขึ้นและภูเขาไฟกำลังจะระเบิด

นอกจากภูเขาไฟจะฆ่าคนด้วยการระเบิดแล้ว มันยังพ่นควันพิษให้ผู้คนได้สูดดมจนสุขภาพเสียอีกด้วย P. Baxter แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ในประเทศอังกฤษ พบว่าการสูดดมควันอย่างต่อเนื่องจะทำให้เป็นโรคปอดและโรคหอบหืด โครงกระดูกของผู้เสียชีวิตที่ Herculaneum ทำให้ Baxter พบว่า ลาวาที่ฆ่าคนเหล่านี้มีอุณหภูมิสูงประมาณ 500 องศาเซลเซียส และผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตเพราะถูกเผาทั้งเป็น หาใช่เพราะขาดอากาศหายใจ ควันที่มีผลึก silica ทำให้เขารู้อีกว่าถ้าสูดดมผลึกชนิดนี้มากจะทำให้ปอดเป็นแผล (silicosis) และมะเร็งปอดในที่สุด

เวลาภูเขาไฟระเบิด มิเพียงแต่คนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้นที่จะเป็นอันตราย เมื่อภูเขาไฟ Redoubt ในอะแลสการะเบิดในปี 2532 ฝุ่นและเถ้าถ่านที่ลอยในอากาศได้ทำให้เครื่องยนต์เจ็ตของเครื่องบินโบอิง 747 ทั้งสี่เครื่องขัดข้อง จนเครื่องบินลดระดับเพดานบินลงอย่างกะทันหันถึง 3,000 เมตรใน 1 นาที โชคดีที่กัปตันมีสติ จึงสามารถเดินเครื่องได้อีกก่อนที่เครื่องบินจะตก อุบัติเหตุนี้ทำให้องค์การบินนานาชาติสนใจติดตามการระเบิดและทิศการลอยของฝุ่นภูเขาไฟ เพื่อรายงานให้ศูนย์ควบคุมการบินนานาชาติทราบ เครื่องบินจะบินได้อย่างปลอดภัย

ภัยภูเขาไฟเป็นภัยที่ต้องป้องกันด้วยทุนสูง ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่คนแอฟริกาไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้ ทั้งที่แอฟริกามีภูเขาไฟประมาณ 130 ลูก ทั้งนี้เพราะคนแถบนั้นยากจนและทุพภิกขภัยคือปัญหาชีวิตที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก ทุกปีจะมีคนอดอาหารตายประมาณ 3.5 ล้านคน ในขณะที่จำนวนคนที่เสียชีวิตเพราะภูเขาไฟระเบิดมีไม่ถึง 1,000 คน ดังเช่นเมื่อภูเขาไฟ Nyiragongo ในคองโกระเบิดเมื่อปี 2548 มีคนเสียชีวิต 150 คน แต่ในอีก 15 ปี เมื่อภูเขาไฟ Cameroon ระเบิด ผู้คน 4 แสนคนอาจล้มตายถ้าไม่ได้รับการเตือนล่วงหน้านานๆ

ส่วนในประเทศที่ร่ำรวยและพัฒนา เช่น อิตาลี ที่ภูเขาไฟเวซูเวียสมีหอสังเกตการณ์เตือนภัยชื่อ Vesuvius Observatory ทำหน้าที่เฝ้าดูตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ฮาวายก็มี Hawaiian Volcano Observatory (HVO) ทำหน้าที่สังเกตการณ์ภูเขาไฟ Kilauea ตลอดเวลาเช่นกัน หอสังเกตการณ์ (HVO) นี้ทันสมัยที่สุดในโลก เพราะมีคอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงภาพภายในของภูเขาไฟได้สามมิติ โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่มีชื่อว่า Geowarn ทำหน้าที่แสดงอุณหภูมิหินเหลว ปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ในส่วนต่างๆ ของภูเขาไฟ เพื่อให้เห็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดอยู่ภายในภูเขาไฟ และมีอุปกรณ์ tiltmeter สำหรับวัดการบิดเอียงของผิวภูเขาไฟ รวมทั้งมีการใช้ระบบ GPS และดาวเทียมเพื่อวัดการขยายตัวของภูเขาไฟที่ละเอียดถึงระดับ 1-2 มิลลิเมตร นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังใช้ spectrometer วัดปริมาณก๊าซ SO2 ที่เล็ดลอดออกมาทุกๆ 2 นาที และใช้ seismometer วัดรูปแบบของคลื่นแผ่นดินไหวขณะหินเหลวเคลื่อนที่ใต้ภูเขาไฟด้วย

เหล่านี้คือเทคโนโลยีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการศึกษาภูเขาไฟที่เป็นภัย เพื่อในอนาคตภูเขาไฟจะไม่สามารถฆ่าคนได้มากเท่าอดีต แต่เราก็ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่ภูเขาไฟระเบิดทำลายภูมิประเทศ เศรษฐกิจของพื้นที่นั้นไม่มีใครช่วยได้

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
ภูเขาไฟ Soufrière บนเกาะเซ็นต์วินเซ็นต์ ก่อนระเบิด
ลาวาร้อนที่ไหลออกจากภูเขาไฟ Kilauea บนเกาะฮาวาย
ภาพการระเบิดของภูเขาไฟ Krakatoa เมื่อปี 1883
สภาพบ้านเรือนในบริเวณที่ภูเขาไฟระเบิด
ฝุ่นภูเขาไฟกับสภาพต้นไม้บริเวณรอบภูเขาไฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น