คนเราหากพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่ายกายจะเกิดอาการล้าอ่อนเพลีย ระบบสั่งการของสมองมีปัญหา เมื่อทำกิจกรรม หรือปฏิบัติภารกิจต่างๆ จึงเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุตามมา ไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนน ง่วงแล้วฝืนขับจนหลับใน หรือในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องเสี่ยงกับเครื่องจักร จนพิการ และหลายต่อหลายคนต้องสังเวยชีวิตให้กับเรื่องพวกนี้อยู่เป็นจำนวนมาก
ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิจัยและพัฒนา “เครื่องวัดระดับการงีบหลับด้วยสัญญาณสมองแบบอัตโนมัติ” ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ของการช่วยลดอุบัติเหตุต่างๆ โดย นายเจษฎา อานิล หรือ “เจทด้า” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของภาควิชา หนึ่งในทีมวิจัยและพัฒนา อธิบายลักษณะของเครื่องว่า มีขั้ววัดสัญญาณอิเล็คโทรดเป็นสาย ทั้งหมด 3 เส้น นำสายนี้ไปติดที่ศรีษะ เพื่อวัดคลื่นสมองของมนุษย์
จากนั้นจึงนำสายทั้ง 3 มาเสียบเข้ากับกล่องประมวลผล เพื่อวิเคราะห์คลื่นสมอง และเครื่องนี้จะส่งสัญญาณไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่มีโปรแกรมวิเคราะห์การนอนหลับว่า อยู่ในระดับไหนแล้ว และเมื่อถึงระดับที่ 2 เครื่องก็จะส่งเสียงปลุกอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ที่ใช้งานตื่นขึ้นมา
“งงใช่ไหมว่าทำไมเมื่อถึงระดับ 2 เครื่องวัดระดับการงีบหลับฯ จะต้องมีเสียงปลุกด้วย?” เรื่องนี้ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนง่วงอย่าขับ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดี ผู้ที่นำเครื่องวัดระดับการงีบหลับฯ มาใช้ในการจัดการแข่งขัน "นั่งงีบหลับหลังอาหารกลางวัน" ตั้งคำถาม
"เพราะนาฬิกาชีวิตของคนเรามีอยู่ 5 ระยะ แบ่งเป็น ระยะที่ 1 ครึ่งหลับครึ่งตื่น ระยะที่ 2 หลับตื้น ระยะที่ 3-4 หลับลึก และระยะสุดท้ายเป็นช่วงฝัน ช่วงเวลานอนหลับจะหมุนเวียนเป็นวงรอบ โดยทุก 1 รอบมี 90 นาที ถ้าหากนอน 7-8 ชั่วโมง ก็จะหมุนเวียนประมาณ 5 รอบ" นพ.มนูญไขคำตอบ
“จากผลการวิจัย การงีบหลับเข้าสู่ระยะที่ 2 หรือช่วงหลับตื้น จะเป็นการงีบหลับที่เพียงพอ ได้ประโยชน์เต็มที่ กระปรี่กระเปร่า ไม่งง งัวเงียหรือไม่อยากนอนต่อ พร้อมที่จะเรียน ทำงาน หรือขับขี่ยานพาหนะได้ ซึ่งจะแตกต่างกับการนอนเข้าสู่ภาวะที่ 3-4 คือ หลับลึก ระยะนี้หากปลุกให้ตื่นขึ้น ก็จะรู้สึกมึน งัวเงีย และใช้เวลานานหลายนาทีกว่าจะกลับเข้าสู่สภาพปกติได้” นพ.มนูญ อธิบาย
ทั้งนี้ เมื่อถึงระยะ 2 ของการหลับ เครื่องวัดระดับ จึงมีเสียงปลุกอัติโนมัติ เพราะว่า เป็นระดับที่เพียงพอ ได้ประโยชน์เต็มที่ ซึ่งใช้เวลาไม่มากเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น
สำหรับการวิจัยและพัฒนาเครื่องวัดระดับการงีบหลับฯ นั้น นายเจษฎา บอกว่า ใช้เวลาทั้งหมด 6 เดือน โดยได้รับการสนันสนุนทุนวิจัย จากมหิดล สถาบันที่เขาศึกษาอยู่ ด้วยงบประมาณ 30,000 บาท
นายเจษฎา เสริมด้วยว่า เครื่องนี้ได้วิจัยและพัฒนามาจาก เครื่องตรวจวัดความผิดปกติทางการนอนต่างๆ อาทิ นอนกรน นอนหลับไม่พอ ซึ่งได้ไปศึกษาและดูตัวอย่างจากโรงพยาบาลพระราม 9 จากนั้นจึงดัดแปลงมาเป็นเครื่องตรวจคลื่นสมอง เป็นอุปกรณ์ที่วัดปริมาณการพักผ่อนของร่างกาย โดยวัดจากสัญญาณสมองขณะงีบหลับ
“เครื่องจะตรวจจับคลื่นสัญญาณสมอง ที่ประกอบด้วยคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน ในแต่ละความถี่จะบ่งบอกถึงระดับการนอนหลับในระยะต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ” นายเจษฎากล่าว
สำหรับประโยชน์ของเครื่องวัดระดับการงีบหลับฯ นั้น ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.มหิดล ที่ปรึกษาทีมวิจัยชุดนี้ อธิบายว่า เครื่องตรวจวัดที่ได้มาตรฐานตามโรงพยาบาลนั้น มีราคาถึงเครื่องละ 1,000,000 บาท แต่เครื่องที่ได้วิจัยและพัฒนามานั้นใช้งบเพียงไม่กี่หมื่นบาท ทั้งยังใช้งานง่ายไม่ต้องติดสายให้ยุ่งยาก และไม่ก่อความรำคาญให้ผู้ป่วยหรือประชาชนที่ต้องการมาตรวจวัด
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยหวังว่าจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงให้แก่ประชาชนมากขึ้น โดยในอนาคตจะพัฒนาเครื่องเป็นแบบไร้สาย ให้มีขนาดเล็กกระทัดรัด พกพาได้สะดวก และนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม หรือผู้ที่ขับขี่รถเป็นประจำ ซึ่ง ดร.ยศชนัน คาดว่าสิ้นปีนี้ จะได้นำไปใช้จริงอย่างแน่นอน โดยราคาน่าจะอยู่ที่ประมาณเครื่องละ 5,000-6,000 บาท แต่หากผลิตขึ้นมาในปริมาณที่มาก ราคาอาจจะถูกลงตามมาด้วย
เมื่อมี “เครื่องวัดระดับการงีบหลับฯ” ขึ้นมา ทางโครงการง่วงอย่าขับฯ จึงได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการแข่งขัน "นั่งงีบหลับหลังอาหารกลางวัน" ในช่วงเวลา 12.00-15.00 น. ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5-7 เม.ย.54 ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และได้นำเครื่อง “เครื่องวัดระดับการงีบหลับด้วยสัญญาณสมองแบบอัตโนมัติ” มาทดสอบใช้กับการแข่งขันนี้ด้วย
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงได้สำรวจบรรยากาศการแข่งขันในช่วงเที่ยงของวันที่ 6 เม.ย.54 ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 8 รอบ รอบละ 20 นาที ให้ผู้แข่งขันรอบละ 3 คนงีบหลับ ใครเข้าถึงระยะที่ 2 ได้เร็วที่สุดจะเป็นผู้ชนะ โดยใช้เครื่องดังกล่าว บ่งบอกถึงระดับการงีบหลับ และตรงตามมาตรฐานการนอนหลับในทางการแพทย์
"การงีบหลับให้ถึงระยะที่ 2 ของแต่ละบุคคลจะมีเวลาการหลับไม่เท่ากัน บางคนอาจจะใช้แค่ 10 นาที บางคนอาจจะ 15 นาที ต่างกันไป" นพ.มนูญ ให้ข้อมูล และยังบอกด้วยว่า การงีบหลับหลังอาหารกลางวัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมอง ช่วยในด้านความจำทำให้เรียนดีและฉลาดขึ้น เพิ่มความสามารถและลดความผิดพลาดในการทำงาน ยังจะช่วยลดอุบัติเหตุในระหว่างการทำงาน และขับขี่ยานพาหนะจากการง่วงหลับใน ช่วยในด้านอารมณ์ ลดความหงุดหงิด และคลายความเครียดได้
ทั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันทั้ง 3 วัน มีผู้เข้าร่วมงีบหลับกลางห้างทั้งหมด 40 คน ซึ่งได้ค่าเฉลี่ยของการงีบในระยะที่ 2 คือ 12 นาที โดยผู้เข้าแข่งขันที่งีบหลับอย่างรวดเร็วที่สุดใช้เวลาไป 7.5 นาที มากที่สุดคือ 20 นาที ซึ่ง ดร.ยศชนันอธิบายว่า เวลาของการงีบนั้น อยู่ที่ความง่วงของแต่ละบุคคลว่า จะมีมากน้อยแค่ไหน หากง่วงมากก็อาจจะใช้เวลาที่เร็ว แต่หากง่วงในนาทีที่ 10 การใช้เวลาที่จะถึงระยะ 2 ก็จะมากตามมาด้วย
อีกทั้ง ดร.ยศชนัน บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การจัดการแข่งขันครั้งนี้เพื่อเก็บตัวอย่างเวลาของแต่ละบุคคลในการงีบหลับระยะ 2 เพื่อนำเวลามาเฉลี่ยหาค่ามาตรฐาน จากนั้นจะนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ เพื่อเป็นประโยชน์และลดอุบัติเหตุได้
อย่างไรก็ตาม เดือนเมษายนนี้เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ และทุกปีมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่สูงมาก ดร.ยศชนัน บอกว่า เมื่อประชาชนรับทราบข้อมูลประโยชน์ของการงีบหลับแล้วนำไปปฏิบัติ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย.