xs
xsm
sm
md
lg

เยือนปายเมืองในสายหมอก เยี่ยม "หุบเขาแห่งไอที" ที่กำลังหยั่งราก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นอกจากปายจะเป็นสถานที่ท่ิองเที่ยวขึ้นชื่อแล้ว ยังเป็นดินแดนที่ได้รับการส่งเสริมด้านไอทีอย่างเต็มที่
ในขณะที่ 762 โค้งคืออุปสรรคที่ทำให้ “ปาย” เมืองแห่งสายน้ำเล็กๆ ของแม่ฮ่องสอนกลายเป็นดินแดนที่ถูกแยกจากโลกภายนอก แต่อีกนัยหนึ่งได้กลายเป็นจุดแข็งให้เมืองสามหมอกได้เสริมความแกร่งทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และประกาศตัวเป็น “ไอทีวัลเลย์” ของเมืองไทย

แม้กระแสท่องเที่ยวปายจะแผ่วลง และมีเสียงบ่นพึมพำถึงการเปลี่ยนแปลงที่ไม่น่ารัก แต่เมืองเล็กๆ ของแม่ฮ่องสอนแห่งนี้ยังคงมีเสน่ห์ดึงดูดให้หลายคนไปเยือน หลายคนมีเป้าหมายเพื่อไปสัมผัสสายลมหนาว ชื่นชมทะเลหมอก ปล่อยใจไปกับสายแม่น้ำปาย หากแต่เป้าหมายของ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์นั้นแตกต่างออกไป เพราะการเดินทางของเรานั้นมีเป้าเพื่อเยือนดินแดน “ไอทีวัลเลย์”

ด้วยประชากรแม่ฮ่องสอนถึง 65% มีรายได้เฉลี่ยแค่เดือนละ 1,443 บาท จึงมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยสร้างโอกาสให้แก่คนในท้องที่แห่งนี้ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นอีกหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือเมืองเล็กๆ แห่งนี้ โดยขนเทคโนโลยีสารสนเทศมาเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ประชากร ในดินแดนที่ชื่อว่ายากจนที่สุดในประเทศ

“ถ้าเราเข้ามาคงไม่ใช่แค่ให้คนที่นี่เป็นเพียงยูสเซอร์” เป็นการแสดงเป้าหมายที่ชัดเจนของเนคเทค ซึ่งยื่นมือเข้ามาช่วยพัฒนาความสามารถทางด้านไอทีให้แก่ชาวแม่ฮ่องสอน ที่ ดร.กว้าน สีตะธานี รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวกับคณะสื่อมวลชนที่เดินทางไปกับโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์สัญจรของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ช่วงปลายเดือน ม.ค.54 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ เนคเทคได้ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สร้างแม่ฮ่องสอนให้เป็นเมืองไอทีมาตั้งแต่ปี 2540 โดยการจัด “งานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับวิถีชีวิตเมืองสามหมอก” ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร และงานนี้ได้มีความร่วมมือกับโรงเรียนมัธยมในแม่ฮ่องสอนเช่นเดียวกัน

ในปี 2548 เนคเทคได้กลับไปเยือนแม่ฮ่องสอนอีกครั้ง พร้อมกับการต่อยอดการพัฒนาด้านไอทีในโครงการ “แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเลย์” ซึ่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมไปเมื่อปี 2550 โดยความร่วมมือกับโรงเรียนมัธยมในแม่ฮ่องสอน 12 แห่ง แต่จากการดำเนินงานซึ่งอาศัยความพร้อมของโรงเรียนเป็นสำคัญ ปัจจุบันจึงเหลือโรงเรียนในโครงการอยู่ 8 แห่ง

ความแตกต่างที่เนคเทคนำมาให้ ไม่ใช่เพียงการสอนใช้โปรแกรมสำเร็จรูป หากแต่เป็นการสร้างหลักสูตรให้แก่นักเรียน ม.ปลาย ในโรงเรียนของแม่ฮ่องสอน 12 โรงเรียน นักเรียน ม.4 มีโอกาสได้เรียนภาษาซีซึ่งเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ยากๆ ที่มีสอนกันในระดับมหาวิทยาลัย และภายหลังได้เพิ่มการเรียนการสอนด้านกราฟิกและตกแต่งภาพ จนนักเรียนบางคนสามารถรับงานสร้างรายได้ให้แก่ตัวเอง

ในขณะที่โรงเรียนทั่วไป แบ่งสายการเรียนเป็นวิทย์-คณิต และสายศิลป์ แต่โรงเรียนในโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเลย์ยังมีสายวิทยาศาสตร์-คอมพิวเตอร์ ซึ่งการเรียนการสอนอยู่ในระดับน้องๆ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางด้านคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ และเมื่อเพื่อนๆ เลิกเรียนตามเวลาปกติ นักเรียนในหลักสูตรจะต้องเรียนเพิ่มเติมอีกวันละ 2 ชั่วโมง การเปิดสอนรุ่นแรกมีนักเรียนในหลักสูตรนี้โรงเรียนละ 10 คน ปัจจุบันมีนักเรียนในหลักสูตรประมาณ 100 คน 

ดร.กว้าน กล่าวถึงความใฝ่ฝันในการดำเนินโครงการนี้ว่า อยากนักเรียนในโครงการมีความรู้ในระดับเป็นนักพัฒนาไอที อยากให้นักเรียนในโครงการเรียน เติบโตและทำงานในแม่ฮ่องสอน หากแต่ติดปัญหาที่จังหวัดแห่งนี้ไม่มีมหาวิทยาลัย นักเรียนจึงต้องออกไปขวนขวายความรู้นอกถิ่น ซึ่งรองผู้อำนวยการเนคเทคหวั่นกำลังคนที่พัฒนาขึ้นมานั้นจะไปกระจุกตัวอยู่ในเมือง ผิดกับความตั้งใจที่ต้องการให้คนเหล่านั้นอยู่ในถิ่นฐานและพัฒนาบ้านเกิดด้วยความรู้ทางด้านไอที

อย่างไรก็ดี แม้ไม่สามารถเปิดมหาวิทยาลัยในแม่ฮ่องสอนได้ง่ายๆ แต่ก็มีความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่จะเปิดห้องเรียนพิเศษ 1 ห้องสำหรับนักเรียนในโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเลย์นี้ ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาการสูญเสียกำลังคนด้านไอทีของแม่ฮ่องสอนได้

ในจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด โรงเรียนปายวิทยาคารเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ ดร.กว้านเผยว่าพอใจการทำงานมาก โดยเฉพาะความทุ่มเทของ พรเทพ ศุภราภรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่สนับสนุนการดำเนินงานของโครงการอย่างเต็มที่ โดยต้องการให้นักเรียนมีอัตตลักษณ์พิเศษ และเน้นทางด้านไอที  อยากสร้างให้ปายเป็นเหมือน “ซิลิกอนวัลเลย์” เพราะอากาศเย็นสบายรายล้อมไปด้วยต้นไม้และภูเขาน่าจะช่วยสร้างนักไอทีขึ้นมาในท้องถิ่นได้

“เมื่อ 10 ปีก่อนอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะหลายคนมองว่าเทคโนโลยีนั้นแพง และการคมนาคมที่ยากลำบากก็ยังเป็นอุปสรรคในการศึกษา แล้วอะไรที่จะช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาของเราได้? เราคิดว่าไอทีน่าจะช่วยเราได้ และเราได้พัฒนามา 4-5 ปี สิ่งที่เราผลิตมานั้นเริ่มจะเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว” ผู้อำนวยการปายวิทยาคารกล่าว

ผลจากความทุ่มเท นักเรียนปายวิทยาคารในหลักสูตรพิเศษที่มีอยู่ทั้งหมด 9 คน สอบเข้าระบบรับตรงของมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาต่อทางด้านคอมพิวเตอร์ได้ 3 คน ซึ่ง พุทธวรรธ์ ศุภราภรณ์ นักเรียนชั้น ม.6 เป็นหนึ่งในนักเรียนของหลักสูตร ที่สอบเข้าภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

พุทธวรรธ์ใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์วันละ 2-3 ชั่วโมง และเริ่มเรียนคอมพิวเตอร์ครั้งแรกตอน ม.4 ตอนนี้เขาสามารถเขียนโปรแกรมคำนวณด้วยภาษาซีได้ และยังเขียนภาษาจาวา (JAVA) และ พีเอชพี (PHP) ได้ นอกจากนี้หลังเลิกเรียนเขายังหาความรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมโดยการแลกเปลี่ยนของโปรแกรมเมอร์อาชีพผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งอนาคตเขาตั้งใจที่จะเป็นโปรแกรมเมอร์

สิ่งหนึ่งที่ช่วยเสริมฐานให้แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองหุบเขาแห่งไอทีได้มากคือการติดตั้งระบบไวแมกซ์ (WiMAX) ซึ่งเป็นระบบสื่อสารที่สามารถส่งสัญญาณได้ไกล 8 กิโลเมตร โดยมีสถานีฐานติดตั้ง ณ 3 อำเภอของแม่ฮ่องสอนคือ อ.ปาย อ.แม่สะเรียง และ อ.เมือง ทำให้หน่วยงานราชการ โรงเรียนและองค์กรบริหารท้องถิ่น 45 หน่วยงานในอำเภอเหล่านี้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้

ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ หัวหน้าโครงการไวแมกซ์แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเลย์ เนคเทค บอกว่าเทคโนโลยีหลักๆ ของโครงการนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจกา (JICA) โดยสถานีฐานจะส่งสัญญาณด้วยคลื่นความถี่ 2.3 GHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตจากกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้ใช้ได้เฉพาะโครงการนี้เป็นเวลา 3 ปี

หนึ่งในสถานีฐานนั้น ตั้งอยู่บนดอยพระธาตุแม่เย็น ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของปาย ทีมข่าววิทยาศาสตร์มีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานีฐานแห่งนี้ ซึ่งนอกจากอุปกรณ์ในการส่งสัญญาณแล้ว ยังมีสถานีตรวจวัดอากาศ ที่เก็บข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน ความเร็ว เพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อว่าสภาพอากาศนั้นมีผลต่อการส่งสัญญาณอย่างไรบ้าง

โครงการไวแมกซ์เพิ่งเริ่มให้บริการใช้ความถี่ได้เมื่อกลางปี 2552 และหลังจากครบสัญญาให้อนุญาตใช้ความถี่ย่านนี้ในปี 2555 แล้ว ดร.กิตติ กล่าวว่า อาจมีการต่อสัญญาเป็นรายปีกับ กทช.หรือแล้วแต่เงื่อนไขในอนาคต แต่สิ่งที่ทีมวิจัยในโครงการพยายามทำคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คนในท้องถิ่น เพื่อรับช่วงต่อในการดูแลระบบต่อไป โดยโอนโครงการให้จังหวัดเป็นผู้ดูแลต่อไป

สัญญาณจากสถานีฐานมูลค่านับ 100 ล้านที่ญี่ปุ่นมาลงทุนให้ไทยเพื่อร่วมศึกษาความเป็นไปได้นี้ จะถูกส่งไปยังจุดรับสัญญาณ 45 จุดของหน่วยงานในโครงการ และสัญญาณจะถูกแปลงเป็นสัญญาณไว-ไฟ (Wifi) ที่มีความเร็ว 10 เมกะไบท์ (MB) และส่งสัญญาณได้ไกล 2 กิโลเมตร หรืออาจใช้อุปกรณ์คล้ายกับแอร์การ์ดรับสัญญาณไวแมกซ์โดยตรงก็ได้

นอกจากนักเรียนจะได้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายชนิดที่นักเรียนในกรุงต้องมองด้วยความอิจฉาและใช้เพื่อการศึกษาแบบ อีเลิร์นนิงแล้ว เจ้าหน้าที่ภาครัฐยังใช้เพื่อการประชุมทางไกล (Video Conference) ได้โดยไม่ต้องเดินทางไกลผ่านเส้นทางแสนทรหดกว่า 700 โค้ง และอนาคต ดร.กิตติคาดว่าจะมีการใช้ประโยชน์ในอีกหลายด้านเพิ่มมากขึ้น
เหตุผลที่ทีมวิจัยเนคเทค เลือกแม่ฮ่องสอนเป็นสถานที่ทดสอบระบบไวแมกซ์นั้น ดร.กิตติ อธิบายว่า เพราะจังหวัดแห่งนี้ มีความเป็นที่สุดที่เหมาะแก่การทดสอบระบบ ไม่ว่าสภาพอากาศที่ทารุณเมื่อถึงหน้าร้อนอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นไปได้ถึง 40-50 องศาเซลเซียส การมีปัญหาเรื่องหมอกควัน มีภูมิประเทศเป็นหุบเขา และยังเป็นพื้นที่เข้าถึงยาก ซึ่งระบบไอทีจะช่วยลดจุดอ่อนข้อหลังไปได้

ตอนนี้นอกจากความพยายามถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คนในท้องถิ่นแล้ว สิ่งที่นักวิจัยต้องทำคือการดูแลระบบ ซึ่งพวกเขาต้องเดือนไปเยือนแม่ฮ่องสอนแทบทุกเดือน และที่ผ่านมาได้พบปัญหาว่า ระบบสำรองไฟนั้น ไม่สามารถรองรับปัญหาไฟดับและไฟตก ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยระบบเดิมนั้น ออกแบมาเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าวเพียงแค่ครึ่งชั่วโมงถึงชั่วโมง หากแต่ปัญหาในพื้นที่หนักกว่านั้นคือไฟดับติดต่อกันนานหลายชั่วโมง ล่าสุดทีมวิจัยได้ติดตั้งระบบสำรองไฟใหม่ที่รับมือกับปัญหาดังกล่าวได้แล้ว

หากถามว่าแม่ฮ่องสอนเหมาะที่จะเป็นดินแดนไอทีมากแค่ไหน จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ ผู้ประกอบการธุรกิจไอทีน่าจะตอบคำถามนี้ได้ระดับหนึ่ง จากเจ้าของธุรกิจไอทีในเมืองหลวงผู้มีดีกรีมาไกลจากสหรัฐฯ แต่ตกหลุมรักเมืองปาย จึงตัดสินใจขายสำนักงานในกรุงเทพฯ แล้วไปใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางหุบเขา ส่วนลูกน้องใน บริษัท ให้ทำงานที่บ้านและสื่อสารผ่านเอ็มเอสเอ็น สไกป์ และโปรแกรมสื่อสารอื่นๆ ทางอินเทอร์เน็ต

จักรกฤษณ์ หรือ “ครูเม่น” ของนักเรียนและเป็นผู้สอนให้เด็กๆ ได้รู้จักใช้ประโยชน์โปรแกรมฟรีเพื่อใช้งาน กราฟิก ตัดต่อวิดีโอและออกแบบเว็บไซต์ มองเห็นแนวโน้มของการทำงานไอที ที่ผู้ทำงานจะอยู่ไหนของโลกก็ได้ ขอเพียงเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และตัวเขาเองก็ได้รู้จักกับชาวต่างชาติที่มาตั้งรกรากที่ปายเช่นเดียวกับเขา และสร้างแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟนขายในตลาดแอปสโตร์ของแอปเปิล ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้จะมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี ในมุมของผู้สนับสนุน ดร.กว้านมองว่า ชาวแม่ฮ่องสอนยังต้องพัฒนาตัวเองอีกมาก เพราะความสามารถในการเขียนซอฟต์แวร์เมื่อเทียบกับคนภายนอกแล้วยังน้อยอยู่ และโดยส่วนตัวแล้วคาดหวังกับโครงการนี้ไว้มาก อย่างไรก็ดีความสามารถด้านไอทีของนักเรียนและชาวแม่ฮ่องสอนก็เพิ่มขึ้นมามาก จากที่อยู่ในระดับเป็นศูนย์แต่มาถึงระดับที่สร้างงานกราฟิกได้นั้นก็น่าพอใจมาก แต่อยากให้พัฒนางานด้านเขียนโปรแกรมมากขึ้นไปอีก

การเติบโตของไอทีกลางหุบเขาเพิ่งจะเริ่มขึ้น อาจยังไม่มีดอกผลให้ชื่นชมในเร็ววัน แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจมีนักไอทีชั้นแนวหน้าของประเทศจากดินแดนแห่งนี้ และปายอาจไม่เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวที่หลายคนปรารถนาจะไปให้ถึง หากแต่อาจเป็น “ยูโทปาย” ของเหล่านักไอทีจากทั่วโลกก็เป็นได้ ขอเพียงทุกส่วนตั้งใจจริง

สถานีฐานส่งสัญญาณไวแมกซ์
ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์
อุปกรณ์รับสัญญาณไวแมกซ์
ห้องเรียน e-learning ของปายวิทยาคาร
ดร.กว้าน สีตะธานี
พรเทพ ศุภราภรณ์
จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ หรือ ครูเม่น
 พุทธวรรธ์ ศุภราภรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น