2 นักวิชาการไทยจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติและ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบหญ้าชนิดใหม่ของโลก พร้อมตั้งชื่อว่า “หญ้าเกาะกูด” เพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่ที่พบ ณ น้ำตกคลองเจ้า เกาะกูด จังหวัดตราด
จดหมายข่าวจากองค์การพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) แจ้งถึงการค้นพบหญ้าสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นผลงานการระบุของ ดร. อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ นักวิชาการ 5 กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ร่วมกับ ดร. สราวุธ สังข์แก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ
หญ้าเกาะกูดนี้ พบและเก็บตัวอย่างครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 จากน้ำตกคลองเจ้า เกาะกูด จังหวัดตราด โดยนายจรัล ฉ. เจริญผล นักวิชาการประจำกรมป่าไม้
ในขณะนั้นการตรวจสอบโดยเบื้องต้นพบว่า หญ้าดังกล่าวมีลักษณะคล้ายหญ้าชนิดหนึ่งที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arundinella metzii Hochst. ex Miq. กระทั่งต่อมาเมื่อ ดร. อัจฉราฯ และ ดร. สราวุธฯ ได้ศึกษาและตรวจสอบตัวอย่างหญ้าดังกล่าวอย่างละเอียดและพบว่าหญ้าดังกล่าวไม่ใช่หญ้าที่ชื่อว่า A. metzii แต่พบว่าเป็นหญ้าชนิดใหม่ของโลก
ทั้งนี้ หญ้าเกาะกูดมีลักษณะเด่นคือ เป็นหญ้าที่มีเกสรเพศผู้ 2 อัน และที่ปลายกาบล่างมีหางซึ่งค่อนข้างยาว ลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะที่ไม่เคยพบมาก่อน และมีความแตกต่างจากสมาชิกอื่นในกลุ่มสกุล Arundinella อย่างมาก ดังนั้นทั้งสองจึงได้ตั้งชื่อหญ้าดังกล่าวว่า “หญ้าเกาะกูด” (Arundinella kokutensis Teerawat. & Sungkaew) เพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่ที่พบ และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ชื่อวิทยาศาสตร์ของหญ้าเกาะกูดในวารสารทางวิชาการด้านอนุกรมวิธานพืช Kew Bulletin ในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2009)
หญ้าเกาะกูด เป็นหญ้าล้มลุกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 40 เซนติเมตร ลำต้นเรียวเล็กและอวบน้ำ พบขึ้นเป็นกลุ่มอยู่เฉพาะบริเวณน้ำตกและตามซอกหินหรือกลุ่มหินใกล้น้ำตก นักวิชาการทั้งสองยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า หญ้าชนิดนี้คาดว่าน่าจะเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย เพราะจนถึงปัจจุบันสำรวจพบหญ้าชนิดนี้ขึ้นเจริญเติบโตเฉพาะที่เกาะกูดเท่านั้น และน่าเป็นห่วงว่าอาจจะสูญพันธุ์เนื่องจากพบขึ้นเจริญอยู่เพียงบริเวณเดียวในสถานที่ที่จำเพาะและเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง.