เปิดรายงานสิ่งแวดล้อมปี 53 ชี้พื้นที่ป่าไม่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี นับเป็นข่าวดี แม้พื้นที่ป่าจะเพิ่มขึ้นแค่ 0.1% ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าถึง 40% ของพื้นที่ประเทศ ขณะเดียวกันการสูญเสียพื้นที่ป่ายังคงเป็นปัญหาที่กระทบเป็นลูกโซ่ต่อปัญหาอื่น ทั้งดินเค็ม น้ำโขงแห้งขอด
นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนับแต่เริ่มปีงบประมาณ 2553 และเป็นภารกิจที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ต้องจัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ทั้งนี้ ในส่วนของทรัพยากรป่าไม้ซึ่งจัดให้เป็นสิ่งแวดล้อมบนบกนั้น พบว่ายังคงถูกบุกรุก ลักลอบตัดไม้และถูกทำลายโดยไฟป่าอย่างต่อเนื่องทุกปี และข้อมูลล่าสุดชี้ว่าเป็นครั้งแรกที่ไทยไม่สูญเสียพื้นที่ป่าเลยในปี พ.ศ.2553 โดยมีพื้นที่ป่าทั้งหมด 107,615,181 ไร่ หรือคิดเป็น 33.56% ของพื้นที่ประเทศ และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 64,826,658 ไร่ หรือคิดเป็น 20.22% ของพื้นที่ประเทศ
“ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เราไม่สูญเสียป่าไม้ เมื่อ 40-50 ปีก่อนเราสูญเสียพื้นที่ป่าปีละ 3 ล้านไร่ ผ่านไปการสูญเสียพื้นที่ป่าเหลือประมาณปีละล้านไร่ และ 4-5 ปีที่ผ่านมาเราสูญเสียพื้นที่ในหลักแสนไร่ แต่ปีนี้เปอร์เซ็นต์ป่าไม้เพิ่มขึ้น 0.1% ของพื้นที่ประเทศ คิดเป็น 3-4 แสนไร่ ไม่มาก แต่การที่ป่าไม่ลดอีกแล้วนี้เป็นนิมิตหมายอันดี ป่าไม้ในอดีตลดลงตลอด ซึ่งเราตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ถึง 40% ของพื้นที่ประเทศ” นายอดิศร์กล่าว
อย่างไรก็ดี จากรายงานสิ่งแวดล้อมที่นำเสนอนั้นเรายังพบปัญหาอีกมาก อาทิ ทรัพยากรดินที่ยังคงประสบปัญหาเสื่อมโทรมและขาดการกระจายการถือครองที่ดิน และพบพื้นที่เสื่อมโทรมเป็น 11.24% ของพื้นที่ประเทศ ปริมาณขยะที่ทั่วประเทศมีมากถึงปีละ 15.1 ล้านตัน แต่จัดการตามหลักสุขาภิบาลได้แค่ 5.97 ล้านตันหรือเพียง 40% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือคุณภาพน้ำผิวดินที่มีปัญหาเสื่อมโทรมมากขึ้นคิดเป็น 32% ของแหล่งน้ำผิวดินทั่วประเทศ ซึ่งมีสาเหตุจากภาคอุตสาหกรรม ชุมชนและภาคเกษตรกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ นายอดิศร์ยังชี้ข้อมูลปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวโยงกับการสูญเสียพื้นที่ป่า เช่น การแห้งขอดของแม่น้ำโขงเมื่อต้นปี 2553 ซึ่งไม่เพียงแค่การสร้างเขื่อนในจีนที่หลายคนมองว่าเป็นต้นเหตุของการแห้งขอดดังกล่าว แต่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นยีงระบุว่า การใช้น้ำบริเวณต้นแม่น้ำโขงเพื่อการเกษตรมากขึ้นและพื้นที่ป่าซึ่งจะช่วยชะลอการไหลของน้ำที่ลดลงก็เป็นอีก 1 ปัจจัยด้วย หรือพื้นที่ดินเค็มในภาคอีสานที่กระจายตัวมากขึ้นนั้นเกิดจากน้ำท่วมและสาเหตุของน้ำท่วมก็เนื่องจากขาดพื้นที่ป่า เป็นต้น
สำหรับรายงานดังกล่าวเป็นร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งมีการระดมความเห็นจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้องภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.54 ณ โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส โดย นางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่า หลังระดมความคิดเห็นทางคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อแจกจ่ายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำไปปฏิบัติในเชิงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป