สาวๆ ที่รักสวยรักงามอาจรู้จัก "โบทอกซ์" เป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่าสารที่ใช้ฉีดเพื่อลบรอยตีนกาและเพิ่มความเต่งตึงให้ใบหน้า เป็นสารชนิดเดียวกับสารพิษ "โบทูลินัม" มักพบในหน่อไม้ปี๊บ และปัจจุบันยังมีการนำมาใช้เพื่อการรักษาอาการผิดปกติของโรคนานาชนิด
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ข้อมูลว่า พิษหน่อไม้ปี๊บเคยเป็นข่าวเกรียวกราวในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อหลายปีก่อน หลังจากที่มีผู้ป่วยร่วม 200 ราย ถูกหามส่งโรงพยาบาลในจังหวัดน่านเป็นเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากบริโภคหน่อไม้ปี๊บไปยังไม่ทันข้ามคืน โดยผู้ป่วยทุกรายมีอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว หนังตาตก หายใจติดขัด กลืนลำบาก และแขนขาอ่อนแรง
อาการดังกล่าวเป็นอาการของโรคโบทูลิซึม (Botulism) เกิดจากสารพิษโบทูลินัม (Botulinum toxin) ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทบริเวณส่วนปลายเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ แม้มีปริมาณเพียงไม่ถึง 1 ไมโครกรัม และมีอันตรายถึงชีวิตภายใน 18-36 ชั่วโมง สารพิษนี้ถูกสร้างขึ้นโดยแบคทีเรียชนิด คลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ไม่มีออกซิเจน มักพบอยู่ในหน่อไม้ปี๊บที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน และมีการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ คลอสทริเดียม โบทูลินัม ที่ทนต่ออุณหภูมิสูง 100 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที เมื่ออยู่ในปี๊บที่มีภาวะเหมาะสม สปอร์เหล่านั้นก็จะเจริญเติบโตและสร้างสารพิษออกมาปะปนอยู่ในหน่อไม้ปี๊บ
"มีรายงานพบสารพิษโบทูลินัมครั้งแรก ปนเปื้อนในอยู่ในไส้กรอกโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันเมื่อประมาณ 90 ปีที่แล้ว ซึ่งได้ระบุไว้ท้ายรายงานด้วยว่าสารพิษนี้น่าจะใช้รักษาโรคได้ โดยนายแพทย์อลัน สก็อต (Dr. Alan Scott) จากสถาบันวิจัยสมิธ-เคทเทิลเวล (Smith-Kettlewell Eye Research Institute) ได้นำสารพิษโบทูลินัมมาทดลองใช้รักษาโรคตาแหล่ในลิงเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2514 และได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ให้ใช้รักษาในคนได้ใน 2532 และมีการนำมาใช้รักษาโรคอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน" ศ.นพ.สุทธิพันธ์ เผย
สำหรับประเทศไทย เริ่มนำสารโบทูลินัมมาใช้รักษาโรคตั้งแต่เมื่อปี 2532 โดย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ เป็นคนแรกๆ ที่นำมาใช้รักษาโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก ซึ่งไม่มียารักษานอกจากการผ่าตัด พบว่า 90% ของคนไข้ มีอาการดีขึ้นมากถึง 80% แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยโบทูลินัมเป็นการรักษาอาการเท่านั้น ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้
ด้าน รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า นายกสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โบทูลินัมยังสามารถใช้รักษาอาการของโรคได้หลากหลาย ครอบคลุมทั้งโรคทางระบบประสาท โรคทางตา โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคระบบทางเดินอาหารและการขับถ่าย
เช่น โรคตากระปริบ, ปากและตากระตุกภายหลังเส้นประสาทอักเสบ, ใบหูกระดิก, สายเสียง หรือหลอดอาหารหดตัว, มือเกร็งจากการเขียนหนังสือ, คอเอียง, ลำตัวเกร็งและบิดเบี้ยว, ภาวะตาเหล่, โรคริดสีดวงทวาร, ภาวะท้องผูกเรื้อรัง, ภาวะกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานมากผิดปกติจนทำให้ปัสสาวะบ่อย, ภาวะปวดศีรษะไมเกรน, ภาวะเหงื่อออกหรือน้ำลายออกมากผิดปกติ และโรคสันนิบาต เป็นต้น รวมทั้งการใช้ฉีดส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อเสริมความงาม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อทางการค้าว่า โบทอกซ์
อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการต่างๆ ด้วยโบทูลินัมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หากใช้ยาเกินขนาดหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อผิดตำแหน่ง ฉะนั้นต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนผลเสียระยะยาวต่อตับหรือไต ยังไม่เคยมีรายงาน และขณะนี้ทีมแพทย์ด้านประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังเก็บข้อมูลคนไข้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ในช่วงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อศึกษาว่าการรักษาด้วยสารดังกล่าวจะส่งผลข้างเคียงในระยะยาวหรือไม่ อย่างไร
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ เตือนว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาขายยาโบทูลินัมผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน บางยี่ห้อมีตัวยาเกินขนาดที่ระบุไว้หลายพันเท่า หากนำไปใช้อาจได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ จึงไม่ควรซื้อยาโบทูลินัมจากอินเทอร์เน็ตมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
สำหรับผู้ที่ต้องการบริโภคหน่อไม้ปี๊บ ควรเลือกซื้อหน่อไม้ปี๊บที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งกำหนดให้ผลิตหน่อไม้ปี๊บโดยการเติมกรดและปรับให้มีค่าพีเอชต่ำกว่า 4.5 ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อคลอสทริเดียม โบทูลินัมได้ และปลอดภัยต่อการนำมาบริโภค
"ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหน่อไม้ปี๊บ และบริโภคหน่อไม้สดจะดีกว่า แต่หากต้องบริโภคหน่อไม้ปี๊บโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่รู้แหล่งที่มา ควรนำไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 30 นาที ซึ่งสามารถทำลายสารพิษโบทูลินัมได้" ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าวแนะนำในระหว่างการบรรยายเรื่อง "หน่อไม้ปี๊บ...พิษอนันต์ ประโยชน์มหันต์" ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2553 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมฟังด้วย