เวียนมาถึงอีกครั้งสำหรับ "สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" ที่คนรักหนังสือเตรียมพร้อมไปเลือกสรรหนังสือที่หมายตา หนังสือออกใหม่ หนังสือเก่าหายาก ซึ่งพาเหรดกันมาลดราคากันในงานนี้ และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คนรักวิทยาศาสตร์ จะออกไปค้นหา "หนังสือวิทย์" (ที่ไม่ใช่ตำราเรียน) อันน่าอ่านเช่นกัน
แม้จะเปิดให้ "หนอนหนังสือ" ได้เลือกซื้อเลือกหาหนังสือที่ถูกใจเพียง 3 ชั่วโมง ในวันแรกของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 38 ซึ่งจัดควบคู่กับงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.- 6 เม.ย.53 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ก็มีผู้คนไปงานกันล้นหลาม เรียกได้ว่า "น้องๆ" มหกรรม "ลดปิดปรับปรุงห้าง" ที่แยกลาดพร้าวกันเลยทีเดียว
โอกาสนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์จึงได้ไปสำรวจหาหนังสือวิทยาศาสตร์น่าอ่านมาฝากกัน เริ่มต้นที่บูธมติชน ซึ่งมักจะขนหนังสืออ่านเล่นแนววิทยาศาสตร์มาเปิดตัวในงานหนังสืออยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับครั้งนี้ ไม่มีหนังสือออกใหม่มาเรียกความสนใจแฟนๆ นอกจากหนังสือเก่า 12 เล่มที่เคยเปิดตัวไปก่อนหน้านี้
ถึงแม้ว่าเป็นหนังสือเก่า แต่กว่าจะอ่านให้จบเล่ม คนอ่าต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเนื้อหาภายในไม่น้อย เพราะหลายเล่มเป็นองค์ความรู้ใหม่แกะกล่อง ที่หลักสูตรวิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังตามหลังอยู่หลายสิบปี และนั่นอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมสัปดาห์หนังสือหนนี้จึงไม่มีหนังสือใหม่ออกมา
หนังสือวิทยาศาสตร์ในบูธ นี้เป็นหนังสือแปลทั้งหมด อาทิ "มหัศจรรย์แห่งร่างกาย" (The Odd Body) เล่ม1-2 เขียนโดย ดร.สตีเฟน ฮวน (Dr.Steve Juan) หนังสือที่จะพาไปรู้จักตับ ไต ไส้ พุง และส่วนอื่นๆ ของร่างกายอย่างถึงแก่น อีกเล่มเป็น "ลวดลายมหัศจรรย์วิวัฒนาการชีวิต" (Endlees Form Most Beautiful) ซึ่งเขียนโดย ฌอน บี คาร์รอลล์ (Sean B. Carroll) หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องวิทยาศาสตร์ใหม่ของการวิวัฒนาการ ซึ่งเปิดตัวว่าก้าวไปไกลกว่าทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน
ส่วนใครที่อยากทำความเข้าใจจุดเริ่มต้นของเราที่ย้อนไปไกลถึงกำเนิดเอกภพต้องไม่พลาดเล่มนี้ "กำเนิดเอกภพ" (Origins) ซึ่งย้อนความเป็นมาของเอกภพไกลกว่าประวัติศาสตร์มนุษยชาติออกไปถึง 14,000 ล้านปี จนมาถึงยุคปัจจุบัน เรื่องนี้เขียนโดย นีล เดอ กราสเซ ไทสัน (Neil de grasse Tyson) และโดนัลด์ โกลด์สมิธ (Donald Goldsmith)
หากยังไม่จุใจกับกำเนิดเอกภพ เติมเต็มด้วย "จักรวาลคู่ขนาน" (Parallel Worlds) เขียนโดยมิิชิโอ คากุ (Michio Kaku) และใครที่สนใจทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมและศิลปะ "ไวโอลินของไอน์สไตน์" (Einstein’s Violin) ของโจเซฟ อีเกอร์ (Joseph Eger) ซึ่งเปิดตัวมาได้ 3 ปีแล้ว ยังคงรอแฟนหยิบมาอ่านเช่นกัน
มาถึงบูธนานมีบุ๊คส์ ขวัญใจเด็กๆ ที่ขนหนังสือวิทยาศาสตร์ทั้งเก่าและใหม่มาเปิดตัวในงานถึง 500 เล่ม โดยเล่มล่าสุดซึ่งเป็นไฮไลท์ในงานนี้คือ "เวทมนตร์สุดมันมหัศจรรย์ทดลองเคมี" หนังสือว่าด้วยการทดลองสำหรับเด็กประถมของนักเขียนเยอรมัน แอนเดรีย สกอร์น มูลเลอร์ (Andrea Skorn Muller) ซึ่งจะมีกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์และพบปะกับนักเขียนในวันที่ 27 มี.ค.53 ณ ห้อง Meeting Room 2 ตลอดทั้งวัน
หนังสือเกี่ยวกับการทดลองอีกเล่มคือ "บ้านนักวิทยาศาสร์น้อย" ของนักเขียนเยอรมันอีกเช่นกันคือ โจอาคิม เฮคเกอร์ (Joachim Hecker) ซึ่งเคยฝากผลงานงานเขียนเกี่ยวกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์คือ รอบรู้ธรรมชาติ เล่ม 1-2 โดยหนังสือเล่มใหม่นำเสนอการทดลองที่ทำเองได้ง่าย 40 การทดลอง
นอกจากนี้นานมีบุ๊คส์ยังมีชุดการ์ตูนความรู้อีก 300 เล่ม ซึ่ง "แก๊งซ่าการทดลอง" การ์ตูนวิทยาศาสตร์จากเกาหลีได้คลอดเล่ม 5 ชุดการประลองไฟฟ้ารับกับงานสัปดาห์หนังสือนี้พอดี โดยเป็นผลงานของนักเขียนคนเดียวกับ 4 เล่มแรกคือ กอมโดริ (Gomdori) พร้อมลายเส้นจาก ฮง จอง ฮุน (Hong Jong Hyun)
ปิดท้ายด้วยหนังสือออกใหม่จากสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน ที่จะพาย้อนอดีตไปพบกับ "ประวัติศาสตร์การแพทย์" ในตอน "การค้นพบที่ยิ่งใหญ่" ผลงานเขียนคนไทย นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ ที่จะพาไปรู้จักการค้นคว้าทางการแพทย์นับแต่อดีต เ่ช่น การค้นพบการไหลเวียนของเลือด การค้นพบหมู่เลือด การค้นพบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นต้น
หากหนังสือที่ทีมงานแนะนำยังไม่เป็นที่ถูกใจ ยังมีเวลาจนถึงวันที่ 6 เม.ย.ให้ทุกท่านไปเลือกซื้อ-เลือกหาหนังสือวิทยาศาสตร์กัน ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์.