หายนะจากธรณีพิโรธในเฮติและชิลียังไม่ทันจางหาย แผ่นดินตุรกีก็สั่นสะเทือนตามมาอีกระลอก ภายในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน แม้ความรุนแรงจะไม่มากเท่า 2 ดินแดนก่อนหน้า แต่ก็เกิดข้อกังขาคาใจคนทั่วโลกว่า เหตุไฉนแผ่นดินไหวสมัยนี้จึงเกิดขึ้นถี่ยิบและรุนแรงยิ่งกว่าแต่ก่อน?
ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาหลายคนบอกว่า ปัจจุบันดูเหมือนว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดบ่อยครั้งขึ้น แต่ที่จริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น และปัญหาของเรื่องนี้มาจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเหนือพื้นพสุธา ไม่ใช่สิ่งที่กำลังเป็นไปอยู่ใต้พื้นพิภพ
ทั้งนี้เพราะ ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ตามแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก สิ่งปลูกสร้างและอาคารบ้านเรือนผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มีโครงสร้างไม่ได้มาตรฐาน จึงไม่สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ และด้วยระบบการเฝ้าติดตามการเกิดแผ่นดินไหวที่ดีกว่าแต่ก่อน จึงทำให้ดูราวกับว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้นบ่อยเสียจนน่าตกใจ
"ผมสามารถบอกคุณได้อย่างชัดเจนเลยว่า โลกไม่ได้กำลังดำเนินมาถึงจุดจบอย่างแน่นอน" บ็อบ โฮลด์สเวิร์ธ (Bob Holdsworth) ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างของพื้นผิวโลก มหาวิทยาลัยเดอแรม (Durham University) ทางตอนเหนือของอังกฤษ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวของเอพี
ตั้งแต่เดือนแรกของปีนี้ เกิดแผ่นดินไหวในประเทศเฮติความรุนแรง 7 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 230,000 แสนคน ถัดมาปลายเดือน ก.พ. เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 8.8 ริกเตอร์ ในชิลี ซึ่งรุนแรงเป็นอันดับที่ 5 นับตั้งแต่ปี 1900 ตามด้วยคลื่นสึนามิซัดเข้าสู่พื้นที่ริมชายฝั่ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 900 คน และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวในตุรกีที่รุนแรง 6.0 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 51 ราย
พอล เอิร์ล (Paul Earle) นักแผ่นดินไหววิทยาประจำองค์กรสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (U.S. Geological Survey) เปิดเผยต่อเอพีว่า โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปี จะมีแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงระดับตั้งแต่ 6.0-6.9 เกิดขึ้นประมาณ 134 ครั้ง ทว่าตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้จนถึงปัจจุบันเกิดขึ้นไปแล้ว 40 ครั้ง ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านๆ มาในช่วงเวลาเดียวกัน แต่นั่นเป็นเพราะว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง 8.8 ริกเตอร์ในชิลี ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงหรืออาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก
อีกทั้งไม่ใช่เพราะจำนวนครั้งที่เกิดแผ่นดินไหว หากแต่เป็นเพราะความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้น จึงทำให้ได้รับความสนใจอย่างมากจากคนทั่วโลก ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้นเป็นผลมาจากสิ่งปลูกสร้างและชุมชนที่อาศัยของคนจำนวนมากในบริเวณดังกล่าว
"แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้นไม่ได้ฆ่าใคร แต่เป็นสิ่งก่อสร้างต่างหากที่คร่าชีวิตผู้เคราะห์ร้าย" เอิร์ล กล่าว
ด้านโรเจอร์ บิลแฮม (Roger Bilham) นักธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยโคโลราโด (University of Colorado) สหรัฐฯ บอกว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้คนเสียชีวิตในเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้วนับไม่ถ้วน และในคอลัมน์ของวารสารเนเจอร์ (Nature) ฉบับเดือนที่แล้ว บิลแฮมยังได้เรียกร้องให้มีมาตรฐานสิ่งปลูกสร้างในเมืองใหญ่ที่ดีกว่านี้ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเขาได้ศึกษาเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์แผ่นดินไหว จำนวนประชากร ระดับความรุนแรงของการสั่นสะเทือน รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนสร้างความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว
"เราพบว่าในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวมากกว่าในช่วง 10 ปีก่อนหน้านั้นถึง 4 เท่าตัว ซึ่งตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและน่าตกใจ" บิลแฮม เผยต่อเอพี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและธรณีวิทยาอีกหลายคนก็สังเกตด้วยเช่นกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุธรณีพิโรธนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก
รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าในช่วงปี 2000-2009 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวมากกว่า 453,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากช่วงระยะเวลา 2 ทศวรรษก่อนหน้านั้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ 70 แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศจีนได้คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 440,000 ราย ทว่าตัวเลขเหล่านั้นไม่แน่นอนในแต่ละปี ซึ่งนักสถิติยังบอกว่าธรรมชาติของหายนะจากเหตุแผ่นดินไหวที่เป็นไปอย่างไร้ทิศทางทำให้ยากที่จะมองเห็นแนวโน้มจำนวนผู้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์อย่างคร่าวๆ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ 2 คน ไม่พบว่าแนวโน้มจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 70 เนื่องจากมีความแปรปรวน ถึงแม้ว่าแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจะชี้ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ตั้งแต่ทศวรรรษที่ 80
เดอบาราติ กูฮา-ซาปีร์ (Debarati Guha-Sapir) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการระบาดวิทยาของภัยพิบัติ (Centre for Research on the Epidemiology of Disasters : CRED) กล่าวว่า จากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองอิซมิต (Izmit) ในตุรกีเมื่อปี 1999 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 18,000 ราย หรือเมืองภุจ (Bhuj) ในอินเดีย ที่มีผู้เสียชีวิตราว 20,000 ราย
"หากเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน เมื่อเทียบกันแล้ว 2 เหตุการณ์นี้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย เพราะว่าจำนวนประชากรใน 2 เมืองนี้ มีอยู่เพียง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรที่มีอยู่เมื่อครั้งเกิดเหตุแผ่นดินไหว ความหนาแน่นของจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เหตุการณ์เล็กน้อยกลับกลายเป็นเหตุร้ายแรงได้" กูฮา-ซาปีร์ เผย
ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและภัยพิบัติบอกอีกว่า ปัญหาลักษณะนี้จะเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งบิลแฮมให้ข้อมูลว่ามี 130 เมืองทั่วโลก ที่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 1 ล้านคน และมากกว่าครึ่งของเมืองเหล่านี้ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก ทำให้มีแนวโน้มสูงที่จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว และจากที่เขาได้คำนวณพบว่ามีประชากรกว่า 400 ล้านคน ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
สำหรับในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรสูง และขาดความตระหนักต่อการเตรียมความพร้อมรับมือต่อเหตุแผ่นดินไหว บิลแฮมบอกว่า หากคุณยังมีปัญหาเรื่องปากท้องของตัวเอง คุณจะไม่ไปห่วงกังวลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวจริงจังเท่าไหร่นัก
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แผ่นดินไหวยิ่งดูเลวร้ายขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะเราให้ความสนใจต่อภัยพิบัตินี้มากขึ้นด้วย แผ่นดินไหวรุนแรงในเฮติเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ก็ตามติดมาด้วยเหตุการณ์ในชิลีที่มีระดับความรุนแรงมากยิ่งกว่า และทำให้ทุกคนต้องหันมาสนใจกับเรื่องราวของแผ่นดินไหว แต่นั่นยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
"ตอนนี้ผู้คนกำลังพุ่งความสนใจที่ยังความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับโลกที่เราอาศัยอยู่ หากหวนกลับมาอีกครั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า ถ้าไม่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกเลยระหว่างนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะลืมมันไปอีกครั้ง" เดนนิส ไมลติ (Dennis Mileti) นักวิชาการด้านภัยพิบัติ กรรมการด้านความปลอดภัยทางธรณีพิบัติในรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าว