สุริยุปราคาเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา หลายคนคงได้ชมภาพคราสบดบังดวงอาทิตย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่คงไม่บ่อยที่เราจะได้เห็นภาพเงาที่พาดผ่านพื้นโลกจากห้วงอวกาศ ล่าสุดนาซาได้ปล่อยภาพเงาจันทร์พาดผ่านพื้นโลกที่บันทึกโดยดาวเทียมในวงโคจร
ภาพดังกล่าวเผยให้เห็นเงาจันทร์ที่พาดผ่านอินเดียและอ่าวเบงกอล ซึ่งสเปซดอทคอมรายงานว่า ดาวเทียมอะควา (Aqua satellite) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้บันทึกไว้เมื่อเวลา 13.15 น.ตามเวลาท้องถิ่นของเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย หรือ 14.45 น. ตามเวลาประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 ม.ค.53 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน และคนไทยเห็นเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน
ทั้งนี้ สุริยุปราคาวงแหวนต่างจากสุริยุปราคาเต็มดวง เนื่องจากดวงจันทร์อยู่ไกลจากโลกมาก จึงมีขนาดปรากฏเล็กเกินกว่าจะบังดวงอาทิตย์ได้ทั้งหมด จึงทำให้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ” จากดวงอาทิตย์ในส่วนที่โพล่พ้นขอบดวงจันทร์ และแม้ว่าจะทำให้เกิดเงามืดบนพื้นโลก แต่ก็ไม่มืดสนิท
ตามข้อมูลของนาซาสเปซดอทคอมระบุว่า เงามืดจากดวงจันทร์มีความกว้าง 300 กิโลเมตร โดยส่วนที่มืดที่สุดอยู่บริเวณกึ่งกลางของแถบเงามืด และถึงแม้เป็นเงาที่มืดที่สุด แต่ก้อนเมฆยังสามารถสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ในส่วนที่พ้นขอบดวงจันทร์ออกมาได้มากพอที่จะทำให้ดาวเทียมจับภาพก้อนเมฆได้ ส่วนอื่นๆ ของโลกก็มีสีคล้ายสีชาแก่
เงามืดจากสุริยุปราคาวงแหวนนี้เคลื่อนที่บดบังจากแอฟริกากลางไปถึงตะวันออกของจีน และเกิดคราสนานที่สุดบริเวณมหาสมุทรอินเดีย 11 นาที 8 วินาที ซึ่งเป็นคราสจากสุริยุปราคาวงแหวนที่ยาวที่สุดในสหัสวรรษ และต้องรออีก 1,000 ปี จะเกิดสุริยุปราคาวงแหวนที่ยาวนานเช่นนี้อีก