นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียค้นพบหมึกยักษ์ในอินโดนีเซีย กำลังยึดเอากะลามะพร้าวเป็นเสมือนเกราะกำบัง เช่นกระดองของเต่า นับเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้เห็นตามปกติ และเชื่อว่านี่เป็นหลักฐานชิ้นแรกในการใช้เครื่องมือ ปกป้องตัวเองของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
สำนักข่าวเอพี รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์เมลเบิร์น (Museum Victoria in Melbourne) ประเทศออสเตรเลีย ได้บันทึกภาพการค้นพบ "ปลาหมึกสายดำ" (Amphioctopus marginatus) ที่กำลังครอบครองกะลามะพร้าวเพื่อให้เป็นกระดองที่พื้นทะเล แล้วนำพากะลาชิ้นนั้นลากไปไกลกว่า 20 เมตร อีกทั้งยังทำเหมือนกะลาเป็นเปลือกหอยซ่อนตัวเองลงไปในนั้น
จูเลียน ฟินน์ (Mark Norman) และ มาร์ก นอร์แมน (Mark Norman) แห่งพิพิธภัณฑ์เมลเบิร์น ได้สังเกตเห็นพฤติกรรมที่แปลกไปของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ระหว่างดำน้ำเก็บภาพสำรวจที่บริเวณทางเหนือของสุลาเวสีและบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย กว่า 500 ชั่วโมง ในช่วงปี พ.ศ. 2541-2551
พฤติกรรมและภาพที่พวกเขาค้นพบนั้น ถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกของการใช้เครื่องมือในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จึงได้เขียนเป็นรายงานตีพิมพ์ลงในวารสาร "เคอร์เรนต์ ไบโอโลจี" (Current Biology) ฉบับวันที่ 15 ธ.ค.นี้
"ผมเห็นหมึกยักษ์จำนวนมากซ่อนตัวอยู่ในกระดอง แต่ยังไม่เคยเห็นกับตา กับตัวที่กำลังคว้ากะลาและลากออกไปไกล" ฟินน์กล่าว
ทั้งนี้ หมึกยักษ์ส่วนใหญ่ต่างใช้วัตถุแปลกปลอมมาเป็นเกราะกำบัง แต่นักวิทยาศาสตร์ได้พบหมึกสายดำในขณะที่กำลังเตรียมการค้นหาและสร้างเกราะ นับเป็นตัวอย่างของการใช้เครื่องมือ ซึ่งในหมู่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่เคยมีใครได้บันทึกภาพแบบนี้มาก่อน
อย่างไรก็ดี ฟินน์บอกว่า พฤติกรรมสะสมกะลานี้ต่างจากการซ่อนตัวของปูเสฉวน ที่ปูนั้นใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่ปลาหมึกนั้นเก็บกะลาไว้เผื่อ สำหรับเหตุผิดปกติในอนาคต
"การค้นพบครั้งนี้มีนัยสำคัญ ที่ได้เปิดเผยพฤติกรรมอันซับซ้อนของสิ่งมีชีวิต" ความเห็นของ รศ.ไซมอน ร็อบสัน (Simon Robson) ภาควิชาชีววิทยาเขตร้อน มหาวิทยาลัยเจมส์คุก ในทาวนส์วิว ออสเตรเลีย (James Cook University in Townsville) ต่อผลงานชิ้นนี้
"ปลาหมึกยักษ์นับได้ว่าเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่ชาญฉลาดอันดับต้นๆ พวกมันมีประสาทตาดี และมีการปรับสายตาให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใด้ดียิ่ง รวมทั้งสมองที่ไวใช้ได้" ร็อบสันที่ไม่ได้ร่วมในการสำรวจให้ข้อมูลเพิ่มเติม.