xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยมาเองยันเรียนวิทยาศาสตร์ก็รวยได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 รศ.ดร.จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์
ในแวดวงวิทยาศาสตร์แม้หลายคนพอใจทำงานด้านนี้ แต่ก็มีเสียงบ่นดังๆ อยู่บ่อยครั้งว่า ค่าตอบแทนในอาชีพนี้ช่างแสนต่ำ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กเก่งๆ ไม่เลือกเรียนด้านนี้

ทว่าสำหรับ รศ.ดร.จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีผลงานวิจัยเด่นๆ หลายผลงาน อาทิ ถ่านจากเปลือกแมคคาเดเมีย งานวิจัยผลิตยางธรรมชาติให้มีโปรตีนน้อยลงซึ่งช่วยป้องอาการแพ้ ยางสำหรับผลิตหมากฝรั่งที่ได้จากน้ำเสียในโรงงานน้ำยาง เป็นต้น กล่าวว่าการเรียนวิทยาศาสตร์นั้นก็มีโอกาสที่จะร่ำรวยได้

รศ.ดร.จิตต์ลัดดาเปิดเผยว่า มีความสนใจในงานวิจัยด้านยางตั้งแต่อายุ 15 ขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล โดยสนใจทั้งโครงสร้างยางและสงสัยว่าทำไมยางจึงมีคุณสมบัติอย่างที่เป็น และจากการศึกษาเรื่อยมานั้นได้เกิดงานวิจัยด้านยางมากมาย

ตัวอย่างงานวิจัยเช่น น้ำยางที่มีโปรตีนน้อยลงซึ่งช่วยแก้ปัญหาการกีดกันการนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อ้างว่าน้ำยางดิบของไทยมีโปรตีนเกินกำหนดและเป็นต้นเหตุของอาการแพ้

น้ำยางธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการทำให้มีโปรตีนน้อยลงนี้ นำไปประยุกต์ใช้ได้เหมือนยางสังเคราะห์ เมื่อนำไปขึ้นรูปเป็นถุงยางอนามัยจะมีความเป็นระเบียบมากกว่ายางธรรมชาติทั่วไป โดยพื้นผิวของยางจะติดกันหมดทำให้ไวรัสไม่สามารถผ่านไปได้ จึงช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดี

อีกตัวอย่างคืองานวิจัยน้ำเสียจากน้ำยาง ซึ่งช่วยลดกลิ่นเหม็นลงได้ และยังได้ยางที่มีความเหนียว แม้ยืดหยุ่นไม่ดี โดยสิ่งที่ทำเงินได้จากงานวิจัยนี้คือนำไปใช้เป็นกาวติดแผล ซึ่งเมื่อเป็นวัสดุทางการแพทย์แล้วจะมีมูลค่าสุงขึ้นมาก อีกทั้งยางนี้ยังมีคุณสมบัติเหมาะที่จะผลิตเป็นหมากฝรั่งด้วย และจากงานวิจัยนี้ได้มีความร่วมมือกับบริษัทเอกชนที่ผลิตหมากฝรั่งแล้ว

นอกจากนี้ ในน้ำเสียที่เหลือของน้ำยางยังพบสารสกัดที่ใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตสารป้องกันมะเร็งและอัลไซเมอร์ด้วย โดยมูลค่าน้ำยางอยู่ที่กิโลกรัมละ 1 บาท แต่สารสกัดดังกล่าว 1 กรัมมีมูลค่า 350 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 12,250 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ รศ.ดร.จิตต์ลัดดาชี้ให้เห็นว่างานวิจัยทำเงินได้อย่างไร

สำหรับงานวิจัยนั้น ทำให้เกิดสิทธิบัตรซึ่งทำเงินได้อย่างไรนั้น รศ.ดร.จิตต์ลัดดาแจกแจงให้ฟังว่า อันดับแรกคือการขายสิทธิในการใช้สิทธิบัตร จากนั้นเมื่อผู้ประกอบการนำไปสร้างรายได้ นักวิจัยก็จะได้ส่วนแบ่งจากการขายสินค้าที่เกิดจากงานวิจัย ส่วนเธอมีรายได้ที่เกิดจากการวิจัยเท่าไหร่แล้วนั้น ไม่ขอเปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ด้าน ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาธุรกิจและที่ปรึกษาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลลัพธ์ของงานวิจัยคือองค์ความรู้ที่ได้รับการตีพิมพ์ ส่วนการขายของได้ หรือจะราย-ไม่รวยนั้นเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการต่อยอดองค์ความรู้ ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยมีกลไกช่วยเหลือสำหรับนักวิจัยที่มีผลงานอยู่แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น