กรีนพีซ - คำแถลงการณ์ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีการรั่วไหลของสารเคมี ที่ท่าเรือแหลมฉบัง หายนะจากอุบัติภัยด้านสารพิษที่เราสามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้
นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า อุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่เพิ่งเกิดขึ้นในบริเวณอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกนี้ เป็นสิ่งย้ำเตือนถึงความเสี่ยงของประชาชนที่อยู่ในบริเวณอุตสาหกรรม ซ้ำร้ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง มักหาผู้ที่รับผิดชอบต่อการเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือเอกชนที่เป็นต้นเหตุก็ตาม
เหตุการณ์นี้เป็นอีกครั้งที่สะท้อนถึงอุบัติภัย “โบภาล” ในประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2527 ที่แก๊สพิษจากโรงงานยูเนียนคาร์บายด์/ดาวเคมิคอล (Union Carbide/DOW) รั่วไหลออกมา ส่งผลให้ประชาชนนับหมื่นคนเสียชีวิตภายในคืนเดียว ในปัจจุบัน ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่อุตสาหกรรมของไทยก็ยังไม่ทราบถึงอันตรายจากสารเคมีอันตรายต่างๆ ที่ใช้และถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมรอบๆชุมชน
รัฐบาลควรต้องปรับปรุงมาตรการและกฏหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายและการควบคุมมลพิษ รวมถึงการออกกฎหมายใหม่ที่ครอบคลุมถึงสิทธิการรับรู้ข้อมูลของชุมชน โดยการกำหนดให้ทุกโรงงานเปิดเผยการเคลื่อนย้าย การใช้สารเคมีอันตราย และการปล่อยมลพิษให้สาธารณะรับทราบ หรือทำเนียบการปล่อยสารมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant and Release and Transfer Registers หรือ PRTRs) และเตรียมแผนอุบัติภัยฉุกเฉินสำหรับชุมชน
"มาตรการต่างๆ เหล่านี้ หลายประเทศอุตสาหกรรมได้นำไปประยุกต์ใช้แล้ว โดยกฎหมายลักษณะนี้จะนำไปสู่การลดใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายพลายกล่าว