เนคเทคเปิดตัวฤๅษีดัดตนฉบับดิจิทัล ทั้งในรูปแบบวีซีดีและอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุขปั๊มวีซีดีแจกประชาชนทั่วไป หวังส่งเสริมส่งเสริมสุขภาพคนไทยยุคใหม่ ให้หันมาออกกำลังกายด้วยท่ากายบริหารแบบไทย อนาคตแปลเป็นภาษาต่างประเทศอีก 6 ภาษา หวังเผยแพร่ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยสู่ชาวโลก
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดตัวท่ากายบริหารแบบไทย "ฤๅษีดัดตนฉบับดิจิทัล" ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย.52 ที่ผ่านมา โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมแถลงข่าว พร้อมกับมีการสาธิตการกายบริหารตามแบบฤๅษีดัดตนฉบับดิจิทัลด้วย ซึ่งมีสื่อมวลชนให้ความสนใจร่วมงานคับคั่ง
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้มีมติรับรองศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำของโลก (Memory of the World) เมื่อปี 2551 ซึ่งจารึกโคลงประกอบรูปฤๅษีดัดตน เป็นส่วนหนึ่งของศิลาจารึกวัดโพธิ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ด้วย คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย จึงต้องการให้เนคเทคจัดทำท่ากายบริหารแบบไทยฤๅษีดัดตนฉบับดิจิทัลเพื่อเผยแพร่สู่ประชาชนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรืออินเทอร์เน็ตอีกช่องทางหนึ่ง
ในการจัดทำฤๅษีดัดตนฉบับดิจิทัลนี้ เนคเทคได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาท่าฤๅษีดัดตน และอนุญาตให้เนคเทคนำท่าฤๅษีดัดตนจำนวน 15 ท่า มาใช้พัฒนาฤๅษีดัดตนฉบับดิจิทัล พร้อมกับได้จัดส่งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวมาเป็นต้นแบบให้อีกด้วย
ด้าน ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยคลังอนุพันธ์ความรู้ เนคเทค และหัวหน้าโครงการจัดทำฤๅษีดัดตนฉบับดิจิทัล อธิบายเพิ่มเติมกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนว่า โครงการดังกล่าวใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 ปีครึ่ง โดยเริ่มใช้ซอฟต์แวร์สามมิติ สร้างรูปฤๅษีแบบสามมิติ และใส่ท่าทางการเคลื่อนไหวเข้าไป แต่ดูไม่เป็นธรรมชาติและไม่สมจริง จึงได้ขอใช้เครื่องจับท่าทางการเคลื่อนไหว หรือโมชันแคปเจอร์ (Motion Capture) ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิปา และใช้เซ็นเซอร์ติดตามร่างกาย ของผู้ที่เป็นต้นแบบแสดงท่าฤๅษีดัดตน เพื่ออ่านและแปรค่าความเคลื่อนไหวเข้าสู่คอมพิวเตอร์ ซึ่งได้ภาพสามมิติที่แสดงท่าทางได้สมจริง แต่ข้อมูลยังไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ
จากนั้น ทีมวิจัยจึงได้เปลี่ยนมาใช้เทคนิควีดิโออีมูเลชัน (video emulation) โดยการตัดภาพการเคลื่อนไหวในวีดิโอของนักแสดง ที่เป็นแบบแสดงท่าฤๅษีดัดตนทุก 1 วินาที แล้วนำข้อมูลดังกล่าวใส่เข้าไปให้ตัวการ์ตูนฤๅษีสามมิติที่สร้างไว้ในตอนแรก ซึ่งให้ภาพการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติและเสมือนจริงคล้ายการเคลื่อนไหวของมนุษย์ จากนั้นคำนวณแสงและเงาตกกระทบวัตถุเพื่อให้แสงและสีแก่ภาพการ์ตูนฤๅษีสามมิติด้วยคลัสเตอร์กริดของศูนย์ไทยกริดแห่งชาติจนได้ภาพที่สมบูรณ์และพร้อมนำเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และในรูปแบบวีซีดี โดยในอนาคตจะมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศเพื่อเผยแพร่แก่ชาวต่างชาติ 6 ภาษา อาทิ ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส
ดร.จุฬารัตน์ กล่าวอีกว่าเทคโนโลยีการพัฒนาฤๅษีดัดตนนี้สามารถนำไปใช้ได้กับการจัดทุกสิ่งที่เคลื่อนไหวได้และต้องการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งในอนาคตเนคเทคอาจมีความร่วมมือกับ สธ. หรือหน่วยงานอื่นๆ อีกในการจัดเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวแบบดิจิทัลเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ท่าแม่ไม้มวยไทย และ ท่ารำไทย เป็นต้น
สำหรับท่าฤๅษีดัดตนนั้นมีทั้งสิ้น 127 ท่า โดย 15 ท่า ที่คัดเลือกมาจัดทำเป็นฤๅษีดัดตนดิจิทัล ซึ่งเป็นท่าที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเป็นท่าที่มีความปลอดภัยสำหรับเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปนำไปปฏิบัติได้เอง ส่วนท่าฤๅษีดัดตนที่เหลือนั้น ดร.จุฬารัตน์ บอกว่าหากมีเอกชนรายใดสนใจจะนำไปต่อยอดจัดทำฤๅษีดัดตนดิจิทัลในเชิงพาณิชย์ เนคก็พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้
ด้าน นพ.สัญชัย วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การบริหารร่างกายด้วยท่าฤๅษีดัดตน นอกจากจะใช้เป็นท่าบริหารร่างกายแล้ว ยังมีสรรคุณในการรักษาโรคเบื้องต้นได้อีกด้วย ช่วยให้การเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของแขนขาหรือข้อต่างๆ เป็นไปอย่างคล่องแคล่ว ทำให้โลหิตหมุนเวียน เลือดลมเดินได้สะดวก นับเป็นการออกกำลังกายที่สามารถทำได้ทุกอิริยาบถของคนไทย และยังเป็นการต้านโรคภัยไข้เจ็บ บำรุงรักษาสุขภาพให้มีอายุยืนยาว อีกทั้งยังมีการใช้สมาธิร่วมด้วยในการบริหาร ซึ่งจะช่วยยกระดับจิตใจไม่ให้หงุดหงิดหรือขุ่นมัว ช่วยคลายความตึงเครียด และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการหายใจ และฝึกการหายใจให้ถูกต้อง
ขณะที่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวเพิ่มเติมว่าการจัดทำฤๅษีดัดตนรูปแบบดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จในการใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรมโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าหรือทำให้เกิดคุณค่ามากขึ้น ซึ่งการเผยแพร่ฤๅษีดัดตนแบบดิจิทัลนี้จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของประชาชน พร้อมกับเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย และช่วยกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทยด้วย
ทั้งนี้ ผู้สนใจกายบริหารตามแบบท่าฤๅษีดัดตน สามารถเข้าไปชมหรือดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ www.rusiedotton.thai.net หรือขอรับแผ่นซีดีฤๅษีดัดตนฉบับดิจิทัลได้ที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข