xs
xsm
sm
md
lg

“ไมเคิล กรีน” รับไม้ต่อจาก "ฮอว์กิง" กินตำแหน่งแห่งตำนาน "ศ.ลูคัสเซียน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไมเคิล กรีน นักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้บุกเบิกทฤษฎีสตริง รับตำแหน่งศาสตราจารย์ลูคัสเซียนคนใหม่ของเคมบริดจ์ (ภาพจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์/นิวไซแอนทิสต์)
เป็นเวลายาวนานกว่า 300 ปีแล้ว ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้มอบตำแหน่ง “ศาสตราจารย์ลูคัสเซียน” ให้แก่ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยที่มีผลงานด้านคณิตศาสตร์ที่โดดเด่น มีนักวิทยาศาสตร์คนดังของโลกอย่าง “ไอแซค นิวตัน” และ “สตีเฟน ฮอว์กิง” ล้วนได้รับตำแหน่งนี้

สำหรับตำแหน่งศาสตราจารย์ลูคาเซียน (Lucasian Professor of Mathematics) ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) แห่งสหราชอาณาจักรนี้ ได้แต่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2206 โดยเฮนรี ลูคัส (Henry Lucas) สมาชิกสภามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และกษัตริย์ชาร์ลที่ 2 (King Charles II) ได้ทรงลงพระนามรับรองการแต่งตั้งตำแหน่งนี้ในปีถัดมา ซึ่งผู้ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์อันทรงเกียรตินี้คนแรกในปี พ.ศ.2207 คือ ไอแซค บาร์โรว์ (Isaac Barrow)

ผ่านมา 345 ปีมีผู้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ลูคาเซียนแล้วทั้งหมด 18 คน ซึ่งผู้ได้รับตำแหน่งคนล่าสุดคือ ศ.ไมเคิล กรีน (Prof. Michael Green) นักฟิสิกส์ทฤษฎีของเคมบริดจ์ ต่อจาก ศ.สตีเฟน ฮอว์กิง (Prof. Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎีร่างพิการ ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.52 ที่ผ่านมา โดยผู้ได้รับตำแหน่งนี้ จะเกษียณจากการเป็นศาสตราจารย์ลูคัสเซียนเมื่ออายุครบ 67 ปี ดังนั้นแต่ละคนจึงมีวาระในการดำรงตำแหน่งไม่เท่ากัน

สำหรับ ศ.กรีนนั้น เป็นนักฟิสิกส์ผู้บุกเบิกทฤษฎีสตริง (string theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของอวกาศและเวลาว่า เกิดจากเส้นเชือกเล็กที่สั่นสะเทือน โดยเขาเองยังได้ต่อยอดความรู้ของ 2 นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่คือ เซอร์ไอแซค นิว ตัน (Sir Isaac Newton) และสตีเฟน ฮอว์กิง ที่รับตำแหน่งศาสตราจารย์ลูคาเซียนเช่นเดียวกัน

แม้นักฟิสิกส์คนอื่นๆ จะมุ่งค้นหา “จอกศักดิ์สิทธิ์” แห่งวงการนั่นคือ “ทฤษฎีสรรพสิ่ง” (theory of everything) ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติด้วยสมการพื้นฐานเพียงหนึ่งเดียว แต่สำหรับศาสตราจารย์ลูคัสเซียนคนใหม่แล้ว เขาได้ให้สัมภาษณ์กับนิวไซแอนทิสต์ว่า ไม่ค่อยชอบแนวคิดดังกล่าวเท่าไหร่ เพราะไม่น่าจะใช่วิถีทางของวิทยาศาสตร์

“นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมีความเชื่อว่า พวกเขาได้เข้าใกล้ความเข้าใจในทุกๆ เรื่อง แต่ผมเองไม่ค่อแน่ใจเท่าไหร่นักว่าเราจะเข้าใจทุกสรรพสิ่งได้หรือไม่ มันคงน่าเบื่อมากหากเราเข้าใจในทุกอย่างจริงๆ” ศ.กรีนให้ความเห็น

อย่างไรก็ดี ตำแหน่งศาสตราจารย์ลูคัสเซียนนี้ เป็นตำแหน่งที่เคมบริดจ์ตั้งไว้สำหรับศาสตราจารย์ทางด้านคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติสูงสุดของสถาบัน (และระยะหลังได้รับยกย่องในระดับโลกด้วย) ทว่า ในระยะ 100 ปีให้หลังมานี้ ตำแหน่งดังกล่าว ส่วนใหญ่ตกเป็นของนักฟิสิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 รายล่าสุด คือ ฮอว์กิง และ กรีน
(ภาพจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์)

รายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ลูคาเซียน (Lucasian Professor of Mathematics) ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์


ชื่อช่วงปีที่มีชีวิตช่วงเวลาดำรงตำแหน่งความเชี่ยวชาญ
Isaac Barrow1630-16771664-1669Classics &Mathematics
Sir Isaac Newton1642-17271669-1702Mathematics & Physics
William Whiston1667-17521702-1710Mathematics
Nicolas Saunderson1682-17391711-1739Mathematics
John Colson1680-17601739-1760Mathematics
Edward Waring1736-17981760-1798Mathematics
Isaac Milner1750-18201798-1820Mathematics & Chemistry
Robert Woodhouse1773-18271820-1822Mathematics
Thomas Turton1780-18641822-1826Mathematics
Sir George Airy1801-18921826-1828Astronomy
Charles Babbage1792-18711828-1839Mathematics & Computing
Joshua King1798-18571839-1849Mathematics
Sir George Stokes1819-19031849-1903Physics & Fluid Mechanics
Sir Joseph Larmor1857-19421903-1932Physics
Paul Dirac1902-19841932-1969Physics
Sir M. James Lighthill1924-19981969-1980Fluid Mechanics
Stephen Hawking1942-1980 - 2009 Theoretical Physics

กำลังโหลดความคิดเห็น