อีซาถือฤกษ์ดี (ที่เผอิญตรงกับ) วันลอยกระทง ส่งดาวเทียม "SMOS" สำรวจน้ำบนโลกจากอวกาศเป็นครั้งแรก หวังได้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของเกลือในมหาสมุทรและความชื้นในดิน ช่วยให้นักวิจัยทำนายผลกระทบของภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงต่อวัฏจักรของน้ำบนโลกได้
องค์การอวกาศยุโรป หรือ อีซา (European Space Agency: ESA) ส่งดาวเทียมเอสมอส (Soil Moisture and Ocean Salinity: SMOS) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อน้ำบนผิวโลกขึ้นสู่วงโคจร จากฐานปล่อยจรวดของศูนย์อวกาศเพลเซ็ตสก์ (Plesetsk cosmodrome) ทางตอนเหนือของรัสเซีย เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 52 เวลาประมาณ 08.50 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสอง เทศกาลลอยกระทงพอดี
"เอสมอส" เป็นดาวเทียมดวงที่ 2 ของอีซา ในชุดดาวเทียมสำรวจโลก (ESA’s Earth Explorer series) ซึ่งใช้งบประมาณสร้างกว่า 315 ล้านยูโร (ประมาณ 15,700 ล้านบาท) โดยเอสมอสจะทำหน้าที่วัดปริมาณความชื้นของพื้นผิวโลกและความเค็มในมหาสมุทร นับเป็นปฏิบัติการครั้งแรกของโลก ที่วัดความชื้นในดินจากอวกาศ เพื่อหวังเก็บข้อมูลสำคัญเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวัฏจักรของน้ำบนโลก ซึ่งจะช่วยให้นักอุตุนิยมวิทยาใช้เป็นข้อมูลคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของน้ำในอนาคตได้ รวมถึงพยากรณ์เหตุการณ์น้ำที่ใกล้กับเวลาตามจริงได้แม่นยำมากขึ้น
"ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องจริง แต่ผลกระทบของมันต่อการเกิดฝน ไอน้ำ แหล่งน้ำผิวดิน และอุทกภัย ยังเป็นเรื่องที่คลุมเครืออยู่จนทุกวันนี้ การหาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำได้มากเท่าไหร่ จะยิ่งมีส่วนสำคัญต่อการศึกษาผลกระทบจากภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากกว่าข้อมูลอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว" ยานน์ เคอร์ (Yann Kerr) นักวิจัยของศูนย์ศึกษาชีวมณฑลจากอวกาศ (Center for the Study of the Biosphere from Space) และผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ประจำภารกิจเอสมอส กล่าวในเอเอฟพี
หน้าที่ของเอสมอสประกอบด้วย 2 ภารกิจหลัก คือ การวัดปริมาณน้ำในดินที่มีอยู่ทั่วโลกทุกๆ 3 วัน ที่ระดับความลึก 1-2 เมตร ซึ่งจะช่วยในการพยากรณ์อากาศได้ดียิ่งขึ้นในช่วงระยะสั้นและปานกลาง รวมทั้งโอกาสเกิดภัยแล้งและอุทกภัย และใช้เป็นเครื่องมือติดตามกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงและการเจริญเติบโตของพืชได้ รวมถึงการคำนวณวัฏจักรคาร์บอนของโลกด้วยว่ามีการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน ทั้งในมหาสมุทรและโดยต้นไม้
ส่วนอีกภารกิจหนึ่งคือวัดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเกลือในแหล่งน้ำผิวดินและมหาสมุทร ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจรูปแบบการไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งกระแสน้ำในมหาสมุทรสามารถช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้ ที่เห็นเด่นชัดคือการถ่ายเทความร้อนจากแถบศูนย์สูตรไปยังขั้วโลก
ทั้งนี้ เอสมอสจะเก็บข้อมูลในภารกิจทั้งสองส่วนดังกล่าวด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า "ไมราส" (Microwave Imaging Radiometer with Aperture Synthesis: MIRAS) เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาว่ามีการเปลี่ยนแปลงของน้ำและความชื้นในดินและมหาสมุทรอย่างไรบ้าง และภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อวัฏจักรของน้ำอย่างไร เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาต่อไป โดยเอสมอสมีกำหนดปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยสามารถขยายเวลาการทำงานออกไปได้อีก 2 ปี