xs
xsm
sm
md
lg

มหิดลดึงนักคณิตศาสตร์ดังจากฝรั่งเศสแลกเปลี่ยนความรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.บัวกียอง ฌอง-ปิแอร์
มหิดลจัดสัมนาคณิตศาสตร์ไทย-ฝรั่งเศส ได้นักคณิตศาสตร์ดังจากแดนน้ำหอมบรรยายพิเศษ สร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้คณิตศาสตร์ คาดเกิดความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น พร้อมได้กระตุ้นการเรียนทางด้านคณิตศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาวิชาการด้านคณิตศาสตร์บริสุทธิ์และประยุกต์ไทย-ฝรั่งเศส (Franco-Thai Seminar in Pure and Applied Mathematics) ระหว่างวันที่ 29-31 ต.ค.52 ณ ตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีนักคณิตศาสตร์ไทยกว่า 60 คน และมีนักคณิตศาสตร์จากฝรั่งเศสกว่า 10 คนเข้าร่วม

ศ.ดร.วิเชียร เลาหโกศล จากภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าร่วมในงานสัมมนานี้และได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับงานวิจัยคณิตศาสตร์เรื่องฟังก์ชัน โมเบียสซูเรียน-ซู (Souriau-Hsu Mobius) ซึ่งเป็นสาขาของทฤษฎีจำนวน โดยเขาได้อธิบายให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ฟังว่า ฟังก์ชันโมเบียสเป็นที่รู้จักมากว่า 100 ปีแล้ว และมีคุณสมบัติการนับที่เป็นส่วนสำคัญในการพิสูจน์ทฤษฎีจำนวน

จนกระทั่งเมื่อปี 1944 นักคณิตศาสตร์ฝรั่งเศสชื่อซูเรียน (Souriau) ได้พบฟังก์ชันโมเบียสที่กว้างกว่า แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก จากนั้น ซู (Hsu) นักคณิตศาสตร์จีนได้นำเรื่องการนับมาทำให้แพร่หลายและทำสมบัติแก้สมการกลับไป-กลับมา

ทั้งนี้ทางกลุ่มของ ศ.ดร.วิเชียรได้นำมาศึกษาต่อและพบว่าจำแนกฟังก์ชันแยกปริภูมิจำนวนนับได้ มีเอกลักษณ์เชื่อมโยงกับฟังก์ชันอื่น ฟังก์ชันพี่น้องมีรูปแบบกว้างเกือบครอบคลุมฟังก์ชันที่ใช้นับ และสุดท้ายพบว่ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับฟังก์ชันออยเลอร์ ทีใช้นับจำนวนในเซตที่เฉพาะสัมพันธ์กับจำนวนจำนวนหนึ่ง และผลงานได้ตีพิมพ์ลงวารสารไอเจเอ็มเอ็มเอส (International Journal of Mathematics and Mathematical Science: IJMMS)

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.วิเชียรได้ให้ความเห็นถึงงานสัมมนาว่า เป็นเวทีที่มีนักคณิตศาสตร์ระดับโลกมาเข้าร่วม หลายคนได้รับรางวัลทางด้านคณิตศาสตร์ที่เทียบเท่ารางวัลโนเบลก็เข้าร่วมในงานนี้ด้วย อาทิ ศ.ฌอง-ปิแอร์ บูกียอง (๋Jean-Pierre Bourguignon) จากสถาบันวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (The Institut des Hautes Études Scientifiques: IHES) ฝรั่งเศส และ ศ.จอห์น ฮับบาร์ด (Prof.John Hubbard) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) สหรัฐฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ ศ.ฌอง-ปิแอร์ บูกียอง (๋Jean-Pierre Bourguignon) ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อประวัติโดยย่อของเรขาคณิต ซึ่งกล่าวถึงเรขาคณิตตั้งแต่ยุคกรีก ที่เป็นเพียงการลากเส้นธรรมดา จากนั้นมีวิวัฒนาการมาเป็นเรขาคณิตเชิงเส้นโค้ง อย่างการลากเส้นบนโลก จนมาถึงยุคหลังนับแต่ยุคของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ที่นำเรื่องกาล-อวกาศเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรขาคณิต และดึงพีชคณิตมาเชื่อมโยงด้วย

งานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ ดร.บริบูรณ์ เนาวประทีป หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักคณิตศาสตร์ไทยและฝรั่งเศส ซึ่งนักคณิตศาสตร์ฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีความสามารถเป็นอันดับหนึ่งของโลก

สำหรับเวทีวิชาการของนักคณิตศาสตร์ไทยนั้นมีจัดขึ้นทุกปีอยู่แล้ว และหลังจากการสัมมนาครั้งนี้อาจมีงานประชุม "ซิมป้า" (Cimpa) ซึ่งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกนักคณิตศาสตร์ให้เป็นนักวิจัย ที่ทางฝรั่งเศสจัดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศด้วย

พร้อมกันนี้หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ มหิดล ได้ให้ความเห็นต่อการศึกษาคณิตศาสตร์ของไทยว่า ยังมีปัญหาตรงที่คนทั่วไปยังไม่ทราบว่าเรียนคณิตศาสตร์แล้วจะทำงานอะไร และผู้ปกครองมักไม่อยากให้เรียน

"หากเปิดให้บุตรหลานตัดสินใจได้อย่างอิสระจะมีนักเรียนมาเรียนสาขาด้านนี้เยอะ และหลายคนไม่ทราบว่างานด้านคณิตศาสตร์มีรายได้ดีถึง6 หลัก และมีบริษัทหลักทรัพย์และธนาคารต่างๆ มาจองตัวนักศึกษาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เรียนคณิตศาสตรืแล้วมีงานทำและเป็นงานที่ดีด้วย" ดร.บริบูรณ์กล่าว
ศ.บัวกียอง ฌอง-ปิแอร์ เล่าประวัติเรขาคณิต
 ดร.บริบูรณ์ เนาวประทีป
นักคณิตศาสตร์ไทย-ฝรั่งเศสเข้าร่วมสัมมนา
กำลังโหลดความคิดเห็น