“คุยกัน ฉันวิทย์" ยกกันไปทดลองไข่ ฉลอง "วันไข่โลก" กลางสยาม หยิบไข่มาสอนวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องต้องรู้ในชีวิตประจำวัน แยกไข่เก่า-ไข่ใหม่ ใบไหนสุก-ใบไหนดิบ พร้อมทดสอบความแข็งของ "ไข่ทรงพลัง" เหยียบได้ไม่แตก
อีกครั้งกับเวที "คุยกัน ฉันท์วิทย์" ที่สัญจรไปจัดกิจกรรม "นักสืบฟองไข่...เรื่องใกล้ตัว" ณ ร้านทรูคอฟฟี่ สยามสแควร์ ซ.3 ในวันอาทิตย์ที่ 11 ต.ค.52 ซึ่งมีเด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ 7-8 คน โดยมีนางฤทัย จงสฤษดิ์ หัวหน้าฝ่ายสร้างความรู้ความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้
นางฤทัยบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ระหว่างวันที่ 9-11 ต.ค.ของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศทั่วโลกจัดงานฉลอง "วันไข่โลก" (Celebrate World Egg Day) บางแห่งจัดคาราวานเกี่ยวกับไข่ แต่สำหรับเวทีคุยกันฉันวิทย์นี้ ได้ถือโอกาสนี้จัดกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยใช้ไข่เป็นสื่อในการเรียนรู้
สำหรับกิจกรรมที่นำมาทดลอง มีทั้งที่นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน อย่างการทดลองพิสูจน์ไข่เก่า-ไข่ใหม่ โดยจุ่มไข่ลงในน้ำ หากเป็นไข่เก่าจะลอยน้ำ ส่วนไข่ใหม่จะจมน้ำ ทั้งนี้เป็นเพราะไข่เก่ามีฟองอากาศเข้าไปมาก จึงมีความหนาแ่น่นต่ำทำให้ลอยน้ำ
ทั้งนี้ เปลือกไข่มีรูให้อากาศเข้าไปได้เพื่อให้ตัวอ่อนในไข่หายใจได้ เมื่อทิ้งไว้นานๆ ก็จะมีฟองอากาศเข้าไปมาก อีกทั้งเชื้อโรคที่เล็กกว่ารูอากาศก็ยังเข้าไปได้ จึงต้องเก็บไข่ไว้ในที่สะอาด
นอกจากนี้การดูลักษณะเปลือกไข่ภายนอก ยังบอกได้ว่าไข่ใบนั้นเป็นไข่เก่าหรือไข่ใหม่ได้ โดยไข่ใหม่จะมีลักษณะเป็นฝ้า ซึ่งเกิดจากสารเคลือบที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ ส่วนเปลือกไข่เก่าจะมีลักษณะเป็นมันเนื่องจากสารเคลือบดังกล่าวลดลง
อีกการทดลองคล้ายๆ กันคือการทดลองเรื่องความหนาแน่น โดยจุ่มไข่ใหม่ลงในน้ำ ไข่จะจม แต่ทำให้ลอยได้โดยเติมเกลือลงไป จนถึงความหนาแน่นระดับหนึ่งไข่จะลอยน้ำได้ และถ้าเติมน้ำลงไปอีกระดับหนึ่ง ไข่จะลอยอยู่ตรงกลาง ซึ่งลักษณะเช่นนี้เราพบได้ที่ทะเลเดดซี (Dead Sea) ที่ทุกอย่างลอยน้ำได้ เนื่องจากเค็มจัด
เปลือกไข่ยังสอนเรื่องแสง-สีได้ โดยทาสีเปลือกไข่ให้เป็นสีรุ้ง 7 สี แล้วติดกับพัดลมมือ เมื่อเปิดพัดลมให้หมุน สีทั้งเจ็ดจะรวมกับเป็นแสงขาว ทำให้มองเห็นเป็นสีเปลือกไข่เช่นเดิม และลักษณะเปลือกไข่เป็นรูปโค้งๆ ทำให้มีความแข็งแรง เมื่อบีบตามยาวของไข่ดิบจะไม่แตก หรือทดลองเรียงเปลือกไข่ในกระบะ แล้วให้ผู้ทดลองขึ้นเหยียบ ไข่ก็ไม่แตก ซึ่งจากสถิติที สวทช.ทดลอง พบว่าน้ำหนักสูงสุดที่ทดลองโดยเปลือกไข่ไม่แตกคือ 80 กิโลกรัม
นอกจากนี้ยังใช้ไข่สุก-ไข่ดิบสอนเรื่อง "ความเฉื่อย" ได้โดยทดลองหมุนไข่ สำหรับไข่สุกเมื่อใช้นิ้วหยุดไข่แล้วปล่อยมือ ไข่จะหยุดนิ่ง แต่สำหรับไข่ดิบจะยังหมุนต่อ เพราะของเหลวในไข่ดิบยังคงหมุนต่อไปด้วยความเฉื่อย แม้เปลือกไข่จะหยุดหมุนแล้วก็ตาม
พร้อมกันนี้นางฤทัยยังให้ความรู้แก่เด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมว่า ไข่นั้นมีหลายสีหลายขนาด โดยไข่ที่เล็กที่สุดคือไข่ของนกฮัมมิงเบิร์ด และไข่ที่ใหญ่ที่สุดคือไข่ของนกช้างที่สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ 400 ปี ปัจจุบันไข่ของนกกระจอกเทศจึงเป็นไข่ของนกที่ใหญ่ที่สุดในโลก.