"อาดา โยนาธ" นักวิทย์หญิงอิสราเอลคนแรก บนเวทีโนเบล เผยทั้งน้ำตา ชีวิตวัยเด็กยากจนข้นแค้น ไม่มีหนังสืออ่านแม้สักเล่ม ดีใจสุดๆ หลังรู้ข่าวดีว่าได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ให้ผู้หญิง ขอโลกให้โอกาสและส่งเสริมสตรีให้ได้ทำงานวิทยาศาสตร์อย่างที่ใจต้องการ
ทันทีที่ผลการประกาศรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2009 ออกมาอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ต.ค.52 สื่อมวลชนในสวีเดนรีบติดต่อขอสัมภาษณ์พวกเขาทันทีทางโทรศัพท์ ซึ่งผู้ได้รับรางวัลในสาขานี้ ได้แก่ อาดา โยนาธ (Ada Yonath) นักวิจัยอิสราเอลวัย 70 ปี, โทมัส สไตตซ์ (Thomas Steitz) วัย 69 ปี และ เวนคาตรามัน รามกฤษณัน (Venkatraman Ramakrishnan) วัย 57 ปี ชาวสหรัฐฯ จากการศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ของไรโบโซมในระดับอะตอม
สไตตซ์ได้รับโทรศัพท์จากสวีเดน ซึ่งตรงกับช่วงเช้าตรู่ของสหรัฐฯ และเขาตื่นนอนพอดี ซึ่งเขาบอกกับสื่อมวลชนวิทยุของสวีเดนว่า โชคดีมากที่เขาตื่นขึ้นมาเพื่อจะไปออกกำลังกาย แต่คนที่โทรศัพท์มาหาบอกว่า ไม่ต้องไปโรงยิมแล้ว เพราะเดี๋ยวจะมีโทรศัพท์ตามมาอีกมากมาย
ขณะที่รามกฤษณันก็ได้รับโทรศัพท์ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อวิทยุของสวีเดนว่า พวกเขาเป็นเพียงกัปตันทีม ซึ่งมีหลายความคิดที่ทำให้เกิดงานวิจัยเรื่องนี้ และผู้ที่มีส่วนอย่างมากคือนักศึกษาและนักวิจัยหลังปริญญาเอก ส่วนเขานั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของความพยายามและความอุตสาหะอันยิ่งใหญ่ของทุกคนที่มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้
ส่วนโยนาธบอกกับสื่อมวลชนว่า เธออยู่ที่บ้านของลูกสาวในอิสราเอล สิ่งแรกที่รู้สึกคือมีความสุขเหลือมากมายเหลือเกิน ส่วนลูกของเธอก็รู้สึกภูมิใจมาก นั่นยิ่งทำให้เธอมีความสุขมากยิ่งกว่า
ทั้งนี้ โยนาธเป็นกลายเป็นผู้หญิงชาวอิสราเอลคนแรก ที่ได้รับรางวัลโนเบลอันทรงเกียรติ และเป็นผู้หญิงคนที่ 4 ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี โดยมีแมรี กูรี(Marie Curie) เป็นผู้หญิงคนแรกที่บนเวทีโนเบล และได้รับรางวัลในสาขาเคมี ซึ่งเรื่องราวของกูรียังเป็นแรงบันดาลใจให้กับโยนาธ ที่ดำเนินรอยตามกูรีเข้ามาทำงานด้านวิทยาศาสตร์ โดยโยนาธเป็นชาวอิสราเอลคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี และเป็นชาวอิสราเอลคนที่ 9 ที่ได้รับรางวัลนี้
เพียงชั่วครู่หลังการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาเคมีในกรุงสต็อคโฮล์ม โยนาธก็ได้รับโทรศัพท์แสดงความยินดีจากนายชิมอน เปเรส (Shimon Peres) ประธานาธิบดีอิสราเอล ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2537 จากนั้นโยนาธได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อวิทยุของอิสราเอลว่า ช่วงวัยเด็กครอบครัวเธอมีฐานะยากจนมาก อาศัยอยู่ในเยลูซาเลมสมัยที่อังกฤษยังปกครองปาเลสไตน์
"ช่วงชีวิตวัยเด็กของฉัน ไม่มีอะไรเลยที่พอจะบอกได้ว่าฉันจะมาจนถึงจุดนี้ ถึงแม้ว่าพ่อแม่และครอบครัวของฉันจะคิดอยู่เสมอว่า ยังมีโอกาสที่ให้เราได้แสดงคุณค่า" โยนาธให้สัมภาษณ์ไปพร้อมกับร้องไห้ไปด้วยความตื่นเต้นดีใจ
โยนาธเป็นหนึ่งในนักวิจัย ที่บุกเบิกการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างผลึกของไรโบโซม ซึ่งเธอสามารถสร้างผลึกไรโบโซมได้เป็นครั้งแรกในปี 2523 และตั้งข้อสังเกตเป็นครั้งแรกว่ามีปริศนาซ่อนอยู่ภายในไรโบโซม ซึ่งเธอมีความอยากรู้อยากเห็นตั้งแต่เด็ก และหลังจากที่ได้อ่านเรื่องราวของกูรีก็จุดประกายความอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวเธอ
"งานวิจัยของเราดำเนินไปตลอดระยะเวลาหลายปี และพัฒนาไปในทิศทางที่แตกต่าง ทุกครั้งที่ฉันคิดว่าฉันกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาที่มีขนาดใหญ่ราวกับยอดเขาเอเวอเรส ทางเดียวที่จะแก้ได้ก็คือฉันต้องค้นพบสิ่งที่ใหญ่กว่าเอเวอเรสที่อยู่ข้างหลังมันเท่านั้น และเมื่อฉันกะเทาะโครงสร้างของไรโบโซมออกมาได้ ฉันสุดแสนจะมีความสุข ฉันมีความสุขมากจริง" โยนาธกล่าว
นอกจากนั้นเอเอฟพียังได้นำข้อความตอนหนึ่งที่โยนาธเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อปี 2551 โดยเธอเล่าว่า ตลอดชีวิตของเธอมีแต่การทดลอง มันเป็นความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องที่แสนจะธรรมดา และครั้งหนึ่งเธอเคยตกจากระเบียงบ้านจนแขนหักเพราะพยายามจะวัดความสูงของระเบียงด้วย
ขอโอกาสให้ผู้หญิงทำงานวิทยาศาสตร์
"ฉันไม่เคยคิดเลยว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือไม่เมื่อฉันได้ทำงานวิทยาศาสตร์ ฉันเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดในครอบครัวที่ยากจนข้นแค้นมาก ขนาดไม่มีหนังสืออ่านสักเล่ม" โยนาธกล่าว
"ผู้หญิงสร้างประชากรขึ้นมามาครึ่งหนึ่ง ฉันคิดว่าประชากรกำลังสูญเสียพลังสมองของมนุษย์ไปครึ่งหนึ่งจากการที่ไม่ส่งเสริมผู้หญิงให้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ผู้หญิงก็สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้หากพวกเธอได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ฉันอยากให้ผู้หญิงได้รับโอกาสทำในสิ่งที่พวกเธอสนใจ จากเรื่องที่พวกเธอสงสัย และฉันอยากให้โลกเปิดโอกาสนั้นให้กับพวกเธอ ซึ่งฉันรู้ว่าในหลายพื้นที่ยังคงคัดค้านเรื่องนี้อยู่" นักวิทย์หญิงรางวัลโนเบลคนแรกของอิสราเอล กล่าว
ทั้งนี้ โยนาธจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยฮิบรู ในเยรูซาเลม (Hebrew University in Jerusalem) และจบปริญญาเอกจากสถาบันไวซ์มันน์ (Weizmann Institute) ในอิสราเอล จากนั้นไปทำวิจัยหลังปริญญาเอกที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) และมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ในสหรัฐฯ
ปัจจุบันโยนาธดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านชีววิทยาโครงสร้างและชีวโมเลกุลอยู่ที่สถาบันไวซ์มัน และอาศัยอยู่กับลูกสาว 1 คน ในเยลูซาเลม