xs
xsm
sm
md
lg

เราคงไม่มี "กล้องดิจิทัล" ใช้กันเกลื่อน ถ้าขาดผลงานนักฟิสิกส์โนเบล '52

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากไม่มีงานวิจัยเริ่มต้นจากจอร์จ สมิธ และ วิลลาร์ด บอยล์ เราอาจไม่มีกล้องดิจิทัลให้ใช้กันเกลื่อนเช่นนี้ (ไฟล์ภาพเอเอฟพี)
นักฟิสิกส์โนเบลปีล่าสุดเผย เราคงถ่ายภาพผิวดาวอังคารไม่ได้ถ้าขาดนวัตกรรม "ซีซีดี" ที่เขาและเพื่อนพัฒนาขึ้น พร้อมระบุได้เห็นคนใช้กล้องดิจิทัลตัวเล็กๆ มากมาย ซึ่งเป็นผลพวงจากองค์ความรู้ที่สร้างขึ้น

"จริงเหรอ?" วิลลาร์ด บอยล์ (Willard Boyle) นักฟิสิกส์เชื้อชาติแคนาดาผู้ถือสัญชาติอเมริกัน วัย 85 ปี จากห้องปฏิบัติการเบลล์ (Bell Laboratories) สหรัฐฯ ถามผู้สื่อข่าวเอเอฟพี หลังเพิ่งทราบผลว่า เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ประจำปี 2552 นี้ และบอกว่าเขาทั้งดีใจสุดขีดและรู้สึกเหลือเชื่อที่ได้รับรางวัล
 
บอยล์ซึ่งรับรางวัลร่วมกับ จอร์จ สมิธ (George Smith) นักฟิสิกส์อเมริกันจากห้องปฏิบัติการเดียวกัน จากผลงานสร้างเซนเซอร์ซีซีดี (charge-coupled device: CCD) เมื่อปี 1969 เผยว่าไม่คาดว่าที่จะได้รับรางวัล หรืออย่างน้อยก็ไม่คาดว่า จะได้รับรางวัลจากเวทีนี้ ซึ่งการได้รับรางวัลโนเบลนั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นจริงๆ
 
ทั้งนี้เขาได้ร่วมกับสมิธผลิตเซนเซอร์ซีซีดี ซึ่งเป็นเหมือน "ตาอิเล็กทรอนิกส์" ของกล้องดิจิทัล และเขายังบอกด้วยว่า ได้เห็นเองกับตาอยู่บ่อยๆ ถึงการนำผลงานของเขาไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง ซึ่งทุกวันนี้เขาได้เห็นว่าทุกคนใช้กล้องดิจิทัลขนาดเล็กในทุกที่ แม้กล้องเหล่านั้นจะไม่ได้ใช้ซีซีดี แต่ก็ถือว่าผลงานของเขาคือจุดเริ่มต้น

กล้องดิจิทัลส่วนใหญ่ของทุกวันนี้ ใช้เซนเซอร์ซีมอส (CMOS) ที่มีประสิทธิภาพขณะที่เซนเซอร์ซีซีดี ถูกใช้เพื่อการถ่ายภาพในขั้นสูงกว่า โดยหนึ่งในการประยุกต์ใช้เซนเซอร์ชนิดนี้ขั้นสูงคือ การติดตั้งกล้องร่วมกับยานสำรวจดาวอังคาร ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของนวัตกรรมของเขา และมีผลต่อเขาโดยตรง

“เมื่อยานสำรวจดาวอังคาร์อยู่บนพื้นผิวดาวอังคาร แล้วใช้กล้องคล้ายๆ ผลงานของเรา ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีนวัตกรรมของเรา" บอยล์กล่าวด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึก ขณะเล่าเขาสามารถมองเห็นผิวดาวอังคารจากที่บ้านเขาเองได้ ซึ่งเป็นผลจากนวัตกรรมของเขานั่นเอง

ทางด้านคณะกรรมการรางวัลโนเบลกล่าวว่า เซนเซอร์ซีซีดีได้ปฏิวัติการถ่ายภาพ โดยตอนนี้เราสามารถจับแสงได้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ แทนใช้ฟิล์มบันทึกภาพ ซึ่งนำไปสู่การใช้ประยุกต์ใช้ในหลายด้าน อย่างการถ่ายภาพภายในร่างกายของมนุษย์ เพื่อวินิจฉัยโรคและการผ่าตัดระดับไมโคร

ส่วนอีกครึ่งของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปีนี้ตกเป็นของ ชาร์ลส เกา (Charles Kao) พลเมืองอังกฤษและสหรัฐฯ จากห้องปฏิบัติการมาตรฐานการสื่อสาร (Standard Telecommunication Laboratories) ในเมืองฮาร์โลว์ สหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ในฐานะผู้สร้างความสำเร็จ ในการบุกเบิกเกี่ยวกับการส่งผ่านแสงในเส้นใยแก้ว เพื่อการสื่อสารด้วยแสง.
ไฟล์ภาพกล้องเอสแอลอาร์จากเอเอฟพี ทั้งนี้ เซนเซอร์ซีซีดี เป็นเหมือนดวงตาอิเล็กทรอนิกส์ของกล้องดิจิทัล
จอร์จ สมิธ รับโทรศัพท์แสดงความยินดีที่บ้าน (เอพี)
วิลลาร์ด บอยล์ (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น