อุปกรณ์ผ่าตัดพังผืด กดรัดเส้นประสาทข้อมือ ช่วยหมอผ่าตัดเล็กได้เร็วขึ้น แผลเล็กลง หายเร็วขึ้น ผลงานออกแบบแพทย์ มอ. คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม เตรียมต่อยอดร่วมกับสถาบันอื่นพัฒนาเครื่องมือผ่าตัดเล็กเพื่อรักษาโรคอื่นๆ ต่อไป
"โรคพังผืดกดรัดเส้นประสาทข้อมือ" เป็นอีกโรคที่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย โดยอาการของโรคนั้น ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ จากภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) อธิบายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เป็นอาการทั่วไป ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุมากขึ้น โดยมากมักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าชาย เป็นสัดส่วน 5.6% ของจำนวนประชากร โดยพบในช่วง 40-50 ปีขึ้นไป มีอาการชาตอนเช้าหรือเมื่อใช้มือมาก แต่ทั้งนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง
การรักษาทำได้ โดยผ่าตัดเอาพังผืดออกแต่ปัญหาคือการผ่าตัดแบบเดิมนั้นต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก ทั้งศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ พยาบาล และใช้เวลาในการผ่าตัดนานถึง 3 ชั่วโมง และในบางกรณีต้องให้ผู้ป่วยดมยาสลบนาน 30-60 นาที หลังผ่าตัดแล้วเกิดขนาดแผลใหญ่ 5-6 เซนติเมตร และผู้ป่วยต้องพักฟื้นนานเกือบเดือน
จากปัญหาดังกล่าว จึงนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายในสำหรับช่วยผ่าตัดพังผืดข้อมือ ซึ่ง ผศ.นพ.สุนทรกล่าวว่า ช่วยให้แพทย์ผ่าตัดได้สะดวกขึ้น สามารถมองเห็นพังผืดที่กดรัดเส้นประสาทแล้วตัดออกได้โดยสะดวก
สำหรับเวลาในการผ่าตัดสั้นลงเหลือประมาณ 8-10 นาที ซึ่งจากเดิมที่ผ่าตัดผู้ป่วย 1 รายใช้เวลา 3 ชั่วโมง ลดเวลาเหลือใช้เวลารักษาผู้ป่วย 3 รายได้ภายใน 1 ชั่วโมง ขนาดแผลเล็กลงเหลือ 1.5-1.8 เซนติเมตร และผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นน้อยลงเหลือเพียง 1 สัปดาห์ โดยค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,500-2,000 บาท ขณะที่การรักษาแบบเดิมนั้นค่ารักษาอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท
เครื่องมือดังกล่าว ซึ่งมีชื่อว่าอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดโรคพังผืดกดรัดเส้นประสาทข้อมือสงขลานครินทร์ (PSU Carpal Tunnel Retractor) มีส่วนปลายที่ใช้สอดเข้าบริเวณที่ต้องการผ่าตัด และมีช่องว่างให้แสงสว่างตกกระทบ ซึ่งช่วยให้แพทย์มองเห็นพังผืดได้ชัดเจนขึ้น อุปรณ์ชิ้นนี้มีข้อดีกว่าอุปกรณ์ผ่าตัดที่ติดกล้องเพื่อส่องดูอวัยวะภายใน
ผศ.นพ.สุนทรกล่าวว่า การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องนั้นทำให้มองเห็นเพียงภาพ 2 มิติ ไม่สามารถเห็นความตื้นลึกได้ ซึ่งมีสถิติ 7% ของผู้ผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องต้องกลับไปผ่าตัดซ้ำ เนื่องจากการผ่าตัดไม่สมบูรณ์
ตอนนี้เครื่องมือดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างทดสอบระดับคลีนิคที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยมีแพทย์รุ่นน้องของ ผศ.ดร.สุนทรได้ทดลองใช้เครื่องมือดังกล่าวด้วย และได้ปรับปรุงมาแล้วทั้งหมด 3 รุ่น เพื่อให้ใช้งานได้ถนัดมือขึ้น
อีกทั้ง มีแผนที่จะร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการพัฒนาเครื่องมือต่อไป ซึ่งอาจพัฒนาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดเล็กกรณีอื่นๆ ต่อไป อาทิ การผ่าตัดข้อศอก เป็นต้น
อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดโรคพังผืดกดรัดเส้นประสาทข้อมือสงขลานครินทร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม ประจำปี 2552 โดยปีนี้รางวัลทางด้านสังคมไม่มีผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2
ส่วนผลงานชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจประจำปีนี้ได้แก่ ระบบชุมสายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ของ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ผลงานเยื่อกระดาษทดแทนจากเศษกระดาษลามิเนทหรือเศษกระดาษสติกเกอร์ ของบริษัท เฟล็กโซ่รีเสร์ท กรุ๊ป จำกัด และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ รบบบริหารการชนส่ง C-Move ของ บริษัท ดี เอ็กซ์ อินโนเวชัน จำกัด