xs
xsm
sm
md
lg

"โครงงานวิทย์" กระตุ้นต่อมความคิด สื่อสร้างสรรค์ของเด็กไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฑิติยา ยะฆะเสม (ขวา) และ นราสิน ปักสังคะเณย์ (ซ้าย) กับโครงงานตรวจสอบปริมาณเชื้อในน้ำดื่มจากขวดพลาสติกที่ใช้งานซ้ำๆ
สำหรับเด็กๆ หลายคน "โครงงานวิทยาศาสตร์" อาจเป็นการบ้านชิ้นโหด แต่ภาระงานในวัยเรียนนี้ ก็ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านประสบการณ์ตรง ที่บางเรื่องอาจแสนธรรมดา แต่ก็เป็นมุมที่เราอาจไม่เคยคิดถึงมาก่อน แล้วโครงงานเหล่านี้เด็กๆ คิดกันขึ้นมาได้ยังไง? ทำไปแล้วจะมีประโยชน์ใดๆ เกิดขึ้นบ้าง

การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในชั้นเรียนแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ส.ว.ท.) ซึ่งการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับภาคกลาง จัดขึ้นภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในแต่ละปี

ในปีนี้ก็เช่นกัน ที่มหกรรมวิทยาศาสตร์ มีผลงานของน้องๆ นักเรียนมาจัดแสดงไว้เป็นจำนวนมาก ทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้ไปสำรวจ "โครงงานวิทย์" ของน้องๆ ทั้งชั้นมัธยมและประถมศึกษา และนำบางผลงานมาเสนอกัน

ขวดน้ำพลาสติกใช้ซ้ำๆ สะสมเชื้อโรค

เรื่องใกล้ตัวอย่างขวดน้ำพลาสติกที่หลายคนนำมากรอกน้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่องจากความสะดวกและประหยัด ซึ่งบางครั้งเราได้ยินคำเตือนเกี่ยวกับสารเคมีที่อาจปนเปื้อนในน้ำขวดพลาสติก เป็นโจทย์ให้ น.ส.ฑิติยา ยะฆะเสม นักเรียน ม.5 จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 พร้อมเพื่อนอีก 2 คน คือ น.ส.นราสิน ปักสังคะเณย์ และ น.ส.ณัฐนันท์ หยิบจันทร์ นำไปพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยหากใช้ขวดพลาสติกซ้ำๆ

โดยนำน้ำจากขวดพลาสติก 4 กลุ่ม ไปเพาะเลี้ยงเชื้อเพื่อดูว่ามีเชื้อปนเปื้อนหรือไม่ ได้แก่ 1.ขวดน้ำที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาดและเติมน้ำโดยไม่เปลี่ยนน้ำเก่าทิ้ง 2.ขวดน้ำที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาดแต่เปลี่ยนน้ำทุกครั้งที่เติมน้ำใหม่ 3.ขวดพลาสติกที่ล้างด้วยน้ำเปล่า และ 4.ขวดพลาสติกที่ล้างด้วยน้ำยาล้างจาน โดยเก็บตัวอย่างไปตรวจในวันที่ 2 วันที่ 4 และวันที่ 6 ซึ่งผลก็ไม่ยากเกินจะคาดเดานัก นั่นคือพบเชื้อมากที่สุดในน้ำจากขวดพลาสติกที่ไม่เคยล้างทำความสะอาดเลย และพบเชื้อเชื้อน้อยที่สุดในน้ำจากขวดที่ล้างด้วยน้ำยาล้างจาน

ต้มน้ำด้วยแสงอาทิตย์

พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานในดวงใจของใครหลายคน รวมทั้งนายนพรัตน์ ตันติชุฬา, น.ส.สายรุ้ง รังษะพรหม และน.ส.กนกวรรณ ผดุงอ้อม ชั้น ม.5 จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี ที่รวมกลุ่มกันทำ โครงงานเรื่อง "พาลาโบลิก ฮีตเตอร์" เพื่อนำพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มาทำให้น้ำเดือด จากการได้ไปทัศนศึกษาดูงานการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

เริ่มจากทดลองสร้างแผ่นโซลาร์ดิสก์โดยนำแผ่นฟรอยด์มาเคลือบไปบนจานดาวเทียม กระทะก้นตื้น กระทะก้นลึก และ แผ่นกระจก เพื่อเป็นอุปกรณ์รับแสงและสะท้อนไปยังฮีตเตอร์โดยรวมแสงให้เป็นจุดเดียว ภายในฮีตเตอร์บรรจุท่อทองแดงขดเป็นรูปตัวยู แล้วกักเก็บน้ำไว้ในท่อ ซึ่งผลการทดลองพบว่า แผ่นโซลาร์ดิสก์แบบพาลาโบลิกที่ทำด้วยจานดาวเทียมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 120 เซนติเมตร มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะทำให้น้ำร้อนขึ้นถึง 100 องศาเซลเซียส และขั้นต่อไปจะติดตั้งไดนาโมผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มเข้าไป เพื่อให้ผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำได้

หมวกห้ามหลับ สัปหงกเป็นร้อง

ทางด้านน้องๆ ชั้นประถมศึกษาก็มีความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้รุ่นพี่ เพราะ ด.ญ.พิชญา อภิรักษ์จรรยา รวมกลุ่มกับ ด.ญ.ณัฐฐา ปานนิสสัย และ ด.ญ.แพรวทอง อุษณะอำไพพงษ์ นักเรียน ชั้น ป.6 โรงเรียนวัดราษฎร์บำรุง (งามศิริวิทยาคาร) ทำโครงงานเรื่อง "อุปกรณ์เตือนความง่วง" สำหรับคนที่มักง่วงนอนและสัปหงกในเวลาเรียน หรือขณะขับรถก็ใช้ได้

จากการสังเกตเพื่อนบางคนที่นั่งหลับในเวลาเรียนมักมีอาการสัปหงก น้องๆ กลุ่มนี้จึงนำชุดแหล่งกำเนิดสัญญาณเสียงสำเร็จรูป มาประกอบเข้ากับหมวกแก็ป และชุดอุปกรณ์ควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะ ที่ออกแบบขึ้นโดยใช้แผ่นทองแดงเป็นตัวนำไฟฟ้า ให้กระแสไหลครบวงจร นำหมวกแก็ปที่ติดตั้งชุดอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วสวมใส่ไว้บนศีรษะ เมื่อศีรษะเคลื่อนไหวในลักษณะคล้ายสัปหงก ชุดแหล่งกำเนิดสัญญาณเสียงจะส่งเสียงเตือนเพื่อไม่ให้ง่วงนอน

ปั่นจักรยานล้างช้อน

ส่วน ด.ช.จิรศักดิ์ เข็มพรหม, ด.ช.ภัทรพงศ์ คงยัง และ ด.ญ.นริศรา เดชดี ชั้น ป.6 จากโรงเรียนวัดอุดมรังสี เกิดความคิดที่จะช่วยโรงเรียนประหยัดน้ำในการล้างผักผลไม้และล้างช้อน จึงทำโครงงานเรื่อง "เครื่องล้างอเนกประสงค์" โดยนำถังพลาสติกทรงกระบอกที่ไม่ใช้แล้ว มาทำเป็นถังล้างด้วยการเจาะรูโดยรอบ และมีแกนกลางเป็นท่อพีวีซีที่ติดขนแปรงเส้นลวดไนลอน นำไปติดตั้งในถังพลาสติกทรงสี่เหลี่ยมที่ทำให้เป็นถังน้ำ และเจาะช่องที่ก้นถังให้เป็นช่องระบายน้ำออก

จากนั้นต่ออุปกรณ์เหล่านี้เข้ากับโครงรถจักรยาน โดยใช้แกนสแตนเลสสอดเข้าข้างในท่อพีวีซีที่เป็นขนแปรง เพื่อต่อเข้ากับเฟืองของรถจักรยาน

วิธีใช้งาน คือให้ผักผลไม้พวกลูกกลม เช่น ส้ม มะนาว มะกรูด ที่ต้องการล้างใส่เข้าไปในถังล้างแล้วเติมน้ำลงไป หรือหากล้างช้อนส้อมก็เติมน้ำยาล้างจานลงไปด้วย แล้วปั่นจักรยานให้แปรงหมุนขัดทำความสะอาดสิ่งที่เราต้องการล้าง ซึ่งน้องๆ เจ้าของผลงานรับประกันว่าล้างสะอาดแน่นอน ทั้งยังช่วยประหยัดน้ำ ประหยัดเวลา และได้ออกกำลังกายไปในตัวด้วย

โครงงานวิทย์ฝึกความคิดจากเรื่องใกล้ตัว

ที่ยกมาให้ชมเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของโครงงานวิทยาศาสตร์จากความคิดของเด็กไทย นอกจากกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่พวกเขาจะได้จากการทำโครงงานแล้ว ยังอาจได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในเวทีต่างๆ ด้วย

สำหรับโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ดี และมีสิทธิ์โดนใจคณะกรรมการนั้น ศ.ดร.ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ บอกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยากหรือใช้วัสดุอุปกรณ์ไฮเทคมากมาย แต่อาจเป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องในชีวิตประจำวัน หรือปรากฏการณ์ในธรรมชาติที่เอาวิทยาศาสตร์เข้าไปอธิบายได้ โดยมีการศึกษา ทดลอง และวิเคราะห์ผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หรือแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นนวัตกรรมใหม่

ทั้งนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานสำคัญ หากประเทศไทยอยากแข่งขันได้ในเวทีโลก ก็ต้องสนับสนุนวิทยาศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่เด็ก ชักชวนให้เด็กๆ สนใจเรียนวิทยาศาสตร์ และรู้จักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แม้ในอนาคตจะไม่ได้ไปประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่วิทยาศาสตร์มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ต้องอาศัยหลักการและเหตุผลเพื่อช่วยอธิบายสิ่งที่อยู่รอบตัวเราได้

โครงงานวิทยาศาสตร์ก็เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการตั้งโจทย์ และอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แก้ปัญหา โดยมีการศึกษาข้อมูล หลักทฤษฎี มีการทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานที่ตั้งไว้ และคิดหาวิธีการใหม่ๆ ที่ช่วยให้แก้ปัญหาได้
ศ.ดร.ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์
จากซ้าย นายนพรัตน์ ตันติชุฬา, น.ส.สายรุ้ง รังษะพรหม และน.ส.กนกวรรณ ผดุงอ้อม กับโครงงานทำน้ำร้อนด้วยพาราโบลิก ฮีตเตอร์
ด.ญ.พิชญา อภิรักษ์จรรยา กับอุปกรณ์เตือนความง่วง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนที่มักง่วงในระหว่างเรียนหนังสือ
ด.ช.จิรศักดิ์ เข็มพรหม (นั่งบนจักรยาน) และ ด.ช.ภัทรพงศ์ คงยัง กับเครื่องล้างเอนกประสงค์
กำลังโหลดความคิดเห็น