xs
xsm
sm
md
lg

"การเดินทางของกิ้งกือ" โครงงานวิทย์อันสุดเลื่องลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรารู้ว่ากิ้งกือมีขามากมาย แต่มีสักกี่คนที่ตั้งคำถามที่นำไปสู่โครงงานวิทยาศาสตร์ที่ตอบข้อสงสัยของตัวเองได้
แม้ว่าจะมี "โครงงานวิทยาศาสตร์" ออกมาโชว์ตามเวทีประกวดความสามารถของเด็กๆ กันมากมาย แต่คงไม่มีโครงงานไหนที่ถูกจับจ้องจากคนไทยมากไปกว่า "การเดินทางของกิ้งกือ" โครงงานวิทยาศาสตร์ ม.ปลายที่ออกไปคว้ารางวัลพิเศษจากเวทีประกวดโครงงานระดับโลกกลับฝากคนไทยเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา

“เดินทางไปกับกิ้งกือ” (Walking with a Millipede) เป็นโครงงานของนักเรียน ม.ปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ได้รับรางวัลพิเศษจาก “ซิกมา ไซ” (Sigma Xi) องค์การทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก ในเวทีประกวดโครงงานนักเรียนระดับโลกที่งาน “อินเทลไอเซฟ” (Intel ISEF-International Science and Engineer fair2004) สหรัฐฯ เมื่อปี 2547 เนื่องจากผลงานที่บูรณาการความรู้หลากหลายสาขา ทั้งชีววิทยา ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์เกิดเข้าตากรรมการ

แนวคิดโครงงานเกิดจากความสงสัยเล็กๆ ของสมาชิกในทีมหลังจับกิ้งกือมาหยอกล้อเพื่อนในห้องเรียนว่า กิ้งกือมีกลไกการเดินอย่างไรขาจึงไม่พันกัน นำไปสู่แบบจำลองที่อธิบายลักษณะการเดินของกิ้งกือได้ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ และจากความรู้ดังกล่าวสมาชิกในทีมมีทั้งหมด 3 คน คือ นายณัฐดนัย ปุณณะนิธิ นายภูมิยศ วิมลกิตติวัฒน์ และนายจารุพล สถิรพงษะสุทธิ ได้นำไปทำกลไกที่เลียนลักษณะการเดินของกิ้งกือ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความรู้ที่ได้มานั้นนำไปใช้งานได้

หลังจากโครงงานกิ้งกืออันลือลั่นแล้ว ปีถัดๆ มายังมีอีกหลายโครงงานวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยที่ไปคว้ารางวัลบนเวทีเดียวกัน และบางโครงงานได้รับรางใหญ่กว่า อาทิ โครงงานการแตกตัวของฝักต้อยติ่งของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเช่นกันได้รางวัล “แกรนด์อะวอร์ด” และชื่อสกุลของเด็กเจ้าของโครงงานก็ได้รับเกียรตินำไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อยด้วย แต่หากคนไทยด้วยกันแล้ว เชื่อว่าโครงงานกิ้งกือคือโครงงานอันดับต้นๆ ที่หลายคนจะนึกถึง
ภาพสมาชิกทีมโครงงานกิ้งกือเมื่อครั้งเดินทางนำโครงงานไปแข่งขัน (ขวาไปซ้าย) นายณัฐดนัย ปุณณะนิธิ นายภูมิยศ วิมลกิตติวัฒน์ และนายจารุพล สถิรพงษะสุทธิ
กำลังโหลดความคิดเห็น