ลุ้นระทึก ดาวยักษ์แดงที่กำลังจะหมดอายุขัยลงพร้อมกับการเกิดซูเปอร์โนวา จะกลายเป็นอะไร ระหว่าง "หลุมดำ" และ "พัลซาร์" ร่วมเป็นประจักษ์พยานกับเหตุการณ์ที่หาดูได้ยากและหาตอบวาระสุดท้ายของดวงดาวไปพร้อมกับ มาร์คุส, ดร.ซาริน และ WLR 309 ในหนังวิทย์ 3 มิติ สุดตื่นเต้น "After Stars"
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้ติดตามชมรายการ "อาย ออฟ เดอะ ยูนิเวิร์ส" (ดวงตาแห่งจักรวาล) ของดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในเอกภพ ที่เตรียมการถ่ายทอดสดการเกิด "ซูเปอร์โนวา" หรือการระเบิดของดาวยักษ์แดง MB 8782 ที่หมดอายุขัยลง โดยมีมาร์คุสเป็นผู้ดำเนินรายการอย่างลุ้นระทึกไปกับเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งในจักรวาล
มาร์คุส ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ดาวยักษ์แดง MB 8782 มีอายุ 12 ล้านปี ซึ่งเป็นดั่งเตาหลอมนิวเคลียร์ขนาดยักษ์ ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราถึง 20 เท่า และเช่นเดียวกับดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ ทั่วไปที่ได้พลังงานจากการหลอมรวมไฮโดรเจนเป็นฮีเลียม สำหรับดาวฤกษ์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ จะค่อยๆ ใช้ไฮโดรเจนหมดไปอย่างช้าๆ เป็นเวลากว่า 10,000 ล้านปี แต่ดาว MB 8782 มีขนาดใหญ่มาก จึงเผาผลาญเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หมดไปอย่างรวดเร็ว ด้วยอุณหภูมิที่สูงมหาศาล
ตลอดเวลาที่ผ่านมา MB 8782 ได้สร้างชั้นของธาตุขึ้นภายใน และเมื่อประมาณสัปดาห์ที่แล้ว MB 8782 ได้เริ่มต้นกระบวนการหลอมรวมซิลิกอนเป็นเหล็ก ซึ่งเป็นโชคร้ายของ MB 8782 เพราะนี่คือสัญญาณบ่งบอกถึงจุดจบของมัน เมื่อซิลิกอนถูกใช้จนหมด พื้นผิวชั้นนอกของดาวจะยุบตัวลงอย่างรวดเร็ว และเกิดระเบิดขึ้น สาดมวลสารชั้นนอกออกไป ซึ่งการระเบิดครั้งมหึมานี้เรียกว่า "ซูเปอร์โนวา" แต่นี่ไม่ใช้ข่าวร้ายไปเสียทั้งหมด เพราะการตายของดาวได้สร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมากมาย และอะไรคือเจ้าสิ่งนั้น ดร.ซาริน และ WLR 309 จะช่วยตอบคำถามนี้ได้
มาร์คุส ตัดสัญญาณไปที่ ดร.ซาริน นักวิทยาศาสตร์สาวที่เฝ้าสังเกตการณ์และเตรียมบันทึกจุดจบของดาวยักษ์แดง MB 8782 อยู่ที่หอสังเกตการณ์สถานีแอลฟาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อีกมากมาย โดย ดร.ซาริน แสดงความเห็นว่า ดาวยักษ์แดง MB 8782 จะกลายเป็นอะไรหลังเกิดซูเปอร์โนวา ขึ้นอยู่กับว่ามีก๊าซเท่าไหร่ที่ถูกสาดออกมาในขณะเกิดซูเปอร์โนวา ซึ่งเธอคาดว่า MB 8782 จะจบลงด้วยการกลายเป็นพัลซาร์ เพราะว่าดาวนี้แทบทุกดวงที่ระเบิดขึ้น จะสร้างแกนนิวตรอน ซึ่งเกือบทั้งหมดจะกลายเป็นพัลซาร์
ดร.ซาริน อธิบายถึงพัลซาร์ว่า สสารทุกอย่างสร้างขึ้นจากโปรตรอนที่มีประจุบวก อิเล็กตรอนที่มีประจุลบ และนิวตรอนที่เป็นกลาง ระหว่างการระเบิด แกนกลางของดาวเป็นสถานที่ที่มีอุณหภูมิและความดันสูงสุดขั้ว ซึ่งเป็นสภาวะที่สามารถเร่งโปรตรอนและอิเล็กตรอนให้หลอมรวมกันกลายเป็นนิวตรอนได้
ภายหลังการระเบิด จะหลงเหลือแกนกลางที่เล็กและหมุนด้วยอัตราที่เร็วมาก ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นนิวตรอน และนี่ก็คือพัลซาร์ ซึ่งเราสามารถตรวจจับดาวนิวตรอนเหล่านี้ได้ไม่ยากด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ เพราะพัลซาร์ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมาในรูปคลื่นวิทยุ และคลื่นวิทยุนี้จะถูกสาดออกมาเป็นลำด้วยอำนาจของสนามแม่เหล็กที่รุนแรงมากรอบพัลซาร์ คล้ายกับเป็นประภาคารแห่งเอกภพเลยก็ว่าได้
ทางด้านหุ่นยนต์หนู WLR 309 ที่มาร่วมลุ้นในรายการด้วย มีความเห็นต่างออกไป โดยมั่นใจว่า ดาวยักษ์แดง MB 8782 จะกลายเป็น "หลุมดำ" ซึ่งจากการคำนวณของ WLR 309 คิดว่าดาว MB 8782 ใหญ่เกินไปที่จะจบลงด้วยพัลซาร์
เพราะถึงแม้ว่ามวลสารส่วนใหญ่จะถูกสาดออกไป แต่มวลสารที่ยังเหลืออยู่ก็ยังหนักเกินกว่าที่ดาวจะคงรูปอยู่ได้ ดาวจะยุบตัวลงอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียงจุดจุดเดียว และสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ "หลุมดำ" ซึ่งหลุมดำที่มีมวลมากกว่าดาวถึง 10 เท่า จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของขอบฟ้าเหตุการณ์เพียง 60 กิโลเมตร เท่านั้น
ที่เรียกว่าหลุมดำ เพราะว่าไม่มีอะไรสามารถออกมาจากแรงดึงดูดที่มหาศาลของมันได้ ไม่แม้แต่แสง โดยลองนึกถึงจรวดที่จะเดินทางออกจากโลก จรวดจะต้องมีความเร็วถึงค่าค่าหนึ่งจึงจะหลุดพ้นจากแรงโน้มของโลกได้ ซึ่งเรียกค่าความเร็วเท่านี้ว่า ความเร็วหลุดพ้น ยิ่งดาวมีมวลมากเท่าไหร่ ก็จะต้องอาศัยความเร็วหลุดพ้นมากขึ้นเท่านั้น มิฉะนั้นแรงดึงดูดก็จะถึงจรวดตกกลับสู่พื้นผิวดาว
สำหรับหลุมดำแล้ว มันมีความเร็วหลุดพ้นมากกว่าความเร็วของแสง ซึ่งในเอกภพนี้ไม่มีอะไรเคลื่อนที่เร็วกว่าแสง และเมื่อแสงไม่สามารถหนีออกมาจากหลุมดำได้ ก็เลยทำให้มันดำ และหลุมดำจะดูดสิ่งที่อยู่ใกล้กับขอบฟ้าเหตุการณ์เข้าไปด้วย
มาร์คุสตัดสัญญาณกลับเข้ามาในรายการอีกครั้ง เตรียมลุ้นระทึกกับชะตากรรมสุดท้ายของดาวยักษ์แดงดวงนี้ ซึ่งขณะนี้ MB 8782 ได้เข้าสู่ระยะสุดท้ายของการเผาผลาญซิลิกอนแล้ว และอีกไม่กี่วินาทีเราจะได้รู้ถึงจุดจบของ MB 8782 กันแล้ว พื้นผิวดาวจะยุบตัวลงอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นเพียงมิลลิวินาทีดาวจะระเบิดออก และสว่างจ้าขึ้นเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ (มาร์คุส, ดร.ซาริน และ หุ่นยนต์หนู WLR 309 ต่างลุ้นระทึกไปพร้อมกันกับผู้ชม)
ถึงเวลาแล้ว....ซูเปอร์โนวา!....ตูมมมมมม
จุดจบของดาวยักษ์แดง MB 8782 จะเป็นอะไร ระหว่าง "หลุมดำ" หรือ "พัลซาร์" และใครคือผู้ที่คาดการณ์ถูกต้อง ระหว่าง ดร.ซาริน หรือ WLR 309 ไปค้นหาคำตอบได้ในกิจกรรมตะลุยอวกาศ กับภาพยนตร์ 3 มิติ เรื่อง "หลังสิ้นดาว" (After Stars) ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2552 บริเวณโซนนิทรรศการเอกภพวิทยา
ทั้งนี้ กิจกรรมตะลุยอวกาศกับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ 3 มิติ ในงานมหกรรมวิทย์ ฉายภาพยนตร์ 3 มิติ ที่จะทำให้ผู้ชมได้ความรู้ไปพร้อมกับความสนุกตื่นเต้นราวกับนั่งอยู่ในยานอวกาศที่กำลังออกไปสำรวจเอกภพ สำหรับโรงตะลุยอวกาศ 1 ฉายภาพยนตร์เรื่องราวการผจญภัยสำรวจดวงดาวในระบบสุริยะ ที่สร้างโดยฝีมือคนไทย
ส่วนตะลุยอวกาศ 2 มีทั้งหมด 9 เรื่อง จากออสเตรเลีย ได้แก่ After Stars หลังสิ้นดาว, Our Sun What a Star พระอาทิตย์ของเรา, Spinning in Space หมุนในอวกาศ, Extremeplaces สถานที่สุดขั้ว, Elysium 7 ยานอวกาศ "อีลายสิอุ้ม 7", Bigger than Big ใหญ่กว่าใหญ่, Detective สุดยอดนักสืบ, The Little Things สิ่งอันเล็กน้อย และ Realizing Einstein's Universe จักรวาลของไอน์สไตน์
ผู้สนใจสามารถไปชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ 3 มิติ สุดตื่นเต้นเหล่านี้กันได้ในงานมหกรรมวิทย์ 52 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 2-8 ระหว่างวันที่ 8-23 ส.ค. 2552 โดยเปิดฉายให้ชมกันทุกวัน วันละ 14 รอบ/โรง รอบละ 70 ที่นั่ง ตั้งแต่เวลา 9.30-18.30 น.