xs
xsm
sm
md
lg

3 คนวงการเคมีได้รับตำแหน่งนักวิทย์รุ่นใหม่ '52

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.อมรชัย อาภรณ์วิชานพ
3 คนรุ่นใหม่วงการเคมีรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ปี 52 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เตรียมเข้ารับพระราชทานโล่จากสมเด็จพระเทพฯ วันวิทยาศาสตร์นี้

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผู้ได้รับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่" ประจำปี 2552 โดยมีพิธีประกาศร่วมกับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ณ โรงแรมสยามซิตี เมื่อวันที่ 30 ก.ค.52 ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมในงานดังกล่าวด้วย ดังนี้

ผศ.ดร.อมรชัย อาภรณ์วิชานพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศึกษาทางด้านวิศวกรรมระบบและการควบคุม โดยนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ ระเบียบวิธีการคำณวนเชิงตัวเลข และคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ปรับปรุงและออกแบบกระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปฏิกรณ์เคมี หอกลั่นแบบมีปฏิกิริยา และเครื่องตกผลึก

ดร.อมรชัยได้ทำวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหา และปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิต และยังพัฒนาด้านเซลล์เชื้อเพลิงสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ โดยวิเคราะห์และปรับปรุงสมรรถนะเซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์แข็ง ร่วมกับกระบวนการการผลิตไฮโดรเจน

ผศ.ดร.ธรรมนูญ ศรีทะวงศ์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิจัยเรื่องการสังเคราะห์และพัฒนาโลหะออกไซด์ ที่มีขนาดผลึกในระดับนาโนเมตร โดยประยุกต์ใช้โลหะออกไซด์ในปฎิกิริยาแบบใช้แสงร่วม สำหรับแยกโมเลกุลน้ำเพื่อผลิตพลังงานไฮโดรเจน และผลิตไซโคลเฮกซีนออกไซด์ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

นอกจากนี้ ดร.ธรรมนูญ ยังได้วิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับการสังเคราะห์และเปลี่ยนรูปสารเคมี และเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับการผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากน้ำเสียอุตสาหกรรม

ผศ.ดร.สุรัตน์ ละภูเขียว สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของสมุนไพร โดยสามารถแยกองค์ประกอบได้มากกว่า 80 สาร และเป็นสารใหม่มากกว่า 20 สาร บางสารก็แสดงฤทธิ์ที่น่าสนใจ เช่น อนุพันธุ์ของสารประกอบแอนทราควิโนนที่แยกได้จากผลติ้วเกลี้ยง มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคมาลาเรียได้

ปัจจุบัน ดร.สุรัตน์ได้มุ่งศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชวงศ์ส้ม (Rutaceae) เช่น มะไฟจีน มะตูม มะขวิด และมะแขว่น เป็นต้น เพราะมีมากในแถบภาคเหนือ อันเป็นสถานที่ทำงาน และบางส่วนของพืชวงศ์นี้สามารถช่วยรักษาโรค อาทิ รากมะตูมต้มน้ำดื่ม รักษามาลาเรียได้ หรือใบมะแว่นแก้รำมะนาด ปวดฟัน เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ทั้ง 3 คน พร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2552 อีก 2 คน จากการคัดเลือกของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 18 ส.ค.52 ซึ่งตรงกับวันวิทยาสาสตร์แห่งชาติ และจะมีพิธีแสดงความยินดีในเย็นวันเดียวกันนั้น ณ โรงแรมสยามซิตี

***
รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
คัดเลือกบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถสมัครด้วยตัวเอง หรือผู้ทรงคุณวุฒิเสนอชื่อ โดยจะต้องมีผลงานวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง และมีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ไม่น้อยกว่า 3 เรื่อง

ผู้ที่ได้รับพิจารณาเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ต้องมีคุณธรรมและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี พร้อมทั้งวิจัยและพัฒนาเพื่อวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง โดยจะได้รับเงินรางวัลรางวัลละ 100,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน
ผศ.ดร.ธรรมนูญ ศรีทะวงศ์
ผศ.ดร.สุรัตน์ ละภูเขียว
กำลังโหลดความคิดเห็น