กว่าจะได้ยาลูกกลอนกลมกลึงแต่ละเม็ด หรือยาสมุนไพรบรรจุแคปซูลแต่ละเม็ด หลายคนมักคิดว่าคนสมัยก่อนมีความพยายามบรรจงปั้นยาลูกกลอนกันทีละเม็ด และค่อยๆ นำผงยาสมุนไพรใส่ลงในแคปซูลทีละแคปซูล แต่ที่จริงการผลิตยาสมุนไพรในสมัยโบราณก็มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย (ในสมัยนั้น) ช่วยทุ่นแรงด้วยเหมือนกัน ตามไปดูกันได้ใน "พิพิธภัณฑ์พืชสมุนไพร"
ระหว่างเยี่ยมชมผลงานวิจัยของสถานีวิจัยลำตะคอง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานีวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่มีพื้นที่กว่า 800 ไร่ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ได้มีโอกาสท่องไปในสวนสมุนไพร วว. เฉลิมพระเกียรติฯ และพิพิธภัณฑ์พืชสมุนไพร ที่เป็นส่วนหนึ่งของสถานีวิจัยแห่งนี้ที่จัดไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์พืชสมุนไพรและให้ความรู้เรื่องสมุนไพรแก่ประชาชน
นายสุรสิทธิ์ วงษ์สัจจานันท์ นักวิชาการ สถานีวิจัยลำตะคอง ให้ข้อมูลว่า สวนสมุนไพร วว. เฉลิมพระเกียรติฯ มีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2542 ซึ่งภายในบริเวณนี้ได้รวบรวมพืชสมุนไพรของท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศที่มากกว่า 300 ชนิด ให้ผู้ที่สนใจมาชมและศึกษากัน ซึ่งบางชนิดหายากมาก เช่น มังกรห้าเล็บ สมุนไพรบำรุงไต รักษาโรคตับ ที่มักพบในป่าแถวจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็นำมาปลูกไว้ที่นี่ หรือตะขาบบิน พืชสมุนไพรที่ชื่อไม่ค่อยคุ้นหูคนทั่วไปนัก แต่ใช้ถอนพิษแมงป่อง ตะขาบ แก้ฟกช้ำได้ผลชะงัด
สมุนไพรบางชนิดหายากและไม่สามารถปลูกให้เจริญเติบโตได้ในพื้นที่ต่างถิ่น ก็มีตัวอย่างแห้งใด้ดูด้วยภายในพิพิธภัณฑ์พืชสมุนไพร เช่น หินระเบิด ที่พบในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ปัจจุบันหายากมาก เนื่องจากมีการใช้ส่วนของลำต้นเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของยาสมุนไพรทุกชนิด โดยมีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลในร่างกาย และแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ส่วนพืชสมุนไพรอื่นๆ ที่รู้จักกันดีและมีปลูกอยู่ในสวนสมุนไพรด้วย เช่น การบูร, เพชรสังฆาต, หางไหลแดง, ดีปลี, เหงือกปลาหมอ, สมอพิเภก, บอระเพ็ดพุงช้าง, แป๊ะตำปึง, กอมก้อลอดขอน, รำเพย, และทับทิม เป็นต้น
ภายในพิพิธภัณฑ์พืชสมุนไพรยังให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติการแพทย์แผนไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน พร้อมจัดแสดงตัวอย่างของพืชสมุนไพรไทยที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรค โดยให้ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ และสรรพคุณทางยา
นอกจากนี้ยังจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตยาสมุนไพรของไทยที่แสดงให้เห็นวิวัฒนาการการผลิตและการใช้ยาสมุนไพรของคนไทยในอดีต เช่น เครื่องทำยาลูกกลอน ที่ช่วยให้ไม่ต้องปั้นยาลูกกลอนทีละเม็ด, เครื่องบรรจุยาแคปซูล ที่ไม่ต้องบรรจงบรรจุทีละแคปซูล, เครื่องหั่นสมุนไพร ที่ช่วยหั่นส่วนลำต้นหรือกิ่งก้านพืชสมุนไพรสดได้เป็นอย่างดี และเครื่องอัดเม็ดยา เป็นต้น
หากใครสนใจใคร่รู้เรื่องราวของสมุนไพรไทยตั้งแต่ครั้งโบราณ หรือผ่านไปเส้นทางแถวนั้น ก็สามารถแวะเวียนเข้าไปเดินเที่ยวชมกันได้ทั้งในส่วนของสวนสมุนไพร วว. เฉลิมพระเกียรติฯ และพิพิธภัณฑ์พืชสมุนไพร ที่ตั้งอยู่ภายในสถานีวิจัยลำตะคอง ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตามวันและเวลาราชการ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. 044-390107