ท่ามกลางฤดูฝนที่ฟ้าคะนองอยู่บ่อยครั้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะรู้จักวิธีป้องกันตัวเองจาก "ฟ้าผ่า" ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำสาบาน
ทั้งนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้รับเอกสาร "ฟ้าผ่า-ข้อเท็จจริงที่ควรรู้" ซึ่งจัดทำขึ้นโดย ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย และ สำนักสื่อสารสาธารณะและบริการประชาชน สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่น้อย
เพื่อความปลอดภัยจากฟ้าผ่า ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง เช่น ทุ่งนา สนามกอล์ฟ สระน้ำ สนามกอล์ฟ เป็นต้น แต่หากเลี่ยงไม่ได้...ปฏิบัติดังนี้
กรณีอยู่ที่โล่งแจ้ง
- อย่าอยู่รวมกลุ่ม
- อย่าอยู่ใต้ต้นไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ หากมีต้นไม้รวมเป็นกลุ่มให้เลือกต้นเตี้ยๆ
- อย่าอยู่ที่สูง หรือชูของสูง เช่น ร่ม เบ็ดตกปลา ถุงกอล์ฟ
- ถอดวัตถุที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย
- อย่าอยู่ในสระน้ำหรือแหล่งน้ำ
- อย่าอยู่ในตู้โทรศัพท์สาธารณะ
- หลีกเลี่ยงวัตถุที่เป็นโลหะ
ที่สำคัญ อย่านอนราบ แต่ให้นั่งยองๆ เท้าชิด มือปิดหู เขย่งปลายเท้า ซึ่งเป็นท่านั่งลดอันตรายจากฟ้าผ่า ลดความเสี่ยงกรณีกระแสจากฟ้าผ่าไหลมาตามพื้น
กรณีอยู่ในรถ
- อย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ โดยนั่งกอดอกหรือวางมือบนตัก
- ปิดหน้าต่างทุกบาน
- อย่าจอดใต้ต้นไม้ใหญ่
- อย่าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์แฮนด์ฟรี
กรณีอยู่ในอาคาร
- ปิดประตู หน้าต่าง และเข้าไปอยู่ในห้องชั้นในซึ่งปลอดภัยกว่าห้องที่มีทางออกภายนอก และอาคารที่มีสายล่อฟ้าปลอดภัยกว่าอาคารที่ไม่มี
- หลีกเลี่ยงจุดที่ไฟสามารถวิ่งเข้าถึงได้ผ่านสายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ และท่อน้ำ
- ถอดสายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ สายโมเด็ม ก่อนเกิดฝนฟ้าคะนอง
- อย่าใช้โทรศัพท์แบบมีสายในอาคาร เนื่องจากกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าจะวิ่งผ่านอุปกรณ์ด้านนอกอาคารที่ต่อกับสาย โทรศัพท์ แล้วเข้ามาทำอันตรายผู้ใช้โทรศัพท์ได้โดยตรง
สัญญาณเตือนฟ้าผ่า
- สัญญาณจากร่างกาย เมื่อรู้สึกขนลุกหรือเส้นผมตั้งขึ้น แสดงว่ากำลังเสี่ยงถูกฟ้าผ่า เนื่องจากขนและเส้นผมถูกเหนี่ยวนำอย่างแรง
- สัญญาณ 30/30 โดยเลข 30 แรก หมายถึง หากเห็นสายฟ้าแลบแล้วตามด้วยเสียงฟ้าาร้องในเวลาไม่เกิน 30 วินาที แสงดว่าเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ใกล้มากพอที่ฟ้าผ่าจะทำอันตรายเราได้ ดังนั้น ให้หาที่หลบที่ปลอดภัยทันที ส่วนเลข 30 หลัง หมายถึง หลังฝนหยุดตกและไม่มีเสียงฟ้าร้องแล้ว ให้หลบอยู่ในที่ปลอดภัยอย่างน้อย 30 นาที ทั้งนี้แม้ช่วงท้ายของฝนฟ้าคะนองและอยู่ห่างในระยะ 30 กิโลเมตรแล้วก็อาจเกิดฟ้าผ่าได้.