xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจ "หน้ากากอนามัย" เลือกแบบไหนป้องกันได้ตรงใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ในยามนี้คือ เมื่อป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจก็สวมหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อแพร่กระจายสู่ผู้อื่น ซึ่งองค์การอนามัยโลกบอกว่าจะช่วยลดเชื้อโรคแพร่กระจายได้มากถึง 80% (ภาพ AFP)
หน้ากากอนามัยกลายเป็นสินค้าขายดีขึ้นมาทันทีในหมู่คนไทย เมื่อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่กระจายไปในกลุ่มคนจำนวนมากขึ้น แต่หน้ากากอนามัยไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว และหลายคนเชื่อว่าหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันได้ ขณะที่บางคนอาจสงสัยว่าจะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้มากน้อยแค่ไหนกันเชียว

ในช่วงระหว่างวันที่ 22-28 มิ.ย.52 นี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นสัปดาห์แห่งการรณรงค์การใช้หน้ากากอนามัยในโรงพยาบาล เพื่อรณรงค์ให้ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมาติดต่อกับโรงพยาบาล และส่งเสริมให้บุคคลากรในโรงพยาบาล เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชนในการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจ ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า การใส่หน้ากากอนามัยจะช่วยลดการแพร่กระจายของละอองเล็กๆ จากการไอจามที่มีเชื้อโรคอยู่ ได้ถึงร้อยละ 80

หน้ากากอนามัยสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือร้านชายเวชภัณฑ์ทั่วไป ซึ่งบางร้านอาจมีจำหน่ายเพียงชนิดเดียว ขณะที่บางร้านอาจมีให้เลือกมากมายหลายชนิด ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจหน้ากากอนามัยในร้านขายยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พบว่าร้านค้าส่วนใหญ่จะจำหน่ายหน้ากากอนามัยชนิดที่ทำจากเยื่อกระดาษ 3 ชั้น และหน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้าฝ้าย และมีบางร้าน เช่น ร้านขายยาขององค์การเภสัชกรรม และร้านมงกุฎเวชภัณฑ์ ที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยแบบ N95 ด้วย

หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นได้ดี สามารถป้องกันของเหลวซึมผ่านได้ ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจากการไอหรือจาม ซึ่งหน้ากากอนามัยประเภทนี้ อาจสามารถป้องกันผู้สวมใส่จากเชื้อโรคได้ในจำพวกเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา แต่หากเป็นเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากในระดับไมครอน อาจจะไม่สามารถป้องกันได้ และไม่ควรมีการนำมาใช้ซ้ำ ควรเปลี่ยนหน้ากากใหม่ทุกวัน โดยมีราคาชิ้นละประมาณ 5 บาท

หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้าฝ้าย เน้นใช้สำหรับป้องกันฝุ่นละออง และป้องกันการกระจายของน้ำมูกหรือน้ำลายจากการไอจาม แต่อาจไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัยกระดาษ และสามารถซักทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยราคาประมาณชิ้นละ 5-10 บาท

หน้ากากอนามัยชนิด N95 เป็นหน้ากากอนามัยที่ยอมรับกันในขณะนี้ว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ดีที่สุด เพราะป้องกันได้ทั้งฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอน และมีอายุการใช้งานนานประมาณ 3 สัปดาห์ แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรจะเปลี่ยนใหม่ทุกวัน ราคาชิ้นละประมาณ 30-50 บาท

สำหรับหน้ากากป้องกันมลพิษ สามารถป้องกันฝุ่นละออง ควันพิษ ไอเสียรถยนต์ และไอระเหยของสารเคมีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทว่าไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ ฉะนั้นจึงไม่เหมาะที่จะนำมาสวมใส่เพื่อป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ

เมื่อหน้ากากอนามัยในท้องตลาดมีให้เลือกมากมายเช่นนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ จึงได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน ซึ่งบอกว่า หน้ากากอนามัยสามารถช่วยป้องกันเชื้อโรคได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากขอบของหน้ากากอนามัยทั่วไป (หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น/หน้ากากผ่าตัด หรือ surgical mask) ยังไม่มิดชิดเข้ากับผิวหน้าของผู้สวมใส่ เชื้อโรคจึงสามารถเล็ดลอดผ่านบริเวณดังกล่าวได้ ทั้งนี้ หน้ากากอนามัยแบบN95 ถือว่ามีความมิดชิดมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมใหม่อย่าง เครื่องกรองอากาศแบบสอดจมูก ซึ่งฉีกไปจากหน้ากากอนามัยรูปแบบเดิม เพราะมีขนาดเล็กที่สามารถสอดเข้ากับรูจมูกได้โดยตรง แถมผู้ผลิตยังให้ข้อมูลว่ามีระบบฟิลเตอร์นาโน (Nano Filter) ที่สามารถกรองฝุ่นละอองและยับยั้งเชื้อโรคในอากาศชนิดต่างๆ ได้ทั้งเชื้อราและเชื้อไวรัส โดยมีราคาประมาณ 3 ชิ้น 50 บาท และอายุการใช้งานนานประมาณ 40-50 ชั่วโมง ซึ่ง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า ถ้าจะใช้ป้องกันเชื้อโรคอาจได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากเชื้อโรคยังสามารถเข้าทางปากได้ ทางที่ดีจึงควรปิดทั้งปากและจมูก

ที่สำคัญการสวมใส่หน้ากากอนามัยสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ สามารถช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากการไอจามได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นผู้ที่ป่วยหรือไม่สบายจึงควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นอย่างยิ่ง และควรเปลี่ยนหน้ากากใหม่ทุกวัน ไม่ควรใช้ซ้ำของเดิม และก่อนการสวมใส่หรือถอดหน้ากากอนามัยนั้นควรล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง เนื่องจากมือของเราสัมผัสกับสิ่งต่างๆ มากมาย จึงเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคจำนวนมาก

ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า หน้ากากอนามัยประเภทไหนป้องกันเชื้อโรคขนาดเล็กได้กี่ไมครอน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ชี้ว่าควรจะมีหน่วยงานกลางตรวจสอบและให้การรับรองด้วย เช่นเดียวกับยาทากันยุง ที่ต้องตรวจสอบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันยุงเข้าใกล้ได้ในระยะกี่เมตร และนานกี่ชั่วโมง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โรคไข้หวัดใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคติดเชื้อที่เกิดจากการหายใจเอาอนุภาคที่ติดเชื้อเข้าไป โดยอนุภาคที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อนี้มีขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอน และเมื่อผู้ป่วยไอหรือจามออกมาอนุภาคมักกระจายไปในระยะไม่เกิน 3 ฟุต (Droplet precautions) ฉะนั้นเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จึงมักปนเปื้อนมากกับละอองน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ป่วย ซึ่งหน้ากากอนามัยทั่วไปสามารถป้องกันละอองเหล่านี้ได้

ส่วนโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่เกิดจากการหายใจเอาอนุภาคที่ติดเชื้อเข้าไป โดยอนุภาคที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อนี้มีขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน เช่น วัณโรค และ โรคทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน (ซาร์ส) อนุภาคเหล่านี้สามารถฟุ้งกระจายไปได้ไกลและอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน (Airborne precautions) ซึ่งหน้ากากแบบ N95 จะสามารถช่วยป้องกันได้ แต่หน้ากากอนามัยทั่วไปอาจไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคในกลุ่มนี้ได้.
เภสัชกรในร้านขายยาโชว์หน้ากากอนามัยแบบ N95
หน้ากากอนามัยแบบผ้าฝ้าย ป้องกันฝุ่นละอองได้ดี แต่อาจกันเชื้อโรคไม่ค่อยได้
หน้ากากอนามัยแบบ N95 ป้องกันฝุ่นละอองและเชื้อโรคขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอน
หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น ป้องกันการแพร่เชื้อจากการไอจามได้เป็นอย่างดี
หน้ากากอนามัยแบบต่างๆ มีให้เลือกสรรกันในร้านขายยาและเวชภัณฑ์
หน้ากากป้องกันมลพิษ แต่ไม่ป้องกันเชื้อโรค
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
กำลังโหลดความคิดเห็น