สมาคมขนส่ง-จราจรอัจฉริยะเปิดตัว "ศูนย์จราจรอัจฉริยะไทย" พร้อมเผยพัฒนาระบบส่งข้อมูลจราจรผ่านคลื่นวิทยุ ยันไม่รบกวนสัญญาณเพลงสถานีวิทยุ แต่ยังไม่มีเครื่องมือรับสัญญาณวางขายในตลาดเมืองไทย
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ไปเยือนกองบังคับการตำรวจจราจร กองบัญชาการตำรวจตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ บก.02 ซึ่งในวันที่ 29 พ.ค.52 ทาง บก.02 ได้ร่วมกับสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย (Thai ITS Association) เปิดตัว "ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลจราจรอัจฉริยะ" ภายในกองบังคับการ
ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลจราจรอัจฉริยะดังกล่าว ได้รวบรวมข้อมูลการจจราจรจากหน่วยงานภาครัฐ 4 แห่ง ได้แก่ สำนักงานจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย , ตำรวจทางหลวง, และกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และจัดตั้งศูนย์ฯ บริเวณชั้น 2 ของกองบังคับการ และยังติดตั้งจอติดผนัง (VDO wall) ขนาด 67 นิ้ว เพื่อใช้แสดงภาพแผนที่การจราจรดิจิตัลขนาดใหญ่ภายในศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร โดยการสนับสนุนจากบริษัท เดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย (จำกัดมหาชน)
ดร.ภาสกร ประถมบุตร ผู้อำนวยการโปรแกรมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกสืและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และอุปนายกสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย อธิบายว่า ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลจราจรอัจฉริยะนี้จะให้ภาพรวมการจราจรของ กทม.ในรูปแบบของเส้นสีแสดงความติดขัด สีเขียว เหลือง แดง ผ่านจอภาพขนาดใหญ่พร้อมทั้งข้อมูลเหตุการณ์ (incident) ที่เกิดขึ้นบนท้องถนน
สำหรับแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น มาจากโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ อาทิ การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ของกรุงเทพมหานคร การทางพิเศษฯ ตำรวจทางหลวง เป็นต้น โดยทางสมาคมฯ ได้พัฒนาศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะ (Traffic Data Center: TDC)
"ระบบนี้เป็นเหมือน จส.100 แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลเสียง โดยเป็นข้อมูลตัวหนังสือแทน และข้อมูลสภาพการจราจรของกรุงเทพฯ จะรายงานผ่านจอภาพขนาดใหญ่เพื่อให้ตำรวจใช้สั่งการ ทั้งนี้ก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูลไปยังประชาชนจะมีเจ้าหน้าที่ภายในห้องควบคุมของศูนย์จราจรอัจฉริยะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย เพื่อป้องกันความผิดพลาดของข้อมูลที่อาจจะคลาดเคลื่อน" ดร.ภาสกรกล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะจะให้ข้อมูลดิบของสภาพจราจรที่ประชาชนหรือผู้ประกอบการด้านข้อมูลจราจรสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีช่องทางในการรับข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบ GPRS และระบบตอบรับโทรศัพท์พื้นฐานแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะให้ข้อมูลการจราจรในรูปแบบเสียง นอกจากนี้กำลังพัฒนาระบบส่งข้อมูลสภาพจราจรผ่านคลื่นวิทยุ RDS-TMC (Radio Data System-Traffic Data Center) ซึ่งผ่านการทดสอบแล้วว่าไม่รบกวนการส่งสัญญาณสถานีวิทยุที่มีอยู่
"ระบบนี้มีใช้มานานแล้ว ในยุโรปใช้มากว่า 25 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาใช้ในการส่งสัญญาณเพลงของสถานีวิทยุ FM ส่วนเราเอามาใช้กับการจราจร ซึ่งผู้ใช้ที่มีเครื่องซึ่งรับสัญญาณดังกล่าวได้ สามารถใช้งานได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้เหมือนรับฟังวิทยุ แต่ตอนนี้ยังไม่มีเครื่องที่รับสัญญาณดังกล่าวได้วางจำหน่ายในเมืองไทย" ดร.ภาสกรกล่าว พร้อมทั้งสาธิตอุปกรณ์นำทางซึ่งเป็นเครื่องต้นแบบจากเอกชนรายหนึ่ง.