xs
xsm
sm
md
lg

“เครื่องกรอกระสวยพุ่ง" ช่วยช่างทอผ้าปั่นด้ายเร็วขึ้น 14 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวรางกูร วัฒนานุสิทธิ์ เปรียบเทียบกระสวยที่ปั่นด้วยมือ (ซ้าย) และกระสวยที่ปั่นด้วยเครื่องกรอกระสวย (ขวา)
แก้ปัญหาช่างทอผ้าเมืองบุรีรัมย์ปั่นด้ายด้วยมือไม่ทันใจ นักศึกษาสิ่งทอช่วยพัฒนา "เครื่องกรอกระสวยพุ่ง" ช่วยพันด้ายได้วันละ 840 ม้วน เร็วกว่าหมุนเองด้วยมือ 14 เท่า ยังได้ความยาวมากขึ้นและพันด้ายเป็นระเบียบกว่า

กลุ่มทอผ้าวัดบ้านกระโดน-ไม้แดง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ เป็นกลุ่มทอผ้าอัลลูยเซียมทรายชมพูซึ่งเป็นผ้าประจำจังหวัด มีปัญหาว่าด้ายที่พวกเขากรอใส่กระสวยด้วยมือนั้นไม่เพียงพอกับการใช้งาน จึงได้ติดต่อไปยังโครงการโครงงานอุตสาหกรรมและวิจัยสำหรับปริญญาตรีหรือไออาร์พุส (IRPUS) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหา ทางสาขาวิชาสิ่งทอ ภาควิาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ จึงได้รับมอบหมายจากโครงการเพื่อหาทางช่วยเหลือช่างทอผ้าที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน

นายวรางกูร วัฒนานุสิทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาสิ่งทอ ภาควิาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ เป็นหนึ่งในคณะนักศึกษาที่ได้ช่วยกันแก้ปัญหาให้กับช่างทอผ้าประจำจังหวัด โดยมี นางจารุณี ชัยโชติอนันต์ อาจารย์ภาควิชาเดียวกับเขาเป็นหัวหน้าโครงการ ทั้งนี้เขาและเพื่อนร่วมชั้นได้ช่วยกันพัฒนา "เครื่องกรอกระสวยเส้นพุ่ง” ซึ่งช่วยกรอเส้นด้ายลงกระสวยสำหรับทอผ้าได้ถึงวันละ 840 หลอด ขณะที่ช่างทอผ้าหมุนกรอด้ายด้วยเครื่องปั่นมือได้เพียงวันละ 60 หลอดเท่านั้น

“ด้ายที่กรอด้วยมือจะเรียงตัวไม่ค่อยเป็นระเบียบ และได้ความยาวไม่มาก ส่วนด้ายที่กรอด้วยเครื่องจะเรียงตัวเป็นระเบียบกว่า และพันได้ความยาวมากกว่า โดยกระสวยหนึ่งได้ความยาว 1,200 เมตร ส่วนที่ช่างทอทอพันเองได้เพียง 1,000 เมตร" วรางกูรบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์

สำหรับเครื่องกรอกระสวยนี้ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไปมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องกรอกระสวย โดยมีอุปกรณ์สำคัญๆ คือ "ถ้วยขับแรง" ที่ขับให้เกิดการหมุนเส้นด้ายพันหลอดกระสวย โดยใช้ 2 ถ้วยประกบกันซึ่งช่วยให้ปรับการหมุนเส้นด้ายขนาดต่างๆ ได้ ซึ่งกว่าจะได้อุปกรณ์สำหรับกรอด้ายนี้ วรางกูรบอกว่าต้องขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากผู้รู้ในหลายๆ ด้าน อาทิ วิศวกรผู้ออกแบบเครื่องจักรที่ให้คำแนะนำในการออกแบบเครื่องกรอกระสวย ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทอผ้า

อย่างไรก็ดี วรางกูรบอกกับทีมข่าวว่าเครื่องกรอกระสวยนี้ยังมีข้อเสียหลายด้าน อย่างแรกคือเรื่องความปลอดภัย ตรง "มูเล่ย์" ซึ่งเป็นอุปกร์ณช่วยขับแรงในการหมุนสายพานของเครื่องยังไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ เนื่องจากอยู่ในลักษณะเปลือยเปล่า ทำให้มีโอกาสที่ผมของช่างทอผ้าพลาดไปพันกับอุปกรณ์ดังกล่าว และเป็นอันตรายได้ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาทำได้ง่ายๆ คือหาอุปกรณ์มาครอบไว้ อีกทั้งยังมีข้อด้อยเรื่องน้ำหนักที่หนักมาก เคลื่อนย้ายได้ลำบาก


พร้อมกันนี้ นักศึกษาสิ่งทอผู้นี้ยังบอกกับทีมข่าวอีกว่า เครื่องกรอกระสวยนั้นเป็นสิ่งที่มีใช้กันทั่วไปในโรงงานทอผ้าอยู่แล้ว แต่เครื่องกรอกระสวยของเขาและเพื่อนๆ พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในระดับชุมชน ซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายๆ กับเครื่องกรอกระสวยตามโรงงานอุตสาหกรรม ต่างกันตรงที่พวกเขาออกแบบและประยุกต์ใช้วัสดุที่หาได้ทั่วไป

ทั้งนี้ ผลงานของวรางกูรและคณะได้จัดแสดงและนำเสนอภายในงานนิทรรศการแสดงผลงานพัฒนาเทคโนโลยีทุนปริญญาตรี สกว.ครั้งที่ 7 หรือ IRPUS52 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 มี.ค.52 ณ ชั้น 5 สยามพารากอน โดยภายในงานได้นำเสนอผลงานของนักษาทั่วประเทศกว่า 400 ผลงาน พร้อมกิจกรรมการแสดงบนเวทีตลอดงาน
เครื่องกรอกระสวยสำหรับชุมชน
ถ้วยขับแรงที่ช่วยกรอเส้นด้ายพันกระสวยได้เร็วขึ้น
ตัวอย่างผ้าอัลลูยเซียมทรายชมพู่
กำลังโหลดความคิดเห็น