หลายคนอาจไม่รู้ว่า "รัก" เป็นอย่างไร แต่สำหรับ "พรสินี สุขชู" สาว ม.ปลายจากเมืองแปดริ้ว เธอสนใจ "ต้นรัก" พืชที่มียางเหนียวและมีดอกรูปทรงเก๋ แต่สิ่งที่ดึงดูดเธอก็คือเมล็ดฟูๆ ที่ลอยละลิ่วได้ไกล และสงสัยว่าการเคลื่อนที่ เมื่อตกจากที่สูงเป็นอย่างไร
น.ส.พรสินี สุขชู นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนดัดดรุณี จ.ฉะเชิงเทรา เห็น "ต้นรัก" อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่เคยสนใจ จนกระทั่งรุ่นพี่ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ศึกษาการเคลื่อนที่ของเมล็ดรักแต่ไม่สำเร็จ เธอจึงนำโครงการดังกล่าวมาสานต่อ ด้วยวิธีและแนวคิดในแบบฉบับของเธอ ด้วยลักษณะของเมล็ดที่มีเส้นใยฟูๆ เธอจึงสงสัยว่าเมล็ดจากฝักแก่ของต้นรัก มีการเคลื่อนที่และกระจายตัวอย่างไร
แต่ด้วยเมล็ดรักกับเส้นใยที่หลุดออกจากกันได้ง่าย พรสินีจึงเริ่มศึกษาจากการจำลองเมล็ดรัก โดยนำเชือกฟางมาทำเป็น "พู่" 2 แบบ คือ พู่ที่ฉีกเชือกฟางเป็นฝอยๆ และพู่ที่ไม่ได้ฉีกเชือกฟางเป็นฝอย โดยทำพู่ที่มีสัดส่วนตามความยาวของเส้นใยเมล็ดรัก แล้วทดลองปล่อยให้ตกจากที่สูงคือตึก 3 ชั้น ทั้งนี้มีความยาวของเส้นเชือกเป็นตัวแปร โดยทดลองกับพู่ที่มีความยาวตามสัดส่วน 100% 75% 50% และ 25%
ผลจากการทดลองเมล็ดรักจำลองที่ยาวมากที่สุดจะตกช้าที่สุด ซึ่งผลการทดลองนี้ทำให้เธอได้แนวคิดที่จะประยุกต์เพื่อประดิษฐ์ร่มชูชีพสำหรับกู้ภัยที่ระยะไม่สูงมาก อย่างตึกสูง 4-5 ชั้น ซึ่งหากใช้ร่วมชูชีพปกติที่มี ร่มชูชีพอาจจะกางไม่ทันที่จะช่วยชีวิตคนได้
สำหรับโครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (เจเอสทีพี) ระยะสั้นที่พรสินีเข้าร่วม โดยเธอบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เธอตั้งใจส่งข้อเสนอโครงการนี้เข้าคัดเลือกในสาขาชีววิทยา แต่ทางโครงการเห็นว่าเหมาะที่อยู่ในสาขาฟิสิกส์มากกว่า
"ตอนแรกตั้งชื่อโครงงานว่า "เส้นใยเมล็ดรัก" แต่เข้าโครงการเลยเปลี่ยนชื่อเป็น "รักเอย เธอเป็นอย่างไร" พอดีช่วงนั้นได้ยินเพลงจากละครเรื่องหนึ่งบ่อย" พรสินีบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ เมื่อเราถามว่าทำโครงการนี้ระหว่างมีความรักหรือไม่.