นักวิจัยสหรัฐฯ พบสารพิษทำลายประสาทจากสาหร่าย ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของสัตว์น้ำ ได้จมสู่ก้นทะเลและทำลายห่วงโซ่อาหาร
การปกคลุมผิวหน้ามหาสมุทรของสาหร่าย "ซูโด-นิตซ์เชีย" (Pseudo-nitzschia) นั้น ทำให้เกิดกรดโดโมอิค (domoic acid) ในปริมาณสูง ซึ่งกรดดังกล่าวเป็นสารพิษทำลายประสาท โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยเซาธ์คาโรไลนา (University of South Carolina) สหรัฐฯ ได้ศึกษาการแพร่กระจายของสารพิษดังกล่าว โดยติดตามการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ของของสาหร่ายเซลล์เดียวนี้ในแคลิฟอร์เนียเพื่อหาสารพิษ และได้รายงานผลลงวารสารเนเจอร์ จีโอไซน์ (Nature Geoscience)
"มันเป็นสารทำลายประสาทโดยธรรมชาติ ผลิตโดยแพลงค์ตอนพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งหากสัตว์อื่นกินแพลงค์ตอนนี้เข้าไป อย่างปลาซาร์ดีนหรือปลากะตัก สารพิษชนิดนี้ก็จะถูกถ่ายทอดสู่ห่วงโซ่อาหารได้" รอยเตอร์อ้างคำพูดของเอมิลี เซกูลา-วูด (Emily Sekula-Wood) นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยเซาท์คาโรไลนาผู้ศึกษาเรื่องนี้
นอกจากนี้ กรดโดโมอิคยังเชื่อมโยงกับการตายของสิงโตทะเล วาฬและสัตว์น้ำอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งคนที่บริโภคสัตว์จำพวกกุ้ง-หอยในปริมาณมากๆ
"ถ้ากินมากพอสมองจะถูกทำลาย อาการในคนเราเรียกว่า "ความจำเสื่อม" (amnesic shellfish poisoning) คุณจะสูญเสียความทรงจำระยะสั้น" เซกูลา-วูดกล่าว
เธอพร้อมด้วยคณะ ได้สำรวจทะเลเพื่อดูว่าสารพิษชนิดนี้ลงไปสู่ก้นมหาสมุทรด้วยหรือไม่ โดยใช้อุปกรณ์ดักตะกอนซึ่งมีลักษณะคล้ายมาตรวัดปริมาณน้ำฝน และกำหนดจุดเก็บตัวอย่างที่ความลึก 500 เมตรและ 800 เมตร เพื่อหาสารพิษที่จมสู่ก้นทะเล หลังการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของสาหร่ายเซลล์นี้ และได้พบว่ามีกรดโดโมนิคปริมาณมหาศาลที่จมสู่ก้นทะเล ซึ่งเข้ารุกรานหวงโซ่อาหารใต้ทะเลลึก และทำให้คณะสำรวจกังวลต่อความยืนยั่งของสารพิษชนิดนี้
ทั้งนี้ การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของสาหร่ายซูโดนิตซ์เชีย ได้ปิดชายหาดและรกระทบกับอุตสาหกรรมสัตว์น้ำจำพวกกุ้ง-หอยทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ อีกทั้งกระแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของสาหร่ายนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับการแพร่กระจายของสารพิษบริเวณชายฝั่งยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ