สาหร่ายจะช่วยโลกได้อีกไหม? คำถามที่เกิดขึ้นด้วยความหวังว่า พืชสีเขียวขนาดเล็กนี้ จะกลับมาช่วยโลกได้อีกครั้ง หลังจากเมื่อหลายล้านปีก่อนพืชชนิดนี้ ได้ทำความสะอาดบรรยากาศโลกไปแล้วครั้งหนึ่ง และนักวิทยาศาสตร์ก็มีความหวังว่าสาหร่ายจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และสร้างแหล่งน้ำมันแห่งใหม่ได้
ในอดีตที่ยาวนานมาแล้ว สาหร่ายได้เปลี่ยนชั้นบรรยากาศโลก ที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตไปสู่ชั้นบรรยากาศที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตในยุคปัจจุบันดำรงชีพอยู่ได้ โดยอาศัยกระบวนการสังเคราะห์แสงที่พืชใช้เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ และแสงอาทิตย์ให้เป็นน้ำตาลและออกซิเจน ซึ่งสาหร่ายบางส่วนได้จมลงก้นทะเลหรือทะเลสาบ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นน้ำมัน
"เรากำลังหมุนนาฬิกาย้อนกลับ ธรรมชาติได้ทำเรื่องนี้เป็นเวลาหลายล้านปีมาแล้ว เพื่อผลิตน้ำมันดิบให้เราเผาใช้ในทุกวันนี้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่" รอยเตอร์ซึ่งรายงานเรื่องนี้ นำระบุคำพูดของสตีฟ สกิลล์ (Steve Skill) นักชีวเคมีจากห้องปฏิบัติการทางทะเลพลีมัท (Plymouth Marine Laboratory) สหราชอาณาจักร
ปัจจุบันมีการแข่งขันที่จะค้นหาวิธีที่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ที่จะเปลี่ยนสาหร่าย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบชีวิตเก่าแก่ที่สุด ให้กลายเป็นพืชน้ำมัน ที่สามารถนำไปผลิตไบโอดีเซล เชื้อเพลิงเครื่องบินเจ็ท เชื้อเพลิงเครื่องยนต์อื่นๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติก
"เรากำลังเก็บเกี่ยวแสงแดดผ่านสาหร่าย จากนั้นเราสามารถสกัดเอาพลังงานที่เก็บไว้ ในรูปของน้ำมันออกจากสาหร่ายได้ แล้วนำไปผลิตเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ต้องใช้ปิโตรเลียมเป็นวัตถุดิบ" สกิลล์กล่าว และทำนายว่าอุตสาหกรรมจะเพาะปลูกสาหร่ายให้มีคุณภาพเพียงพอ ที่นำไปผลิตน้ำมันในเชิงพาณิชย์ได้ในอีกทศวรรษข้างหน้า ซึ่งพลังงานดังกล่าว จะเป็นตาข่ายดักจับคาร์บอนธรรมชาติ เนื่องจากสาหร่ายดูดซับก๊าซเรือนกระจกขณะเจริญเติบโต
มีหลายบริษัทในสหรัฐฯ ที่ศึกษาเรื่องสาหร่ายและเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งรวมถึง ยูเอส กรุ๊ปส์ แซพไฟร์ เอนเนอร์จี (U.S. groups Sapphire Energy) ออริจินออยล์ (OriginOil) ไบโอเซนทริกเอ็นเนอร์จีแอนด์ปิโตรอัลจี (BioCentric Energy and PetroAlgae) ส่วนการใช้งานนั้น เมื่อเดือนที่ผ่านมา สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ (Japan Airlines) ได้ทดสอบเที่ยวบินที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันจากสาหร่าย
ขณะที่บริษัทเอ็มพีเอกซ์ เอ็นเนอร์เจีย (MPX Energia) ของบราซิล วางแผนที่จะดักจับคาร์บอน ซึ่งปลดปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินให้ได้ 10-15% โดยนำไปเลี้ยงสาหร่ายซึ่งจะเริ่มในปี 2554
ด้าน คาโรล เลิลเวลลิน (Carole Llewellyn) นักเคมีทางทะเล แห่งห้องปฏิบัติการพลีมัท ระบุว่า ทางห้องปฏิบัติการกำลังนำความรู้เกี่ยวกับสาหร่าย ที่ได้จากมหาสมุทรทั่วโลกไปประยุกต์ใช้กับความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ แต่เป้าหมายแตกต่างไปจากงานวิจัยเชิงพาณิชย์อย่างมาก โดยบางแห่งอ้างคุณสมบัติของเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่ายเกินจริงไปมาก
"สาหร่ายมีคุณสมบัติในเชิงบวกอยู่มากก็จริง แต่ก็มีอุปสรรคอีกมากที่ต้องก้าวข้ามไป ก่อนที่จะเป็นเชิงธุรกิจได้จริง" เลิลเวลลินกล่าว
การเตรียมพื้นที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายด้วยพื้นที่ชั้นเลิศได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการช่วยสนับสนุนให้อาหารมีราคาสูงขึ้น ขณะที่ยังมีสาหร่ายอีกหลายสายพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการดำรงชีวิตทั่วไป ตั้งแต่พื้นที่ซึ่งมีน้ำเค็มท่วมขังไปจนถึงทะเลทรายที่แห้งผาก และสามารถเติบโตเร็วกว่าพืชที่เพาะปลูกถึง 20-30 เท่า
มีงานวิจัยในพลีมัทที่จำแนกสายพันธุ์ของสาหร่าย ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันได้มากที่สุดหรือสายพันธุ์ที่ดูดซับคาร์บอนได้มากที่สุด โดยแปรเปลี่ยนไปตามพื้นที่ที่สาหร่ายเจริญเติบโต นอกจากนี้ความต้องการแหล่งคาร์บอนไดออกไซด์ของสาหร่ายยังกลายเป็นที่สนใจของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมองเห็นโอกาสที่จะเลี้ยงสาหร่ายด้วยคาร์บอนที่โรงงานผลิต
งานวิจัยที่จะทดแทนเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมด้วยไบโอดีเซลจากสาหร่ายก็ไม่ใช่เรื่องที่ใหม่นัก โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้ทุนวิจัยตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1970 และงดให้เพียงในปี 1996 เมื่อมีรายงานว่าการผลิตไบโอดีเซลจากสาหร่ายมีต้นทุนที่สูงเกินไป และอาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจหากราคาน้ำมันต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเกินราคาดังกล่าวไปแล้ว.