เป็นข่าวฮือฮาเมื่อเครื่องบินโดยสารของสายการบินยูเอสแอร์เวย์สประสบอุบัติเหตุชนฝูงนก และเป็นเหตุให้เครื่องบินดับ กัปตันจึงต้องนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินกลางแม่น้ำฮัดสันในสหรัฐฯ โดยทุกคนปลอดภัยอย่างเหลือเชื่อ แต่ก็ทิ้งคำถามที่ชวนสงสัยมาก ว่าสัตว์ปีกตัวเล็กๆ ทำให้นกเหล็กลำเบ้อเริ่มร่วงจากฟ้าได้อย่างไร?
เมื่อวันที่ 15 ม.ค.52 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินโดยสารแอร์บัส 320 เที่ยวบินที่ 1549 ของสายการบินยูเอสแอร์เวย์ส ชนกับสัตว์ปีกภายหลังทะยานขึ้นจากสนามบินลาการ์เดีย (LaGuardia Airport) ในเมืองนิวยอร์กซิตี้ เพียงไม่กี่นาที จนเป็นเหตุให้เครื่องยนต์ดับกลางอากาศ และกัปตันต้องนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินกลางแม่น้ำฮัดสัน แต่โชคดีที่ผู้โดยสารและลูกเรือกว่า 150 ชีวิตปลอดภัยทั้งหมด
ทว่า เหตุนกชนเครื่องบินใช่ว่าจะปลอดภัยแคล้วคลาดไปเสียทุกครั้ง ซึ่งเหตุนกบินชนเครื่องบินจนเข้าขั้นหายนะที่มีรายงานครั้งแรก ตามที่นิตยสารไซแอนทิฟิกอเมริกัน (Scientific American) ระบุไว้นั้นคือเมื่อปี 2455 หลังจากพี่น้องตระกูลไรต์ทดลองบินได้สำเร็จเพียงแค่ 9 ปีเท่านั้น
อีกทั้ง คณะกรรมการอุบัติเหตุเนื่องจากนก (Bird Strike Committee) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินชนกับสัตว์ปีกในธรรมชาติกว่า 200 ราย โดยในช่วง 20 ปีหลังมานี้ มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะนกต่างบินอพยพหนีจากสภาวะมลพิษและยาฆ่าแมลงตามถิ่นต่างๆ ที่เคยอยู่
ส่วนกองทัพอากาศสหรัฐฯ (U.S. Air Force) รายงานว่าในปี 2551 เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินชนกับนกมากกว่า 5,000 ครั้ง ซึ่งเหตุการณ์เครื่องบินชนกับนก ที่กำลังบินอยู่นั้นมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ในช่วงที่เครื่องบินอยู่ไม่ห่างจากพื้นดินมาก ซึ่งก็คือช่วงเวลาเทคออฟ (take off) ที่เพิ่งนำเครื่องขึ้น หรือแลนดิง (landing) เตรียมร่อนลงจอด ตามรายงานที่ระบุในไลฟ์ไซน์ด็อตคอม
เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ จะต้องได้รับการรับรองว่า สามารถควบคุมการบินต่อไปได้ หลังจากที่ชนกับนกขนาด 4 ปอนด์ หรือประมาณ 2 กิโลกรัม แต่สัตว์ปีกกว่า 36 สปีชีส์ ในทวีปอเมริกาเหนือมีน้ำหนักมากกว่านั้น และแม้แต่นกสตาร์ลิงที่มีขนาดเล็กกว่านั้น ก็ยังสามารถทำให้เครื่องยนต์ดับได้เหมือนกัน
เมื่อนกถูกดูดเข้าไปในส่วนที่เป็นเครื่องยนต์ของเครื่องบิน และชนเข้ากับใบพัด แรงปะทะจะทำให้ใบพัดนั้นไปกระแทกใส่ใบพัดอื่น และส่งผลต่อเครื่องยนต์เป็นทอดๆ ไป จนทำให้เครื่องยนต์ดับได้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เมื่อเครื่องบินชนกับนก ได้แก่ ความแตกต่างระหว่างความเร็วของเครื่องบินกับนก แรงกระแทก และน้ำหนักของนก ซึ่งปัจจัยด้านความเร็วมีผลมากที่สุด และฝูงนกย่อมเป็นอันตรายกับเครื่องบินมากกว่านกตัวเดียว เพราะทำให้เกิดการปะทะกับตัวเครื่องบินได้หลายจุด
เดล โอเดอร์แมน (Dale Oderman) รองศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีการบิน มหาวิทยาลัยเปอร์ดัว (Purdue University) มลรัฐอินเดียนา เผยว่าสัตว์ปีกเป็นอันตรายกับเครื่องบินอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงระยะความสูง 600 เมตร หลังจากนำเครื่องขึ้น ซึ่งอยู่ในระยะที่ยังมีนกบินอยู่
"แน่นอนว่าห่านหรือนกขนาดใหญ่อื่น เป็นอันตรายต่อเครื่องบินมากกว่านกขนาดเล็ก และความเร็วของวัตถุทั้งสองที่กำลังเคลื่อนที่ทำให้นกถูกดูดเข้ามาในเครื่องยนต์ ซึ่งเครื่องยนต์ที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก จึงยากที่จะต้านทานแรงปะทะที่มีมากได้ ทำให้เครื่องยนต์หยุดทำงาน" โอเดอร์แมน อธิบาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากนกบินอยู่ใกล้กับห้องเครื่องยนต์มากเกินไป และบริเวณนั้นมีสภาพเป็นเหมือนสุญญากาศ จึงทำให้นกถูกดูดเข้าไปในส่วนเครื่องยนต์ได้
"เครื่องยนต์ช่วงแรกของเครื่องบินประกอบด้วยใบพัดจำนวนมาก ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่มากและอาจเกิดความเสียหายได้ง่าย ถ้าหากว่าใบพัดอันใดอันหนึ่งพังขึ้นมา ก็จะทำให้เครื่องยนต์นั้นหยุดการทำงานทันที และเหตุการณ์ที่เครื่องบินแอร์บัสร่อนลงจอดกลางแม่น้ำฮัดสันนั้น ก็เป็นที่แน่ชัดว่าเครื่องยนต์ 2 ตัว หลุดออกไป ซึ่งหากเกิดจากฝูงสัตว์ปีกที่บินอยู่ในบริเวณนั้นก็ไม่มีอะไรน่าแปลกใจสำหรับผม" โอเดอร์แมนกล่าว
ด้านริชาร์ด โดลเบียร์ (Richard Dolbeer) นักชีวิวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการชนของสัตว์ปีก ที่งานให้ทางการสหรัฐฯ กว่า 30 ปีอธิบายว่า ตามหลักของพลังงานจลน์ พลังงานนี้จะมีค่าเท่ากับครึ่งหนึ่งของมวลคูณด้วยความเร็วของวัตถุยกกำลังสอง เมื่อเครื่องบินทะยานตัวจากพื้นดินจะใช้ความเร็ว 275 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเร่งเครื่องยนต์ให้บินเร็วขึ้น ใบพัดของเครื่องยนต์จะหมุนด้วยอัตรา 3-4,000 รอบต่อนาที และพัดลมยักษ์ที่ปลายปีที่เห็นก็หมุนด้วยความเร็ว 1,125-1,285 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นพลังงานมหาศาลที่จะดูดนกที่บินอยู่บริเวณรอบๆ เข้าสู่ใบพัดพวกนั้นได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินอธิบายต่อไปว่า โดยทั่วไปสนามบินจะมีแนวทางการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากสัตว์ปีกอยู่แล้ว เช่น ไม่ปลูกต้นไม้มากเกินไปในบริเวณใกล้กับสนามบิน เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของนก แต่เนื่องจากสนามบินลาการ์เดียอยู่ใกล้กับแม่น้ำ ทำให้รอบๆ บริเวณนั้นมีนกน้ำจำนวนมาก
ทั้งนี้ เมื่อนกชนกับเครื่องบิน จะทิ้งร่องรอยบางอย่างเอาไว้ เรียกว่า สนาร์จ (snarge) ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ดีเอ็นเอ เพื่อระบุชนิดของนกได้ที่ห้องแล็บของสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution's Feather Identification Laboratory)
คณะกรรมการอุบัติเหตุเนื่องจากนกระบุอีกว่า นกและสัตว์อื่นๆ ที่ชนกับเครื่องบิน ก่อให้เกิดความเสียหายในแต่ละปีมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (21,000 ล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2518 มี 5 สายการบินที่ประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่เนื่องจากนก โดยมีกรณีหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 36 ราย
แม้แต่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ก็ยังกังวลว่า นกจะเป็นอันตรายต่อการปล่อยยานอวกาศ ซึ่งในระหว่างการปล่อยยานดิสคัฟเวอรี (Discovery) เมื่อเดือน ก.ค.2548 ยานได้ชนกับนกแร้ง ที่บินวนเวียนอยู่บริเวณใกล้กับฐานปล่อยจรวด ซึ่งนกแร้งมีน้ำหนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม ซึ่งหากเกิดการชนกับฉนวนความร้อนบริเวณจุดสำคัญ ก็อาจทำให้เกิดหายนะกับยานได้
ดังนั้นนาซาจึงวางมาตรการเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากนก ทั้งในขณะปล่อยยาน และขณะที่ยานกำลังร่อนลงจอด เช่น นาซาจะมีนับถอยหลังในระหว่างที่เตรียมจะปล่อยยานอวกาศ ซึ่งสามารถหยุดรอเพื่อให้นกบินผ่านไปก่อนได้ และระหว่างที่ยานร่อนลงจอด นาซาจะยิงปืนเสียงเพื่อไล่สัตว์ปีกในละแวกนั้นออกไปเสียก่อน เพื่อให้ยานร่อนลงจอดได้อย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุจากสัตว์ปีก