นักวิทย์เมืองผู้ดี ระดมตรวจสอบสินค้า "ดีท็อกซ์" ที่ผู้ผลิตอ้างว่าช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย พบไม่ได้ให้ผลดีจริงดังว่า แถมยังแพงกว่าสินค้าแบบเดียวกันที่มีอยู่ทั่วไป ซ้ำบางชนิดอาจก่ออันตราย แนะแค่กินอาหารมีประโยชน์ และพักผ่อนเต็มที่ก็ดีเกินพอแล้ว
บีบีซีนิวส์รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์กรเซนส์อะเบาท์ไซน์ (Sense About Science) สหราชอาณาจักร ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์บางอย่างที่มีการอ้างว่าช่วยขจัดสารพิษ หรือ ดีท็อกซ์ (detox) ในร่างกายได้ แต่กลับพบว่าไม่ได้เป็นดังอ้าง และยังไม่มีงานวิจัยรองรับ พร้อมระบุวิธีที่ดีสุดสำหรับการมีสุขภาพดีคือกินอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ
นักวิทยาศาสตร์หลายสาขาทั้งแพทย์ เภสัชกร นักชีวเคมี นักชีววิทยา เป็นต้น ร่วมกันตรวจสอบผลิตภัณฑ์ 15 ชนิด รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด สครับขัดผิวหน้า ที่อ้างว่าช่วยขจัดสารพิษได้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นอย่างที่มีการกล่าวอ้าง
อาทิ ผลิตภัณฑ์ล้างน้ำกานิเยร์ (Garnier) ที่อ้างว่าช่วยขจัดสารพิษออกจากผิวหน้าได้ ซึ่งนักวิจัยได้อธิบายว่า สารที่ว่าก็คือสิ่งสกปรก ฝุ่นละออง เครื่องสำอาง และความมันบนใบหน้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ล้างหน้าโดยทั่วไปก็ทำความสะอาดได้อยู่แล้ว หรืออย่างแผนการขจัดสารพิษใน 5 วัน ของบูทส์ (Boots) ที่อ้างว่าช่วยขจัดสารพิษในร่างกายได้ ก็ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน
เอเวลิน ฮาร์วีย์ (Evelyn Harvey) นักชีววิทยา ที่ร่วมในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวบอกว่า หากผู้บริโภคกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ที่ผ่านการรับรองยืนยันแล้ว น่าจะรู้สึกดีขึ้นมากกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น พร้อมทั้งเตือนด้วยว่าผลิตภัณฑ์ล้างพิษอาจทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโชน์ หรืออาจก่อให้เกินอันตรายต่อร่างกายได้
นอกจากนี้ ยังมีแผ่นล้างพิษสำหรับแปะผิว (detox patch) เพื่อทำให้บริเวณนั้นขับเหงื่อออกมามากขึ้น และปลดปล่อยสารเคมีออกมา ซึ่งนักวิจัยเผยว่าให้ผลน้อยมาก และสารที่ถูกปล่อยออกมาน้อยมากๆ นั้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดความอันใดเลยเมื่อเทียบกับสารเคมีปริมาณมากที่ยังคงค้างอยู่ในร่างกาย
อย่างไรก็ดี โฆษกของบูทส์ออกมาโต้แย้งว่า แผนการล้างพิษภายใน 5 วันของบูทส์ เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาบริโภคน้ำและอาหารที่มีส่วนประกอบที่ช่วยต้านสารพิษหรืออันตรายที่เกิดจากสารอนุมูลอิสระต่างๆ
ส่วนเจ้าหน้าที่ของกานิเยร์ ออกมาชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของกานิเยร์ ผ่านการทดสอบมาแล้วอย่างถูกต้อง และประเมินผลจนแน่ใจแล้วจึงได้ระบุไปตามนั้นอย่างถูกต้องและชัดเจนกับผู้บริโภค
ด้านสำนักงานควบคุมมาตรฐานการโฆษณา (Advertising Standards Authority) ของสหราชอาณาจักร บอกว่า ควรมีการตรวจสอบเป็นกรณีๆ ไป หากมีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กำจัดสารพิษเหล่านั้น ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ใดไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าดีอย่างที่กล่าวอ้างไว้ก็ควรต่อต้านผลิตภัณฑ์นั้น รวมถึงยังมีปัญหาเกี่ยวการตีความหมายของคำว่า "ล้างพิษ" ที่หลากหลายเกินไป
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้จัดทำเป็นเอกสารใบปลิว เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ล้างพิษที่กล่าวอ้างเกินจริง (Debunking Detox) เพื่อแจกจ่ายให้ผู้บริโภคบริเวณย่านการค้าในกรุงลอนดอนด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลอีกด้านหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน เช่น ยาสระผม โฟมล้างหน้า และมอยเจอร์ไรเซอร์ต่างๆ ที่อ้างว่ามีคุณสมบัติช่วยล้างพิษ
ทั้งที่จริงแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ไม่ได้ดีไปกว่าผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันโดยทั่วไป ซ้ำยังมีราคาแพงกว่าอีกด้วย พร้อมกับแนะนำว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่มีความจำเป็นเลย หากเรากินอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนอย่างเพียงพออยู่แล้ว.