xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งฉลาด "สเปิร์ม” ยิ่งแข็งแรง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งฉลาด สเปิร์มยิ่งแข็งแรง? (ภาพบีบีซีนิวส์)
งานวิจัยจากอังกฤษศึกษาผู้ชายยุคผ่านสงครามเวียดนาม ชี้ยิ่งผู้ชายมีสติปัญญาดี ยิ่งมีแนวโน้มที่ "สเปิร์ม" จะแข็งแรง แต่นักวิจัยด้านการเจริญพันธุ์แย้ง น่าจะเป็นผลจากสมองและอัณฑะได้รับการพัฒนาร่วมกันตั้งแต่ในท้องแม่

ตามรายงานของบีบีซีนิวส์ ระบุว่าทีมวิจัยจากสถาบันจิตเวช (Institute of Psychiatry) แห่งสหราชอาณาจักร ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากอดีตทหารสหรัฐฯ ในยุคสงครามเวียดนาม พบว่ายิ่งอดีตทหารเหล่าทำการทดสอบสติปัญญาได้ดีเท่าไหร่ ยิ่งมีแนวโน้มว่าสเปิร์มหรืออสุจิของพวกเขาเคลื่อนที่ได้ดีเท่านั้น

งานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ลงวารสารอินเทลลิเจนซ์ (Intelligence) และสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ยีนฉลาดส่งผลทางชีววิทยาด้านอื่นด้วย ดังนั้นหากเกิดการกลายพันธุ์แม้เพียงเล็กน้อยกับยีนฉลาด ก็อาจส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติอื่น อย่างความแข็งแรงของสเปิร์มด้วย

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มที่จะสันนิษฐานว่า ปัจจัยด้านการใช้ชีวิตมักอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดและสุขภาพ ตัวอย่างเช่น คนที่ฉลาดกว่าอาจไม่สูบบุหรี่และออกกำลังมากกว่า ซึ่งรูปแบบการใช้ชีวิตทั้งสองเป็นที่รู้กันดีว่ามีผลต่อจิตใจ

สำหรับการศึกษาล่าสุดได้ทดสอบทฤษฎียีนโดนใช้คุณลักษณะ 2 อย่างที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเลย นั่นคือ ความฉลาด และ ความแข็งแรงของสเปิร์ม

ทีมวิจัยได้พบจุดเล็กๆ แต่มีนัยสำคัญเชิงสถิติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่พบนั้นไม่สามารถอธิบายได้ด้วยพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ อย่างการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ โดยงานวิจัยศึกษาในผู้ชาย 425 คน ที่มีระดับสติปัญญาปานกลาง พร้อมๆ กับตรวจน้ำเชื้อของพวกเขา

ผลการศึกษาพบว่า อายุ รุปแบบการใช้ชีวิตและความฉลาด มีความสัมพันธ์ร่วมกับปัจจัยที่ใช้วัดความแข็งแรงของสเปิร์ม ได้แก่ จำนวน ความหนาแน่นและความสามารถในการแหวกว่าย

ดร.โรสาลินด์ อาร์เดน (Dr.Rosalind Arden) นักวิจัยผู้นำในโครงการกล่าวว่า งานวิจัยที่ค้นพบนั้น สนับสนุนแนวคิดในเชิงทฤษฎีที่สำคัญเกี่ยวกับ "ปัจจัยด้านความแข็งแรงของร่างกาย”

“เราตั้งหน้าตั้งตารอที่จะเห็นว่า ผลการทดลองที่ได้เกิดซ้ำในการชุดข้อมูลอื่นๆ ที่เปรียบเทียบความฉลาดกับสุขภาพด้านอื่น ที่สัมพันธ์ต่อความแข็งแรงของร่างกาย" ดร.อาร์เดนเผย

ขณะที่ ดร.อัลลัน เพซีย์ (Dr.Allan Pacey) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะเจริญพันธุ์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิล์ด (University of Sheffield) สหราชอาณาจักร กล่าวว่า ความจริงเกี่ยวกับการตรวจพบความสัมพันธ์เชิงสถิติระหว่างความฉลาดและคุณภาพของน้ำเชื้อในผู้ชายวัยผู้ใหญ่นั้น เป็นผลจากพัฒนาการร่วมของสมองและลูกอัณฑะระหว่างที่ผู้ชายยังอยู่ในมดลูกของมารดา จึงมีผลต่อการทำงานของอวัยวะทั้งสองในวัยผู้ใหญ่ มากกว่าการบ่งชี้ว่าคนที่เล่นประเทืองปัญญาอย่าง "ซูโดคุ” (Sudoku) จะผลิตสเปิร์มได้มากกว่า

“ความแข็งแรงของสเปิร์มที่สัมพันธ์กับความฉลาดซึ่งพบในงานวิจัยนี้นั้น มีนัยสำคัญที่น้อยมาก และไม่เหมือนกับความเข้าใจในเรื่องผลของความแตกต่างในความสามารถของผู้ชายที่มีความฉลาดต่างกัน” ดร.เพซีย์ให้ความเห็น
กำลังโหลดความคิดเห็น