รู้จักไหม? "พีเอ็นเอ" สารสังเคราะห์คู่แฝด "ดีเอ็นเอ” ประยุกต์ใช้หาความผิดปกติลำดับคู่เบส และอาจใช้ยับยั้งการแบ่งตัวที่ผิดปกติของโรคได้ในอนาคตได้ หากไม่รู้ตาม "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ไปทำความรู้จักใน "เมืองวิทยาศาสตร์" แห่ง จุฬาวิชาการ '51
หลายคนคงได้แวะเวียนไปชมงานจุฬาวิชาการ'51 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ระหว่างระหว่างวันที่ 26-30 พ.ย.51 นี้กันบ้างแล้ว สำหรับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็ได้เข้าชมในส่วนของ "เมืองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" และได้รู้จักกับ "พีเอ็นเอ” (PNA: Peptide Nucleic Acid) ซึ่งเปรียบเหมือนคู่แฝดของสารพันธุกรรมอย่าง "ดีเอ็นเอ” (DNA)
ทีมนิสิตประจำบูธจากหน่วยวิจัยด้านการสังเคราะห์อินทรีย์ "ออสรู” (Organic Synthesis Research Unit: OSRU) ช่วยกันอธิบายให้เราฟังว่า พีเอ็นเอเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบดีเอ็นเอ มีลำดับเบส A G T C เหมือนดีเอ็นเอ ต่างกันตรงที่พีเอ็นเอไม่มีหมู่ฟอสเฟสและน้ำตาลดีออกซีไรโบส (Deoxyribose) แต่มีพันธะเปปไทด์แทนที่
ทั้งนี้การเข้าคู่ของดีเอ็นเอจะมีประจุเป็นลบเนืองจากหมู่ฟอสเฟส ทำให้การจับคู่กันไม่แข็งแรง เนื่องจากการผลักกันของประจุชนิดเดียวกัน ขณะที่พีเอ็นเอที่มีความเป็นกลาง จึงมีความแข็งแรงในการจับคู่มากกว่า
การประยุกต์ใช้ของพีเอ็นเอในปัจจุบันนำไปใช้ตรวจหาความผิดปกติของลำดับเบสดีเอ็นเอ ทั้งนี้เพราะพีเอ็นเอมีความจำเพาะในการจับคู่กับดีเอ็นเอดีกว่าการจับคู่ระหว่างดีเอ็นด้วยกันเอง ความจำเพาะของพีเอ็นเอช่วยให้หาความผิดปกติของดีเอ็นเอได้แม่นยำขึ้น แม้มีความผิดปกติของลำดับเบสแค่ตำแหน่งเดียว
นอกจากนี้อนาคต เป็นไปได้ว่าเราอาจนำความสามารถในการจับคู่ของพีเอ็นเอ ไปประยุกต์ใช้หยุดความผิดปกติในการแบ่งตัวของดีเอ็นเอ แต่เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องยากและยังต้องทำวิจัยกันอีกไกล ทั้งนี้มีการสังเคราะห์พีเอ็นเอได้เป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี 2534 ส่วนเมืองไทยมีการสังเคราะห์ได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2548 โดย รศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ อาจารย์และนักวิจัยภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภายในงานจุฬาวิชาการนี้ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้พบกับ ดร.ธีรยุทธ ซึ่่งประจำอยู่ที่บูธของหน่วยวิจัยออสรูด้วย เขาบอกกับเราว่า ในโลกมีคนศึกษางานวิจัยทางด้านพีเอ็นเอเพียงไม่กี่กลุ่ม และในเมืองไทยก็มีเขาเพียงคนเดียวที่ศึกษาเรื่องนี้ แต่อนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้งานมากขึ้น โดยปัจจุบันมีการใช้พีเอ็นเอเพื่อตรวจว่าเป็นดีเอ็นเอของอะไร ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ตรวจอาหาร เนื้อสัตว์ การปนเปื้อนของดีเอ็นเอ ตลอดจนตรวจโรคต่างๆ ได้
นอกจากบูธให้ความรู้เกี่ยวกับพีเอ็นเอแล้ว ในเมืองวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีโซนให้ความรู้และการทดลอง อีกหลากหลาย อาทิ การสกัดดีเอ็นเออย่างง่ายด้วยน้ำเกลือผสมน้ำยาล้างจาน โรงหนัง 4 มิติสื่อปรากฏการณ์โลกร้อน โซนนาโนเทคโนโลยี โซนพลังงานทดแทน เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีเวลาให้เยี่ยมชมนิทรรศกา่รถึงวันที่ 30 พ.ย.51 นี้