บางคนอยากสวยหล่อเหมือนดารา อยากมีรูปร่างหน้าตาเหมือนซูเปอร์โมเดล และคิดว่าหากเกิดมาหน้าตาดี อาจโชคดีมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่คนที่เกิดมาหน้าตาดี โชคดีจริงหรือเปล่า สุขสบายกว่าคนหน้าตาธรรมดาด้วยหรือไม่ หรือหน้าตาดูดีมีประโยชน์อย่างไร ค้นหาคำตอบได้ในเทศกาลหนังวิทย์ปีนี้
"รายการควาร์กส์ แอนด์ โค: เกิดมาหน้าตาดี มีโชคจริงหรือ" หนึ่งในภาพยนตร์สาระบันเทิงจากประเทศเยอรมนี ที่เข้าร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 4 เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเผยให้เห็นถึงการวิจัยว่ารูปร่างหน้าตาส่งผลต่อผู้อื่นให้ปฏิบัติตอบเราอย่างไร ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ไปชมมาแล้ว
จากการสำรวจพฤติกรรมของชาวเยอรมัน พบว่าในแต่ละปีพวกเขาจ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องสำอางรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 11 ล้านยูโร (ประมาณ 480 ล้านบาท) และมีอัตราการทำศัลยกรรมมากถึง 4 แสนครั้งต่อปี โดยผู้หญิงชาวเยอรมันนิยมทำศัลยกรรมกันมากถึง 23% จึงชี้ให้เห็นว่าความสวยความงามนั้นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนส่วนใหญ่ ที่ดูได้จากการที่พวกเขายอมเสียเงินจำนวนมากและยอมเจ็บตัวเพื่อทำให้ตัวเองดูดีขึ้น
เพราะอยากรู้ว่าหน้าตาดีจะมีประโยชน์อย่างไร นักวิจัยจึงทดลองสร้างเอกสารปลอมสำหรับการสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักศึกษาหญิง 2 คน คนหนึ่งหน้าตาธรรมดา และอีกคนหนึ่งที่หน้าตาดูดีกว่า รวม 66 ชุด โดยติดรูปถ่ายของแต่ละคนไว้บนซองเอกสารจำนวนเท่ากัน พร้อมข้อความบอกผู้เป็นพ่อให้ช่วยนำเอกสารการสมัครสอบนี้ส่งไปรษณีย์ให้ด้วยภายในวันนั้น ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรับใบสมัครทางไปรษณีย์
จากนั้นนำไปทิ้งไว้ในตู้โทรศัพท์สาธารณะตามจุดต่างๆ ในเมืองโคโลญจ์ โดยมีทีมงานคอยเฝ้าสังเกตการณ์ดูพฤติกรรมของผู้ที่เข้ามาใช้ตู้โทรศัพท์นั้นอยู่ห่างๆ ซึ่งบางคนก็ดูซองเอกสารนั้นแล้วทิ้งไว้ที่เดิม บางคนหยิบติดมือไป และบางคนช่วยส่งไปรษณีย์ให้ด้วย ทว่าอาสาสมัครบนรูปถ่ายทั้ง 2 คน ไม่มีตัวตนจริงๆ อยู่ในโลก แต่ถูกสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
ผลปรากฏว่าในวันนั้นมีผู้คนเข้ามาใช้ตู้โทรศัพท์ดังกล่าวทั้งสิ้น 212 คน และซองเอกสารที่มีรูปของผู้หญิงหน้าตาธรรมดาติดอยู่ถูกหยิบออกไปจากตู้โทรศัพท์คิดเป็น 27% ในจำนวนนี้ถูกส่งไปถึงมหาวิทยาลัยจำนวน 21% เท่านั้น ขณะที่ซองเอกสารที่มีรูปผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่หน้าตาดีกว่า ถูกหยิบออกไป 39% และถูกส่งถึงที่หมายจริงๆ 34% นักวิจัยจึงสรุปผลการทดลองนี้ว่าใบหน้าที่อยู่บนภาพถ่ายนั้นสำคัญมาก ยิ่งดูดี ก็ยิ่งมีคนอยากช่วยเหลือมากกว่าดูหน้าตาธรรมดา
เมื่อผลเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ยังคงมีคำถามอีกว่า "เกิดมาหน้าตาดี สบายจริงหรือ" นักวิจัยช่างสงสัยในเรื่องนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย จึงมีผู้ทำงานวิจัยในทำนองเดียวกันนี้อยู่หลายชิ้น เช่น สังเกตพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกน้อยของคุณแม่มือใหม่ แม้ว่าจะเป็นที่รู้กันดีว่าความรักของแม่ต่อลูกเป็นรักแท้ที่บริสุทธิ์ใจไม่ว่าลูกจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ผลการวิจัยก็พบว่าเด็กหน้าตาน่ารักจะได้รับการหอม กอด จูบ จากแม่มากเป็นพิเศษ ขณะที่แม่ที่มีลูกน้อยหน้าตาธรรมดา เด็กมักไม่ค่อยได้รับอะไรมากไปกว่าแค่การเช็ดตัวหรือให้นม
ในกรณีของเด็กที่อยู่ในวัยเรียน งานวิจัยที่ทำโดยให้ครูอาสาสมัครให้คะแนนการเขียนเรียงความของนักเรียน โดยแบ่งเป็นข้อสอบเรียงความที่มีการติดรูปถ่ายของนักเรียนทั้งที่หน้าตาดีและหน้าตาธรรมดา และเรียงความที่ไม่ได้ติดรูปของนักเรียนคนใดเลย พบว่าเด็กนักเรียนที่หน้าตาน่ารักส่วนใหญ่ได้คะแนนดีกว่าเพื่อน และนักเรียนหน้าตาธรรมดาส่วนมากก็ได้คะแนนน้อย ขณะที่เรียงความของนักเรียนที่ไม่ได้ติดรูปถ่ายมักได้คะแนนระดับปานกลาง
แม้ในวัยผู้ใหญ่ คนที่หน้าตาดีกว่าก็มักมีภาษีดีกว่า โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ในมิชิแกน วิเคราะห์ข้อมูลของพนักงานในบริษัทแห่งหนึ่ง พบว่าพนักงานทั้งชายและหญิงที่หน้าตาดี ส่วนใหญ่ได้เงินเดือนสูงกว่าพนักงานที่หน้าตาธรรมดา
หน้าตาดี คืออะไร?
หน้าตาดี คืออะไร? แล้วหน้าตาแบบไหน ถึงเรียกว่าหน้าดี? หลายคนมีดารา นางแบบ ในดวงใจ และใฝ่ฝันอยากจะมีรูปร่างหน้าตาเช่นเดียวกับศิลปินที่ตนชื่นชอบ ยกตัวอย่างนางแบบชาวเยอรมันคนหนึ่งที่หลายๆ คนชื่นชอบในตัวเธอด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป บางคนชอบรูปร่าง ท่วงท่า ใบหน้า ดวงตา หรือรอยยิ้มของเธอ แต่เมื่อนักวิจัยทดลองถ่ายภาพใบหน้าจริงๆ ของเธอ แล้วใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างใบหน้าใหม่ขึ้นมาโดยใช้ใบหน้าเดิมของเธอเป็นฐาน แล้วจัดการลบส่วนด้อย เติมส่วนดี ที่ได้จากใบหน้าอื่นๆ ที่มีอยู่ในฐานข้อมูลนับร้อยใบหน้า จนได้ใบหน้าใหม่ของเธอที่ดูสวยหมดจด
จากนั้นนำใบหน้าเดิมและใบหน้าใหม่ที่สร้างขึ้นของนางแบบคนดังกล่าวไปทำการสำรวจความเห็น และแทบทุกคนก็ลงความเห็นหรือชื่นชอบใบหน้าใหม่ของเธอมากกว่าใบหน้าแบบเดิม
แม้แต่นางแบบนายแบบที่ดูสวยหล่ออยู่บนหน้าปกนิตยสาร จนทำให้คนทั่วไปหลงใหลในความงามเหล่านั้นมานักต่อนัก แต่กว่าจะได้ภาพที่ออกมาดูดีโดดเด่นเกินจริงแบบนั้น ทีมงานต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน เพื่อให้ภาพบนปกหนังสือออกมาดูดีอย่างที่ประชาชนทั่วไปเห็น ซึ่งก็มีการนำเอาเทคนิคหลายอย่างเข้ามาช่วย ที่สำคัญคือโปรแกรมแต่งรูปภาพในคอมพิวเตอร์
ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบปกนิตยสารยังยืนยันเองด้วยว่า สิ่งที่เราเห็นด้วยตานั้นคือภาพลวงทั้งสิ้น นายแบบ นางแบบ ที่เห็นบนปกนิตยสารทุกคนล้วนถูกลบและแต่งเติมด้วยกันทั้งสิ้น และสิ่งเหล่านี้นี่เองที่สร้างแรงกดดันในคนทั่วไปให้สูงขึ้น และทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองด้อยลงไปทันที
ความงาม สิ่งดึงล่อใจในโฆษณา
ทำไมเราจึงรู้สึกมีความสุขเมื่อมองคนหน้าตาดี นั่นเพราะสมองมีการหลั่งสารที่ทำให้เรารู้สึกเป็นปลื้มนั่นเอง และเพราะการเห็นภาพคนสวยคนหล่อแล้วรู้สึกสุขใจ สิ่งนี้จึงเป็นตัวล่อใจในโฆษณานั่นเอง
นักวิจัยทดลองวัดคลื่นสมองของอาสาสมัครในขณะดูภาพยนตร์โฆษณาต่างๆ พร้อมทั้งให้เลือกโฆษณาที่รู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษ แน่นอนว่าโฆษณาที่มีดาราสวยหล่อกระตุ้นสมองให้หลั่งสารแห่งความสุขได้ดีกว่า ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดกับโฆษณาสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ด้วย เช่น รถยนต์คันหรู เครื่องประดับราคาแพง เป็นต้น และเพราะเหตุนี้โฆษณาจึงมักใช้ความงามเป็นตัวล่อใจให้ผู้ชมเข้ามาติดกับได้ง่ายๆ
อย่างไรก็ตาม ตอนท้ายของรายการนี้พิธีกรสรุปว่าทัศนคติด้านความงามขึ้นอยู่กับความคิดของตัวเอง ส่วนทางออกสำหรับคนที่อยากสวยหล่อเหมือนคนนู้นคนนี้ก็คือการเรียนรู้ที่จะชอบตัวเองที่เป็นอยู่ และความงามก็เป็นอะไรที่มากกว่าการเติมแต่งแค่รูปโฉมภายนอก