xs
xsm
sm
md
lg

กระเช้าเกี่ยวข้าว-เครื่องปอกเปลือกกุ้ง คว้าชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.อนุพงศ์ สรงประภา (ถือถ้วยรางวัล) พร้อมคณะ รับรางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชนในประเภทบุคคลทั่วไป จากผลงานเครื่องผ่าหลังและปอกเปลือกกุ้งอัตโนมัติ
ทีมนักศึกษาจากบุรีรัมย์ ควงคู่ทีมวิจัยลาดกระบัง พากระเช้าเกี่ยวข้าว-เครื่องปอกเปลือกกุ้ง คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชน เจ้าของผลงานบอก พร้อมสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ เพื่อเกษตรกรไทยต่อไป

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในโครงการ "ปตท. คลังนักคิด สิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชน" เมื่อวันที่ 13 พ.ย.51 ที่ผ่านมา ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. ผลปรากฏว่าทีมนักศึกษาจากวิทยาลัยการอาชีพนางรอง จ.บุรีรัมย์ คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทนิสิต นักศึกษา ส่วนอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ชนะเลิศในกลุ่มประชาชนทั่วไป

นายสรัญ รังคสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม ของปตท. กล่าวว่า โครงการนี้ส่งเสริมให้เยาวชน และประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศ ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมเพื่อการเกษตรที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ตลอดจนสามารถขยายผลไปสู่ชุมชนต่างๆ ได้ โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 และมีผู้สนใจจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 120 ผลงาน

ในปี้นี้ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนิสิต นักศึกษา ได้แก่ กระเช้าเครื่องเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องตัดหญ้าจากจานโรตารี่ ผลงานของนายคำรณ กรมกูล, นายวิวัฒน์ คัดชนะ และนายเอกรินทร์ ดียิ่ง นักศึกษา ปวส.2 แผนกช่างยนต์ วิทยาลัยการอาชีพนางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีนายนิวัฒ ชิ้นทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน

นายวิวัฒน์ เป็นตัวแทนของทีมเล่าให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนฟังว่า ชุมชนในท้องถิ่นของตนมีอาชีพทำนาเป็นหลัก รวมถึงครอบครัวของเขาด้วย กระทั่งในฤดูเก็บเกี่ยวครั้งหนึ่งเขาได้มีโอกาสช่วยครอบครัวเกี่ยวข้าว และรู้สึกว่าการเกี่ยวข้าวด้วยเคียวเกี่ยวข้าวแบบดั้งเดิมค่อนข้างช้า ต้องใช้เวลาและแรงงานมาก ทำให้นึกถึงเครื่องมือเกี่ยวข้าวที่ช่วยทุ่นแรงและประหยัดเวลาได้

ดังนั้นจึงริเริ่มประดิษฐ์กระเช้าเครื่องเกี่ยวข้าวขึ้นในปี 2549 และพัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งได้เป็นกระเช้าเครื่องเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องตัดหญ้าจานโรตารี่ โดยนำเครื่องตัดหญ้าแบบสายสะพายมาติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวข้าวจานโรตารี่และตะแกรงพลาสติกขึ้นรูปเป็นกระเช้าเพื่อรองรับข้าวที่เกี่ยวแล้วไม่ให้กระจัดกระจาย

รวมต้นทุนแล้วประมาณไม่เกิน 9,000 บาท สามารถเกี่ยวข้าวได้ 1 ไร่ต่อหนึ่งชั่วโมง ด้วยน้ำมัน 1 ลิตร ซึ่งเร็วและประหยัดกว่าใช้เคียวเกี่ยวข้าวถึง 3 เท่า เมื่อนำไปให้เกษตรกรทดลองใช้จริง ก็พึงพอใจและให้การตอบรับดี เพราะเกี่ยวข้าวได้เร็วขึ้น เมล็ดข้าวไม่แตกหัก และใช้แรงงานน้อยลง ซึ่งช่วยประหยัดค่าแรงได้ด้วย

นายวิวัฒน์ กล่าวถึงการได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่ารู้สึกดีใจและภูมิใจมาก และจะนำเงินรางวัลที่ได้ไปพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชนของตนเองต่อไป พร้อมกับฝากถึงเยาวชนไทยด้วยว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็อยากให้ทำด้วยความขยันและตั้งใจ ก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

ด้าน รศ.อนุพงศ์ สรงประภา อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. และทีมวิจัย ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทประชาชนทั่วไป จากผลงานสิ่งประดิษฐ์ "เครื่องผ่าหลังลอกเส้นดำและปอกเปลือกกุ้งระบบอัตโนมัติ"

อาจารย์เจ้าของสิ่งประดิษฐ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยส่งออกกุ้งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคนเป็นหลักในการปอกเปลือกและผ่าหลังกุ้งเพื่อนำเอาเส้นดำกลางหลังกุ้งออกไป แต่หากมีเครื่องมือช่วยในงานดังกล่าว ก็จะทำให้การปอกเปลือกกุ้งทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ทั้งยังช่วยลดปัญหาการแพร่เชื้อโรคจากผู้ปฏิบัติงานสู่กุ้งได้ ซึ่งในต่างประเทศก็มีเครื่องลักษณะดังกล่าวใช้แล้ว แต่ยังต้องอาศัยคนในการลำเรียงกุ้งเข้าเครื่องทีละตัว

ส่วนเครื่องผ่าหลังกุ้งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นี้ เมื่อใส่กุ้งเข้าไป เครื่องจะทำการคัดและจัดเรียงกุ้งเข้าสู่แท่นผ่าหลังกุ้งและดึงเอาเส้นดำออก จากนั้นกระเทาะเพื่อให้เปลือกและเนื้อกุ้งหลุดออกจากกัน แล้วจึงดึงแยกเอาเปลือกออก ซึ่งสามารถปรับกลไกให้เหมาะกับกุ้งได้หลายขนาด

สามารถปอกเปลือกกุ้งได้อย่างต่ำ 30 ตัวต่อนาที ขณะที่ถ้าใช้แรงงานคนที่ชำนาญการ จะทำได้อย่างมากสุด 20 ตัวต่อนาที ซึ่ง รศ.อนุพงศ์ ออกแบบเครื่องให้มีขนาดเล็กพอเหมาะสำหรับใช้ในชุมชนชาวประมง ในราคาประมาณ 15,000 บาท ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ โดยหวังว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายกุ้งให้กับเกษตรกรได้
 
ทั้งนี้ รางวัลชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท ได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท ส่วนรางวัลอื่นๆ ได้รับประกาศนียบัตร พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท

ส่วนผลงานอื่นๆ ที่ได้รับรางวัลทั้งหมดมีดังนี้

ประเภทนิสิต นักศึกษา

รางวัลชนะเลิศ กระเช้าเครื่องเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องตัดหญ้าจานโรตารี่ ผลงานของทีมนักศึกษาแผนกช่างยนต์ วิทยาลัยการอาชีพนางรอง จ.บุรีรัมย์

รองชนะเลิศอันดับ 1 ระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมผ่านมือถือ ผลงนของนายสังวร สีสุทัศน์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก

รองชนะเลิศอันดับ 2 ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำกากมะพร้าวมาสร้างเป็นแผ่นทำความเย็นแบบระเหยสำหรับโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบปิด ผลงานของ นายณัฐดนัย ตันติเจริญการ, นายรสสุพล แสงคีรีเขต และนายเมธา เป้าชัง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก

รองชนะเลิศอันดับ 3 โมดูลควบคุมสารละลายอินทรีย์เลี้ยงพืชแบบไฮโดรโพนิกส์ระบบหมุนเวียนด้วย MCT-02-6 ผลงานของนายสุทธิพงศ์ กุลวัฒนา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ประเภทประชาชนทั่วไป

รางวัลชนะเลิศ เครื่องผ่าหลังลอกเส้นดำและปอกเปลือกกุ้งระบบอัตโนมัติ ผลงานของ รศ.อนุพงศ์ สรงประภา และคณะ ภาควิชาฟิสิกส์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล.

รองชนะเลิศอันดับ 1 เครื่องบีบน้ำมันปาล์มสำหรับครัวเรือนและการนำน้ำมันปาล์มไปใช้ ผลงนของนายสมชาติ นนทะนาคร จ.นนทบุรี

รองชนะเลิศอันดับ 2 รถตัดอ้อยขนาดเล็ก ผลงานของนายทนงศักดิ์ มูลตรี อาจารย์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

รองชนะเลิศอันดับ 3 เครื่องควบคุมแสงสว่างด้วยคอนโทรลเลอร์ ผลงานของ ผศ.ดร.สุชาติ แย้มเม่น และคณะ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก.
จากซ้าย นายเอกรินทร์ ดียิ่ง, นายวิวัฒน์ คัดชนะ และนายคำรณ กรมกูล 3 นักศึกษาจากวิทยาการอาชีพนางรอง คว้าชนะเลิศประเภทนิสิต นักศึกษา จากผลงานกระเช้าเครื่องเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องตัดหญ้าจานโรตารี่
กรรมการขณะดูการสาธิตการใช้งานเครื่องปอกเปลือกกุ้งอัตโนมัติ
จานโรตารี่และกระเช้าเกี่ยวข้าวที่ติดตั้งกับเครื่องตัดหญ้าชนิดสายสะพาย ช่วยให้เกี่ยวข้าวได้เร็วขึ้น 3 เท่า
ระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมผ่านมือถือ
แผ่นทำความเย็นแบบระเหยสำหรับโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบปิดที่ทำจากกากมะพร้าว
โมดูลควบคุมสารละลายอินทรีย์เลี้ยงพืชแบบไฮโดรโพนิกส์ระบบหมุนเวียนด้วย MCT-02-6
นายทนงศักดิ์ มูลตรี ขณะอธิบายเกี่ยวกับผลงานรถตัดอ้อยขนาดเล็ก
เครื่องบีบน้ำมันปาล์มสำหรับครัวเรือน
เครื่องควบคุมแสงสว่างด้วยคอนโทรลเลอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น