xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโลกจูแรสสิกที่ภูน้อย พบฟอสซิลไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่สุดในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟอสซิลกระดูกท่อนขาขวาไดโนเสาร์กินพืชที่พบบริเวณแหล่งขุดค้นฟอสซิล บ้านโคกสนาม ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์
นักขุดฟอสซิลพบกระดูกไดโนเสาร์กินพืชยุคจูแรสสิกที่ภูน้อย ใกล้เทือกเขาพูพาน ขนาดใหญ่สุดที่เคยพบในไทย พร้อมกับฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์ตัวใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร เชื่อเป็นอีกแหล่งฟอสซิลแห่งสำคัญที่เปิดความรู้สู่โลกล้านปี

จากกรณีค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ และซากสัตว์โบราณ ที่บริเวณภูน้อย ติดกับเขตเทือกเขาภูพาน บ้านโคกสนาม ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ดร. วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า แหล่งฟอสซิลที่พบมีความน่าสนใจมาก เพราะเป็นฟอสซิลที่พบในชั้นหินภูกระดึง หรือชั้นหินในยุคจูแรสสิกตอนปลาย (Jurassic period) อายุราว 150 ล้านปีก่อน นับเป็นยุคที่ไดโนเสาร์รุ่งเรืองมาก ขณะที่ประเทศไทยยังมีข้อมูลเกี่ยวกับยุคจูแรสสิกน้อย

“ผลการสำรวจเบื้องต้นพบซากกระดูกฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคกระจัดกระจายเป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้พบกระดูกท่อนขาขวาไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับกระดูกท่อนขาขวาของฟอสซิลไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosauraus sirindhornae) ในอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นแล้ว พบว่ามีขนาดใหญ่กว่า 20-30 % จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าเราอาจจะได้พบฟอสซิลไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในประเทศไทย

นอกจากนี้ทีมสำรวจยังพบฟอสซิลเกล็ดปลาเลปิโดเทส (Lepidotes) คล้ายกับที่เคยพบในแหล่งภูน้ำจั้นที่ จ.กาฬสินธุ์ แต่มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยเจอแล้วถึง 2 เท่า และคาดว่าตัวปลาน่าจะมีขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1 เมตรทีเดียว เพราะฟอสซิลปลาเลปิโดเทสที่เคยพบมีความยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตรเท่านั้น”

ดร. วราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการสำรวจเบื้องต้น คงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งจึงจะบอกได้แน่ชัดว่าพบฟอสซิลชนิดใดบ้าง แต่เชื่อว่าฟอสซิลแหล่งใหม่ที่พบนี้ จะช่วยเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมสมัยในยุคจูแรสสิกให้แก่ประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น

(เรื่องและภาพโดย ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.)
เปรียบเทียบกระดูกท่อนขาไดโนเสาร์ ใหญ่เกือบเท่าสาวน้อยคนนี้เลยทีเดียว
ฟอสซิลเกล็ดปลาเลปิโดเทส
กำลังโหลดความคิดเห็น