xs
xsm
sm
md
lg

"ซอฟต์แวร์ต่อวงจร" โปรแกรมสอนไฟฟ้า จากหนุ่มเฟรชชีแม่โดม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบุญญฤทธิ์ สมเรียววงศ์กุล ซึ่งกำลังพัฒนาโปรแกรมต่อวงจร
ถ้าการต่อวงจรเพื่อศึกษาทฤษฎีไฟฟ้าในห้องเรียน ทำให้เสียเวลา ต้องหาอุปกรณ์ และอาจเสี่ยงต่ออันตราย เมื่อคุณครูดูแลไม่ทั่วถึง "โปรแกรมจำลองวงจรไฟฟ้า" ของเฟรชชีลูกแม่ ที่สอนทฤษฎีไฟฟ้าด้วยโปรแกรมเสมือน อาจช่วยลดความเสี่ยง ลดค่าใช้จ่าย และไม่เสียเวลาได้ ซึ่งเจ้าตัวพัฒนาได้ 50% แล้ว เพื่อร่วมประกวดโครงการพัฒนาโปรแกรมระดับเยาวชนของเนคเทค

นายบุญญฤทธิ์ สมเรียววงศ์กุล นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้พัฒนาโปรแกรมจำลองวงจรไฟฟ้าที่จะช่วยให้นักเรียนในระดับ ม.ต้น-ม.ปลาย ตลอดจน นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ได้ทดลองต่อวงจรไฟฟ้าผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยเขาระบุว่าจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจหลักการได้ง่ายกว่า อีกทั้งบางครั้งผู้เรียนก็ไม่ได้ทดลองต่อวงจรจริงแต่ใช้การเขียนวงจรบนกระดาษแทน ซึ่งทำให้ผู้เรียนสับสนได้ง่าย

"รูปแบบโปรแกรมก็จะมีโวลต์มิเตอร์ มีแอมป์มิเตอร์ มีสายไฟ เหมือนของจริงเลย ข้อดีคือช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับซื้ออุปกรณ์การทดลอง ไม่เสียเวลา เรียนเมื่อไหร่ก็ได้ และยังช่วยลดความเสี่ยงจากการการถูกไฟดูดได้ แต่ว่าโปรแกรมนี้หวังผลแค่การเรียนรู้เท่านั้น ไม่สามารถเอาไปต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรมได้" นายบุญญฤทธิ์กล่าว

ทั้งนี้โปรแกรมของเขาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 11 (Nation Software Contest: NSC 2009) ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาโปรแกรมในระดับเยาวชน ผ่านการแข่งขันพัฒนาโปรแกรม โดยให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงการละ 15,000 บาท แต่แบ่งให้ทุนรอบแรกจำนวน 5,000 บาท เมื่อผลงานผ่านการพิจารณาจะมอบทุนในรอบที่ 2 อีก 10,000 บาท

การมอบทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาโปรแกรมระดับนักเรียน-นักศึกษาของเนคเทคนี้ แบ่งออกเป็นภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคกลาง โดยกำหนดส่งผลงานรอบที่ 2 ของทุกภูมิภาคคือวันที่ 5 ม.ค.52 และคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานเด่นในแต่ละภาค เข้าประกวดในงานมหกรรมการประกวดเทคโนดลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในช่วง ต้น ก.พ.52 ซึ่งทีมชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับทุนการศึกษา 60,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวในพิธีมอบทุนรอบแรกแก่โครงการในระดับภาคกลางว่า เมื่อปี 2537 เนคเทคได้สนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับเยาวชนภายใต้โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดเล็ก และ 2 ปีต่อมาได้ปรับกลยุทธ์เป็นการแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์ จนกระทั่งปี 2542 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการโครงการแข่งขันระดับประเทศ ภายใต้ชื่อ "โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย" และได้จัดต่อเนื่องทุกปีเป็นครั้งที่ 11 แล้ว

สำหรับปี 2552 ได้แบ่งหัวข้อการแข่งขันออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนิสิต-นักศึกษา มีการแข่งขัน 5 ประเภท ได้แก่ โปรแกรมเพื่อความบันเทิง โปรแกรมช่วยเหลือคนพิการ โปรแกรมเพื่องานการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโปรแกรมเพื่อประยุกต์ใช้งานสำหรับลินุกซ์ กลุ่มนักเรียน มีการแข่งขัน 3 ประเภท ได้แก่ โปรแกรมเพื่อความบันเทิง โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และโปรแกรมเพื่อประยุกต์ใช้งาน

และกลุ่มหัวข้อพิเศษ ซึ่งมีการแข่งขัน 5 ประเภท ได้แก่ Social Web Contest, Mobile Application, โปรแกรมเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID), โปรแกรมแบ่งคำไทย และประเภทสำหรับครู-อาจารย์โดยเฉพาะ ได้แก่ สื่อบทเรียนสำหรับระบบการเรียนรู้ออนไลน์

ทั้งนี้ผู้ชนะเลิศในการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมกับผู้ชนะเลิศระดับประเทศในการแข่งขัน Thailand ICT Awards (TICTA) จะได้ร่วมแข่งขันในงาน Asia Pacific ICT Awards (APICTA) ซึ่งเป็นการประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์ในด้านต่างๆ สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมด้านไอซทีของประเทศในภูมิภาค

ส่วนโปรแกรมของนายบุญญฤทธิ์นั้น เขาเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่าพัฒนาได้ 50% แล้ว และหลังจากพัฒนาเสร็จก็จะแจกจ่ายให้ใช้ฟรีด้วย
พิธีมอบทุนพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ในรอบแรก ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่ง นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้มอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น