xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อาจกระทบแหล่งวัตถุดิบอุตสาหกรรมวัสดุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
"ดร.อานนท์" ร่วมเวทีประชุมโลกร้อนนักวิชาการ-อุตสาหกรรมวัสดุศาสตร์ ระบุภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลกระทบแหล่งวัตถุดิบอุตสาหกรรม ด้านผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานจากยูเนป ชี้การพัฒนาวัสดุช่วยลดการใช้พลังงานซึ่งเป็นปัจจัยหลักของภาวะ "โลกร้อน" ได้

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) จัดการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุแห่งประเทศไทยครั้งที่ 5 (Thailand Materials Science and Technology Conference: MSAT) ขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 ก.ย.51 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ภายใต้หัวข้อ "เทคโนโลยีวัสดุเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ" โดยผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมพิธีเปิดเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ซึ่ง ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เป็นประธาน

สำหรับวันเปิดงานประชุมวิชาการของเอ็มเทคนั้น นายมาร์ก รัดกา (Mark Radka) หัวหน้าสาขาพลังงาน แผนกเทคโนโลยี อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ (Division of Technology, Industry and Economics: DTIE) องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนป (United Nations Environment Programme: UNEP) ได้ร่วมบรรยายพิเศษ ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ปัญหาของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดจากภาคพลังงานเป็นหลัก ซึ่งวัสดุจะเข้ามารับมือกับปัญหานี้ได้ในแง่ของการพัฒนาวัสดุที่ช่วยลดการใช้พลังงานลง

ตัวแทนจากยูเนปซึ่งออกตัวว่าถนัดในเรื่องพลังงาน แจกแจงลงไปว่า วัสดุศาสตร์ช่วยในการพัฒนาวัสดุที่จะทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียน อาทิ การพัฒนาระบบพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของวัสดุเป็นสำคัญ โดยเขายกตัวอย่างโรงงานรถยนต์ในไทย ที่พัฒนารถยนต์ให้มีน้ำหนักเบาขึ้นด้วยวัสดุผสมที่มีน้ำหนักเบา ช่วยให้ใช้พลังงานได้ลดลง

หรือโรงไฟฟ้าที่บางประกงก็ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินได้มากขึ้นด้วยวัตถุเท่าเดิม ซึ่งเป็นผลจากเครื่องจักรที่มีการพัฒนาวัสดุให้รองรับ นอกจากนี้อนาคตตึกสูงๆ อย่างในกรุงเทพมหานครนั้น อาจใช้วัสดุประเภทกระจกเคลือบฟิล์มบาง ซึ่งรับพลังงานจากแสงแดดไปเปลี่ยนไปพลังงานสำหรับใช้ภายในอาคารได้ คาดว่าเทคโนโลยีหลังนี้น่าจะใช้ได้จริงในอีก 10-15 ปีข้างหน้า

นายรัดกากล่าวว่า วัสดุจะเป็นส่วนสำคัญมากๆ และอยู่แถวหน้าในการรับมือกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พร้อมทั้งพูดถึงการจัดการขยะ ซึ่งอยู่นอกสาขาที่เขาถนัดแต่ก็ได้กล่าวว่า หากอนาคตมีเทคโนโลยีที่สามารถแยกขยะพิษออกจากขยะทั่วไปได้ ก็สามารถนำขยะเหล่านั้นไปผลิตพลังงานได้มากขึ้น

ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งให้ความเห็นกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์หลังบรรยายพิเศษในงานประชุมของเอ็มเทคว่า สิ่งที่เขาอยากจะชี้คือ กลุ่มงานทางด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับวัสดุอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เช่น วัสดุที่ผลิตจากยาง มันสำปะหลัง ข้าวโพดและอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ได้จากภาคเกษตร แต่การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอาจทำให้แหล่งปลูกวัตถุดิบเหล่านั้นมีความไม่แน่นอน จากที่เคยปลูกได้กลายเป็นปลูกไม่ได้ หรือจากที่ปลูกไม่ได้กลายเป็นปลูกได้

"นอกจากนี้น้ำก็จะกลายเป็นปัญหาในอนาคต ทรัพยากรน้ำที่จะใช้ในการผลิตอาจจะหาได้ยากขึ้น จึงต้องปรับกระบวนการผลิตให้ใช้ปริมาณน้ำน้อยลง" ดร.อานนท์กล่าว พร้อมยกตัวอย่างการพัฒนาวัสดุสำหรับผลิตเสื้อผ้าที่ไม่ใช้น้ำมาก หรือพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่รองรับสภาวะอากาศร้อนและฝนตกมากขึ้นได้ เป็นต้น แต่ทั้งนี้การพัฒนาในสาขาวัสดุจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับการวิจัยและพัฒนาสาขาอื่นๆ ด้วย

ด้าน ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา กล่าวว่า วัสดุนั้นนั้นมีความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและคุณสมบัติ หากอยากได้คุณสมบัติใดก็กำหนดโครงสร้างเพื่อให้ได้คุณสมบัตินั้น ซึ่งวัสดุสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในแง่ของการใช้ 3 ทาง ได้แก่ รีดิวซ์ (reduce)-ลดการใช้ รียูส (reuse) -ใช้แล้วใช้อีก และ รีไซเคิล (recycle) - สำหรับวัสดุที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แต่ทั้งหมดก็ยังเหลือเป็น "ขยะ" จึงต้องมีวิธีจัดการซึ่งทำได้หลายวิธี

"ชาววัสดุศาสตร์ต้องให้ความสนใจ ในฐานะคนสร้างวัสดุก็สร้างวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดใช้พลังงาน และเก็บพลังงานได้ ทั้งนี้เราสามารถพัฒนาวัสดุที่ช่วยให้ใช้พลังงานได้ประหยัดและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาวัสดุสำหรับพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานจากลมและแสงแดด เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาวแบตเตอรีที่สามารถเก็บพลังงานไว้ใช้ได้นานขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ดร.วีระศักดิ์กล่าว
นายมาร์ก รัดกา
ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา
กำลังโหลดความคิดเห็น