xs
xsm
sm
md
lg

"นรพัทธ์ ศรีมโนภาษ" กับประสบการณ์วิจัยที่เซิร์น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

  นายนรพัทธ์ ศรีมโนภาษ
ก้าวแรกของ "เซิร์น" ในการประกาศความพร้อม ที่จะเริ่มต้นทดลองไขปริศนาจักรวาลได้ผ่านไปแล้ว ท่ามกลางการจดจ้องของคนทั่วโลก ไม่เว้นกระทั่งคนไทยหลายๆ คน ที่ไม่เคยสนใจวิทยาศาสตร์แม้แต่น้อย ก็ยังคงตื่นเต้นต่อเรื่องนี้ และในก้าวแรกนี่เอง ก็มีคนไทยเล็กๆ คนหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งในนั้น

นรพัทธ์ ศรีมโนภาษ นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือหนึ่งในคนไทยไม่กี่คน ที่ได้มีส่วนร่วมในการทดลองที่ เซิร์น (CERN) หรือ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) ก่อนที่จะมีการทดลองยิงลำอนุภาคแรกเข้าเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี เมื่อวันที่ 10 ก.ย.51

ครั้งแรกเขาได้รับทุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนภาคฤดูร้อนไปทำวิจัยที่เซิร์นอยู่ 3 เดือน เมื่อปี 2547 ซึ่งได้ไปประจำที่สถานีตรวจวัดอนุภาคซีเอ็มเอส (CMS) ซึ่งเป็นสถานีตรวจวัดที่วัดอนุภาคทั่วไป โดยงานที่ทำคือศึกษาว่า อนุภาคนิวตรอนซึ่งไม่มีประจุนั้น รบกวนสัญญาณเครื่องตรวจวัดอนุภาคหรือไม่

ตัวอย่างของการตรวจวัดของซีเอ็มเอส ซึ่งตรวจหาสัญญาณของฮิกก์สที่จะสลายไปเป็นอนุภาคมิวออน (muon) 4 ตัว ซึ่งก็ต้องดูว่ามีอะไรรบกวนสัญญาณของมิวออนหรือไม่ โดยมิวออนจัดอยู่ในอนุภาคประเภทเลปตอน (lepton) หรืออนุภาคที่ไม่ได้ประกอบควาร์ก

ทั้งนี้ หากการวิจัยในช่วงก่อสร้างเครื่องเร่งอนุภาคของเซิร์นนั้น พบว่านิวตรอนมีผลรบกวนสัญญาณค่อนข้างมากแล้ว กลุ่มงานของนรพัทธ์จะต้องพูดคุยกับ กลุ่มที่สร้างเครื่องตรวจวัด ให้ทำตัวดูดซับนิวตรอนเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่จากการศึกษาครั้งนั้น พบว่านิวตรอนที่เกิดขึ้นไม่มีผลต่อสัญญาณ

จากการวิจัยครั้งแรกนี่เอง ทำให้นรพัทธ์ได้หัวข้อสำหรับทำวิจัยระดับปริญญาเอก ในเรื่องทฤษฎีสมมาตรยิ่งยวด (Supersymmetry) ที่เขากำลังศึกษาอยู่ และได้กลับไปร่วมงานที่เซิร์นอีกครั้ง เมื่อปี 2549 และ 2550 จากการไปทำวิจัยต่างประเทศตามข้อกำหนดของทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) เป็นเวลา 1 ปี แต่เขาได้แบ่งเวลาศึกษาออกเป็นปีละ 6 เดือน

สำหรับการทดลองยิงลำอนุภาคแรกในวัน "เฟิร์สต์บีมเดย์" (LHC First Beam Day) ของเซิร์นครั้งที่ผ่านมา นรพัทธ์ระบุว่าเป็นเหมือนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ คล้ายกับประกาศว่า "พร้อมแล้วนะ" โดยการทดลองครั้งนี้ เป็นเพียงการทดสอบเตรียมความพร้อมของเครื่องเร่งอนุภาคว่า ลำอนุภาควิ่งได้ครบรอบอุโมงค์วงแหวนหรือไม่

"อันที่จริงสามารถทำเงียบๆ ได้ แต่เนื่องจากเซิร์นได้รับเงินจากหลายประเทศ จึงต้องทำให้เห็นว่าได้ทำอะไร อีกทั้งเป็นโอกาสให้นักข่าวสามารถซักถามเกี่ยวกับเรื่องเซิร์นได้เต็มที่ เนื่องจากมีนักวิทยาศาสตร์ที่คอยตอบคำถามโดยเฉพาะ" นรพัทธ์กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า หากเกิดกรณีพลังงานไม่เพียงพอ ระบบภายในเซิร์นจะคำนวณว่าต้องดับหรือหยุดการทำงานส่วนไหน จากนั้นก็วัสดุดูดซับอนุภาคภายในท่อ ซึ่งความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องมีวัสดุดูดซับดังกล่าวก็ได้ เนื่องจากมีผนังคอนกรีตอยู่โดยรอบ ที่ดูดซับอนุภาคต่างๆ อยู่แล้ว

ส่วนความกังวลว่าจะเกิดเหตุอันไม่คาดคิดจากการทดลองของเซิร์นหรือไม่นั้น นรพัทธ์กล่าวชัดเจนว่า "ถ้ามีจะอะไรเกิดขึ้น คงเกิดมานานแล้ว" โดยเขาขยายความต่อว่า ระดับพลังงานที่เกิดขึ้นถือว่าสูงในระดับพลังงาน แต่น้อยมากเมื่อเทียบในชีวิตประจำวัน โดยน้อยกว่าวัตถุ 1 กิโลกรัมที่ตกสู่พื้นระดับความสูง 1 เมตร ซึ่งคิดเป็นพลังงานได้ 9.8 จูล ขณะที่พลังงานจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีนั้นทำได้ 14 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ หรือ 22 X 10-7 จูล เท่านั้น นอกจากนี้ รังสีที่ไว้ได้จากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีนั้นอยู่ที่ปีละ 10 ไมโครซีเวิร์ต* ขณะที่รังสีจากสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในสวิตเซอร์แลนด์วัดได้ 2,400 ไมโครซีเวิร์ต

ส่วนต่างประเทศมีความตื่นตระหนกต่อการทดลองของเซิร์นบ้างหรือไม่นั้น นายนรพัทธ์กล่าวว่า เนื่องจากเขาอยู่ท่ามกลางนักวิทยาศาสตร์ของเซิร์น ซึ่งทุกคนทราบอยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็ไม่ได้มีความตื่นตระหนกในเรื่องนี้ แต่ก็ได้ให้ความเห็นต่อบรรยากาศที่เกิดขึ้นในเมืองไทยว่า เป็นไปอย่างไม่ฟังเหตุผลเท่าไหร่ ขณะที่ต่างประเทศจะรับฟังเหตุผล และไม่นำเสนอความตื่นกลัวอย่างพร่ำเพรื่อ

สำหรับความประทับใจจากการได้ร่วมวิจัยกับองค์กรระดับโลกนี้ นรพัทธ์เปิดใจว่า ที่เซิร์นมีความพร้อมและบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำวิจัยมาก พร้อมยกตัวอย่างว่า หากมีปัญหาทางด้านคอมพิวเตอร์ก็มีเจ้าหน้าที่ดูแล มีปัญหาเรื่องวีซาในการเดินทางไปทำวิจัยก็มีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ หรือห้องสมุดที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง มีอิสระในการทำงานที่จะเลือกอะไรหรือเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องคิดจุกจิก ดังนั้นจึงทำงานได้อย่างเต็มที่
บรรยากาศภายในห้องควบคุม ของ วันเฟิร์สบีมเดย์ หรือวันปล่อยลำอนุภาคแรกเข้าเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีของเซิร์น (ภาพจากเซิร์น)




Special : "เซิร์น" กับปฏิบัติการค้นหาต้นตอจักรวาล

สัญญาณจากการส่งลำอนุภาคเข้าเครื่องเร่งอนุภาค (ภาพจากเซิร์น)
เครื่องตรวจวัดอนุภาคซีเอ็มเอส ก่อนติดตั้งในอุโมงค์ใต้ดิน (ภาพจากเอเอฟพี)
นรพัทธ์กับเพื่อนที่ทำงานเกี่ยวกับการวัดและระบบแม่เหล็กของเครื่องเร่งอนุภาคแอเอชซี เมื่อครั้งทำงานวิจัยที่เซิร์น (นรพัทธ์)
แกะที่อยู่บนพื้นดินเหนือเครื่องเร่งอนุภาคขนาดเล็กก่อนเร่งอนุภาคเข้าเตรื่องแอลเอชซี (นรพัทธ์)
นักศึกษาที่แลกเปลี่ยนทำวิจัยกับเซิร์นเมื่อปี 2547 (นรพัทธ์)
กำลังโหลดความคิดเห็น