“สนัปปี” สุนัขโคลนนิง วัย 3 ขวบ ผลิตทายาทจากการผสมเทียม นำฝากท้องแม่หมาโคลนอีก 2 ตัว จนคลอดออกมา และเหลือรอด 9 ตัว นับเป็นลูกหมาที่ได้จากพ่อแม่พันธุ์โคลนนิงครอกแรกของโลก
เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 “เอสเอ็นยู” มหาวิทยาลัยแห่งชาติเกาหลีใต้ ในกรุงโซล (Seoul National University : SNU) ได้ฝากชื่อให้แก่วงการวิศวพันธุกรรมโลก ด้วยการสร้าง “สุนัขโคลนนิง” สำเร็จขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้ชื่อว่า “สนัปปี” (Snuppy) อันย่อมาจาก “Seoul National University puppy” หรือ ลูกหมาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล
“สนัปปี” เป็นสำเนาเลียนแบบสุนัขอาฟกัน ฮาวนด์ (Afghan Hound) เพศผู้วัย 3 ปี โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) จากบริเวณหู นำไปฝากตัวอ่อน ที่มดลูกของลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ สีเหลือง ตามเทคนิควิธีเดียวกับ “แกะดอลลี
ผ่านมา 3 ปี วันนี้ “สนัปปี” กลายเป็นพ่อหมา โดยการผสมเทียม และให้สุนัขโคลนนิงเพศเมีย ที่โคลนสำเร็จในอีก 1 ปีถัดมา เป็นแม่พันธุ์ นับเป็นสุนัขครอกแรกที่กำเนิดจากพ่อแม่หมาที่เป็นโคลน
รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า ลูกหมาเกิดเมื่อช่วงวันที่ 14-18 พ.ค.51 มีทั้งหมด 10 ตัว แต่ตายไปแล้ว 1 ตัว ส่วนอีก 9 ตัวแข็งแรงดี
”นี่แสดงให้เห็นว่า สุนัขโคลนนิง ก็มีศักยภาพในการสืบพันธุ์” ลี บยุง-ชุน (Lee Byung-Chun) หัวหน้าทีมวิจัยเผย เพราะนอกจากการโคลนสุนัขจะเป็นเรื่องยากกว่าสัตว์อื่นๆ แล้ว ยังเป็นที่จับตามองว่า สุนัขที่ได้จากการทำสำเนา อาจจะไม่สามารถมีทายาทได้
การขยายพันธุ์จากสุนัขโคลนนิงจนสำเร็จนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาสุนัขดมกลิ่น หรือสุนัขนำทางต่อไปได้ อีกทั้งหมาป่าโคลนนิงตัวแรกของโลก ที่ทางทีมวิจัยก็ทำสำเร็จ ก็จะมีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีเดียวกันนี้ต่อไป
แท้จริงแล้ว ผลสำเร็จในการทำสำเนาสุนัขครั้งแรกของโลกนั้น มีหัวหน้าทีมคือ ดร.หวาง อูซก แต่ภายหลังต้องคดีทุจริตงบประมาณรัฐบาล และปลอมแปลงงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์ ลงวารสารระดับโลก จึงต้องคดีและถูกแบนจากรัฐบาล ทว่าผลงานสุนัขโคลนนิงของเขา ก็ได้รับการยืนยันว่าทำสำเร็จจริง ตามที่เห็น.