xs
xsm
sm
md
lg

"วัชระ" คนดูนกผู้ไม่ปลื้มนักที่ถูกเรียก "แฟนพันธุ์แท้"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัชระ สงวนสมบัติ แฟนพันธุ์ดูนก 2 สมัย กับตัวซาลาแมนเดอร์บนยอดดอย
เป็นเรื่องปกติ ที่เรามักจะรู้สึกชื่นชม ผู้มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง อย่างโดดเด่น แต่ทางฟาก "วัชระ สงวนสมบัติ" ผู้อยู่ในฐานะ "แฟนพันธุ์แท้ดูนก" ถึง 2 สมัย เขารู้สึกแปลก ที่ได้รับการแนะนำตัวเช่นนั้น

วัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กลายเป็นรู้จักของคนทั่วไป เมื่อเป็นแชมป์ 2 สมัย "สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ดูนก" ประจำปี 2547 และ 2550 จากรายการแฟนพันธุ์แท้

เขากล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อมวลชนว่า ในสถานการณ์ ที่ไม่เป็นทางการว่า ส่วนตัวเขารู้สึกไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ที่ได้รับการแนะนำตัวกับคนอื่นว่า เป็นแฟนพันธุ์แท้ดูนก เพราะไม่รู้ว่าจะแนะนำเช่นนั้นทำไม ยกเว้นกรณีที่ต้องเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ซึ่งเขาเองก็ได้เตรียมตัวล่วงหน้า

อย่างไรก็ดี ตำแหน่งที่ได้รับจากการแข่งขันเกมโชว์ ก็ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ ในการเป็นวิทยากรเพิ่มขึ้น และเป็นโอกาสให้เขาได้ให้ความรู้คนอื่นได้ ซึ่งเขาเผยว่าได้เดินสายบรรยายพิเศษ เรื่องการดูนกมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้ว

วัชระเผยว่า เขาสนใจและเริ่มดูนกด้วยตัวเอง โดยมีคู่มือดูนกของ นพ.บุญส่ง เลขะกุล หรือหมอบุญส่ง ที่ทำให้เขาหลงเสน่ห์นก เพราะคู่มือดังกล่าวทำให้ศึกษาด้วยตัวเองได้ โดยการดูนกที่มีคนคอยบอกให้ดู ไม่ช่วยให้จดจำอะไรได้ เพราะไม่ได้สังเกตรายละเอียดด้วยตนเองเท่าไหร่ และหากมีหนังสือลักษณะนี้มากๆ จะมีนักธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีกเยอะ

อีกทั้ง ในวาระครบรอบ 100 ปี ของหมอบุญส่ง เขาได้ร่วมกับ ศ.ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. และ น.สพ.กานต์ เลขะกุล ซึ่งหลานของหมอบุญส่ง เขียนคู่มือดูนกฉบับภาษาไทย 2 เล่ม ตามเจตนารมย์ของหมอบุญส่งก่อนเสียชีวิต ที่ปรารถนาให้มีคู่มือที่ช่วยให้คนไทยสามารรถเรียนรู้การดูนกได้ด้วยตัวเอง

นอกจากการดูนก วัชระยังมีงานวิจัย ในการสำรวจนกในลุ่มแม่น้ำโขง และนกกลางทะเล ในส่วนของนกในลุ่มน้ำโขงนั้น เขาเกริ่นว่า คนทั่วไปมักจะคิดว่าแม่น้ำสายนั้น ไม่อุดมสมบูรณ์และแห้งแล้ง แต่แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่นั้น ได้มีการค้นพบรังนก "เด้าลมแม่น้ำโขง" ซึ่งเป็นนกชนิดใหม่ของโลกและได้รับการตั้งชื่อเมื่อปี 2544

"คนไทยเคยเก็บตัวอย่างมาได้ตั้งแต่ปี 2534 แล้ว แต่จำแนกผิดเป็นนกอุ้มบาตร จนมีนักปักษีชาวยุโรป เดินทางศึกษาแล้วตั้งข้อสังเกตว่า ไม่น่าจะใช่ เพราะปกตินกอุ้มบาตรจะทำรังที่จีน ซึ่งไกลจากบริเวณที่พบรังนกชนิดนี้มาก จึงมีการศึกษาอย่างจริงจัง แล้วตั้งชื่อใหม่ แต่หลังจากเก็บรังครั้งนั้นได้ก็ไม่พบอีกเลย" วัชระระบุ

ส่วนการสำรวจนกกลางทะเลนั้น แฟนพันธุ์แท้นก 2 สมัยให้ความสนใจเนื่องจาก มีข้อมูลเกี่ยวกับนกชนิดนี้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่มีคนสนใจเพราะการเดินทางลำบาก พร้อมเล่าพฤติกรรมของนกทะเล เช่น นกโจรสลัด ที่มีพฤติกรรมโฉบขโมยปลากจากปากนกทะเลชนิดอื่นๆ จนเป็นที่มาของชื่อ

ศึกษาดูนกแล้ว ได้ประโยชน์อะไรนั้น วัชระตอบว่าการศึกษาข้อมูลนกสามารถนำไปใช้ประเมินด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการของรัฐได้ เช่น กรณีโครงการสร้างเขื่อนไทย-ลาว ที่รัฐบาลพยายามผลักดันอยู่นี้ ก็อยู่ในพื้นที่ซึ่งพบรังนกเด้าลมแม่น้ำโขงและนกใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ

"การดูนก ทำให้รู้จักอดทน และเป็นคนช่างสังเกต ทำให้ใจเย็น เพราะต้องไม่ทำให้นกตกใจ ไม่อย่างนั้นจะพลาดโอกาสในการสังเกตพฤติกรรมนกตามธรรมชาติ ผมเคยตกใจเสียงท้องตัวเองร้อง เพราะต้องเงียบจนไม่มีเสียงอะไร และบริเวณนั้นก็เป็นด่านสัตว์ที่มีช้างและเสือผ่าน ทำให้ตกใจเสียงท้องร้องของตัวเอง" วัชระปิดท้ายประโยชน์ของการดูนกและเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมา.
นกโจรสลัดเล็ก ซึ่งเป็นนกทะเลชนิดหนึ่ง (ภาพโดยวัชระ สงวนสมบัติ)
นกโจรสลัดเล็กโฉบอยู่กลางทะเล (ภาพโดยวัชระ สงวนสมบัติ)
ภาพนกเงือกคอแดงตัวผู้กำลังหาอาหารมาป้อนนกตัวเมียและลูก เป็นภาพที่วัชระบันทึก เมื่อเฝ้าดูพฤติกรรมของนกชนิดนี้ (ภาพโดยวัชระ สงวนสมบัติ)
วัชระขณะเฝ้าดูพฤติกรรมนกทะเล
วัชระขณะดูนกบริเวณลุ่มน้ำโขง
กำลังโหลดความคิดเห็น