xs
xsm
sm
md
lg

แชมป์เก่าคว้าแชมป์ "เครื่องบินกระดาษพับ" มหกรรมวิทย์ เตรียมบินสู้ศึกญี่ปุ่นต้นปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แถวหน้าจากซ้าย) นายจิรศักดิ์ เสือชม, นายชลัช รอดปัญญา, นายสุรินทร์ อินทโชติ, ด.ช.อดิรุจ สุทินเผือก, ด.ช.อรรถวุธ เอมวรรณธนะ และ ด.ช.หม่อง ทองดี 6 เยาวชนที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 5 ถ่ายภาพร่วมกับนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง (แถวหลัง ที่ 2 จากขวา) รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ หลังเสร็จสิ้นการแข่งขันและการมอบรางวัล
"สุรินทร์" คว้าแชมป์เครื่องบินกระดาษพับ ประเภทบุคคลรุ่นผู้ใหญ่สมัยที่ 2 ได้ตัวเครื่องบินไปแข่งขันชิงแชมป์ที่ญี่ปุ่นต้นปีหน้าอีกรอบ พร้อม "น้องหม่อง" แชมป์รุ่นเด็กของปีนี้ จากเชียงใหม่ เจ้าของแชมป์ 2 สมัย เผยอยากทำให้ไทยเป็นหนึ่ง เรื่องเครื่องบินกระดาษพับ อย่ามองเป็นเรื่องไร้สาระ พร้อมชักชวนให้ลองเล่น ได้ทั้งความรู้และฝึกสมาธิ

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.51 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ของการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และสมาคมเครื่งบินกระดาษพับ ได้จัดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 รอบชิงชนะเลิศประเภทบุคคล รุ่นเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี และรุ่นผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ชนะเลิศทั้ง 2 รุ่น จะได้เดินทางไปร่วมการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่นต้นปีหน้า

ผลการแข่งขันปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศรุ่นเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี คือ ด.ช.หม่อง ทองดี ทำเวลาได้ 12.50 วินาที รางวัลที่ 2 ได้แก่ ด.ช.อรรถวุธ เอมวรรณธนะ ทำเวลาได้ 12.08 วินาที และรางวัลที่ 3 ได้แก่ ด.ช.อดิรุจ สุทินเผือก ทำเวลาได้ 11.63 วินาที

ส่วนรางวัลชนะเลิศรุ่นผู้ใหญ่ ตกเป็นของนายสุรินทร์ อินทโชติ แชมป์เก่าเมื่อปี 2549 ซึ่งปีนี้ทำเวลาได้ 17.87 วินาที รางวัลที่ 2 ได้แก่ นายชลัช รอดปัญญา ทำเวลาได้ 15.15 วินาที และรางวัลที่ 3 ได้แก่ นายจิรศักดิ์ เสือชม ทำเวลาได้ 13.69 วินาที

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศ ได้รับโล่พร้อมเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท เครื่องบินบังคับวิทยุ 1 เครื่อง และเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่นประมาณเดือน ก.พ. 2552 ส่วนรางวัลที่ 2 ได้โล่พร้อมเงินรางวัล 5,000 บาท และเครื่องบินบังคับวิทยุ 1 เครื่อง รางวัลที่ 3 ได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 3,000 บาท และเครื่องบินบังคับวิทยุ 1 เครื่อง

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้คุยกับน้องหม่องหลังขึ้นรับรางวัล น้องหม่องบอกว่า เพิ่งเข้าแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยคุณครูที่โรงเรียนเป็นผู้แนะนำ ซึ่งน้องหม่องเรียนอยู่ชั้น ป.3 โรงเรียนบ้านห้วยทราย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และได้ลงแข่งขันระดับภูมิภาคของภาคเหนือเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ร่วมกับเพื่อนโรงเรียนเดียวกันอีกหลายคน แต่น้องหม่องสามารถทำให้เครื่องบินร่อนได้นานที่สุด จึงได้เป็นตัวแทนภาคเหนือมาแข่งชิงแชมป์ระดับประเทศ โดยมีคุณครูที่โรงเรียนพามา

น้องหม่องเผยอีกว่า ดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และการได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ก็สนุกมาก ได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ อีกหลายคน และจะนำวิธีการพับเครื่องบินกระดาษไปสอนเพื่อนๆ ที่โรงเรียนให้ได้ทดลองเล่นกัน ซึ่งน้องหม่องบอกว่าการเล่นเครื่องบินกระดาษพับนั้นไม่ยากเลย โดยเริ่มต้นน้องหม่องก็ให้เพื่อนช่วยสอนให้เช่นเดียวกัน

ส่วนนายสุรินทร์ หนุ่มวัย 25 ปี พนักงานบริษัทออร์แกไนเซอร์แห่งหนึ่งที่คว้าแชมป์การแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อปี 2549 ซึ่งยังได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันชิงแชมป์ของประเทศญี่ปุ่น ก็คว้ารางวัลที่ 3 มาครองได้สำเร็จ

"ครั้งแรกที่ตัดสินใจเข้าแข่งขัน เพราะว่ามาเดินงานสัปดาห์วิทย์แล้วเห็นว่า กำลังรับสมัครอยู่พอดี จึงลองสมัครดู และปรากฏว่าแข่งแล้วได้แชมป์ และได้ไปแข่งที่ญี่ปุ่น ก็ได้รางวัลที่ 3 กลับมา ส่วนปี 2550 ก็ลงแข่งขันอีก แต่ทำเวลาได้ไม่ดีพอ จึงไม่ได้รางวัลใดเลย" นายสุรินทร์ เล่า ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็ตั้งใจฝึกฝนอีกครั้งเพื่อหวังทวงแชมป์คืนในปีนี้ และในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จจนได้

สุรินทร์บอกว่า การเล่นเครื่องบินกระดาษพับช่วยฝึกสมาธิได้เป็นอย่างดี และทำให้ผู้เล่นเป็นคนละเอียดอ่อน เพราะการพับเครื่องบิน กระดาษจะต้องเรียบ ห้ามยับแม้แต่นิดเดียว เพราะจะมีผลต่อการบินทันที

นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้หลักการว่าทำไมเครื่องบินถึงลอยได้ ทั้งที่ไม่ต้องมีใบพัด และต้องใช้หลักทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วยในการทำให้เครื่องบินกระดาษร่อนได้นานที่สุด

กว่าจะทำให้เครื่องบินกระดาษพับร่อนในอากาศได้นานที่สุด จนกลายเป็นผู้ชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่เพราะฟลุคแน่นอน แต่สุรินทร์ใช้เวลาพัฒนารูปแบบของเครื่องบินกระดาษพับแลฝึกซ้อมยาวนานถึง 2 เดือน เพื่อให้ได้เครื่องบินกระดาษพับลำที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดสำหรับการแข่งขันชิงแชมป์ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะต้องออกแบบเครื่องบินกระดาษตามแต่ทักษะและจินตนาการของแต่ละคน ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องพับเครื่องบินด้วยรูปแบบเดียวกันทุกคน

"ฝึกซ้อมตอนเช้าทุกวัน วันละ 1-2 ชั่วโมง ก่อนไปทำงาน ลำไหนลอยอยู่ได้นานก็เก็บลำนั้นไว้ แล้วมาวัดสัดส่วนต่างๆ ว่าส่วนไหนเป็นอย่างไร กว้าง, ยาวเท่าไหร่ ส่วนลำไหนขว้างแล้วร่อนไม่ดี ร่อนไม่ได้นาน เราก็ต้องมาหาคำตอบว่าเป็นเพราะอะไร และพยายามหาทางแก้ไขให้ได้ โดยใช้หลักการทางฟิสิกส์เข้าช่วย"

"
ทิศทางการขว้างก็มีผล ยิ่งขว้างเครื่องบินได้สูงเท่าไหร่ ก็จะทำให้เครื่องบินร่อนอยู่ในอากาศได้นานเท่านั้น ซึ่งสถิติที่ของตัวเองที่เคยทำไว้ได้นานที่สุดคือ 18.50 วินาที" สุรินทร์เล่าให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟัง และไม่หวงห้ามด้วยหากใครจะนำเคล็ด (ไม่) ลับนี้ไปใช้พัฒนาเครื่องบินกระดาษพับของตัวเอง

สำหรับการเดินทางไปแข่งขันชิงแชมป์ของประเทศญี่ปุ่นต้นปีหน้า สุรินทร์บอกว่าเขาจะเตรียมตัวและฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ เพื่อหวังคว้าแชมป์รายการนี้ให้ได้ ซึ่งสุรินทร์บอกว่าที่ประเทศญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญกับการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับมาก จึงจัดการแข่งขัน 2 ปีครั้ง และส่งเสริมให้ประชาชนฝึกสมาธิโดยการเล่นเครื่องบินกระดาษพับ

ส่วนในประเทศไทย สุรินทร์บอกว่าคนไทยเริ่มให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก และทั่วโลกมีอยู่เพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่มีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับกันอย่างจริงจัง ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งสุรินทร์ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ในเรื่องเครื่องบินกระดาษพับ

"อยากให้ทุกคนลองพับเครื่องบินกระดาษเล่นดู กระดาษในมือท่านอาจทำให้ท่านค้นพบว่าตัวท่านก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถคนหนึ่งก็ได้ อีกทั้งกระดาษก็สามารถย่อยสลายได้ ไม่เหมือนกับของเล่นพลาสติกอื่นๆ และอยากให้ทุกโรงเรียนสอนเรื่องเครื่องบินกระดาษพับ หรือปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักเครื่องบินกระดาษพับ"

"ไม่อยากให้มองว่าเป็นเพียงของเล่นเด็กหรือเรื่องไร้สาระ
บางครั้งการที่เด็กจะเล่นหรือทำอะไร ผู้ใหญ่ไม่ควรห้าม แต่ควรดูแลและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง เพราะเด็กจะเกิดการเรียนรู้ผ่านการทดลองเล่นด้วยตัวเอง ซึ่งเครื่องบินกระดาษพับก็ให้ทั้งความรู้และช่วยฝึกสมาธิของเราด้วย" สุรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย.
ด.ช.หม่อง ทองดี แชมป์รุ่นเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี รับรางวัลจากนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง
นายสุรินทร์ อินทโชติ แชมป์รุ่นผู้ใหญ่ รับรางวัลจากนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง
ด.ช.หม่อง ทองดี ถ่ายภาพร่วมกับคณะครูจากโรงเรียนบ้านห้วยทรายที่มาเชียร์ลูกศิษย์ถึงขอบสนาม
แชมป์ 2 รุ่น ประชันหล่อ
สุรินทร์ตั้งท่าลีลาแชมป์ เตรียมพุ่งเครื่องบินกระดาษพับโชว์อีกรอบหลังรับรางวัลเสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น