xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประสบการณ์ใหม่ สัมผัสโลกไร้แสงสว่างผ่าน "บทเรียนในความมืด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทเรียนในความมืด นิทรรศการที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในหลายประเทศ เกิดจากแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่จำลองสถาณการณ์ในชีวิตประจำวันให้อยู่ในโลกแห่งความมืด เพื่อให้คนตาดีได้ทดลองใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นที่นอกเหนือจากการมองเห็น และให้เห็นคุณค่าของชีวิต รวมถึงรับรู้วิถีใช้ชีวิตในโลกมืดของผู้พิการทางสายตา
เคยสงสัยไหมว่าถ้าโลกนี้ไร้ซึ่งแสงสว่าง สิ่งใดจะเป็นเครื่องนำทางให้เราก้าวไปข้างหน้า แล้วถ้าต้องอยู่ในโลกแห่งความมืด เราจะมีวิธีรับรู้หรือจินตนาการสิ่งที่อยู่รอบตัวได้อย่างไร "บทเรียนในความมืด" มีคำตอบไว้ให้แล้ว และจะทำให้เราค้นพบในสิ่งที่มองไม่เห็นอีกด้วย

นิทรรศการชุด "บทเรียนในความมืด" หรือ "ดีไอดี" (Dialogue in the Dark: DID) ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่จัดแสดงในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าเรียนรู้และได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมาก ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงไปเปิดประสบการณ์และนำมาเล่าสู่กันฟัง

บทเรียนในความมืดเกิดจากแนวคิดและพัฒนาขึ้นโดย ดร.แอนเดรียส ไฮเนคเก (Dr.Andreas Heinecke) ชาวเยอรมัน โดยการจำลองสถานการณ์เสมือนว่าเรากำลังดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามปกติ เพียงแต่ว่าอยู่ในความมืดสนิทและไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยการมองเห็น

ก่อนเริ่มเข้าสู่บทเรียนและท่องไปในโลกแห่งความมืด ทุกคนจะได้รับไม้เท้านำทางคนละ 1 อัน พร้อมคำอธิบายวิธีการใช้งานจากเจ้าหน้าที่ และข้อห้ามมิให้พกพาอุปกรณ์ใดๆ ที่เรืองแสงได้ติดตัวไปด้วย เช่น นาฬิกา เครื่องประดับ หรือแม้แต่แว่นสายตาที่หาประโยชน์ไม่ได้ในความมืดมิด

เมื่อเข้าสู่โลกแห่งความมืด ทุกคนต้องเชื่อฟังคำแนะนำของไกด์ที่รออยู่เราอยู่แล้วข้างในอย่างเคร่งครัด ไกด์จะนำทางและคอยช่วยเหลือเราได้ตลอดเส้นทางที่ต้องผ่านตรอกแคบๆ ออกไปสู่สวนสาธารณะ เรื่อยไปจนถึงถนน ฟุตบาท เข้าสู่ร้านอาหาร และออกจากร้านพร้อมกับสิ้นสุดการเดินทาง รวมเวลาแล้วประมาณ 15-20 นาที ซึ่งทุกคนที่ออกมาแล้วก็จะมีความรู้สึกที่แตกต่างกันไป แต่ที่ทุกคนรู้สึกเหมือนกันคือเข้าใจความรู้สึกของคนที่ต้องอยู่ในโลกมืดมากขึ้น

หลังจากได้ทดลองเปิดประสบการณ์แปลกใหม่ ผู้จัดการวิทยาศาตร์ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายพรชัย เจริญรัตน์ หรือ อิ๊กคิว หนึ่งในไกด์ของดีไอดี เลยได้รู้ว่าไกด์ทุกคนของที่นี่เป็นผู้พิการทางสายตาทั้งสิ้น รวมทั้งตนเองด้วย ซึ่งอิ๊กคิวบอกว่าเขาดวงตาของเขาเริ่มมีปัญหาในการมองเห็นจนกระทั่งบอดสนิทเมื่ออายุ 19 ปี จากการติดเชื้อและเกิดฝีในสมองทับเส้นประสาทตา ซึ่งปัจจุบันอิ๊กคิวอายุ 23 ปีแล้ว

จากเด็กหนุ่มที่ต้องทำงานส่งตัวเองเรียนหนังสือ และมีนิสัยชอบเข้าสังคม กลายเป็นผู้พิการทางสายตาที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเหมือนก่อน จึงไม่กล้าออกไปพบปะผู้คนและเผชิญโลกภายนอกอยู่นานหลายปี แต่ด้วยกำลังใจจากครอบครัว จึงทำให้อิ๊กคิวยืนหยัดอยู่ได้ และช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เขาได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล จ.นครปฐม เพื่อฝึกทักษะการใช้ไม้เท้า และบทเรียนอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้พิการทางสายตา และได้มาทำงานเป็นไกด์นำทางคนตาดีที่เข้าสู่บทเรียนในความมืดที่งานมหกรรมวิทย์ประจำปีนี้

อิ๊กคิวบอกว่าเขารู้สึกสนุกกับงานนี้มากที่ได้มีโอกาสเจอผู้คนมากมาย ได้เล่าประสบการณ์และถ่ายทอดความรู้สึกของตนเองให้ผู้ที่เขามาทดลองสัมผัสโลกแห่งความมืด รวมทั้งการทำให้ผู้อื่นได้รับรอยยิ้มและมีความสุข 

"นิทรรศการชุดนี้จะทำให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ว่า ถึงแม้เราจะมองไม่เห็น แต่เรายังมีประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ ที่ยังสามารถใช้งานได้ดีอยู่ ยังทำให้เรารู้สึกได้ลุ้นและตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลาด้วย ขอเพียงทุกคนเปิดใจรับรู้" อิ๊กคิวเล่าพร้อมกับฝากบอกถึงผู้ที่อยู่ในโลกมืดเช่นเดียวกับเขาว่า อยากให้ทุกคนเข้มแข็ง เพราะถึงแม้ดวงตามองไม่เห็น แต่ดวงใจเรายังมองเห็นอยู่

"สำหรับคนตาดีก็จะได้รับรู้วิถีชีวิตของคนตาบอด ทำให้เข้าใจคนในสังคมเดียวกันมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าปกติแล้วเมื่อคนตาดีพบเห็นคนตาบอดกำลังเดินอยู่โดยใช้ไม้เท้านำทาง ก็อาจไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือและยังเข้าใจว่าเขาสามารถเดินไปได้ด้วยตัวเอง แต่ที่จริงแล้วเขาอาจกำลังต้องการความช่วยเหลืออยู่ก็ได้ แต่ไม่กล้าบอกใคร เพราะฉะนั้นหากใครพบเห็นคนตาบอดก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือเขาได้เลยโดยได้ต้องเขินอาย" อิ๊กคิวถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเองที่ผ่านมาแล้วทั้ง 2 ช่วงเวลาอย่างอารมณ์ดี

นอกจากนี้ น.ส.วิจิตรา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานนิทรรศการดีไอดีบอกเพิ่มเติมอีกว่า จุดประสงค์ที่สำคัญของนิทรรศชุดนี้ต้องการบอกให้รู้ว่า การมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งที่มีค่า เมื่อตาเรามองไม่เห็นแล้ว แต่เรายังยังมีประสาทสัมผัสด้านอื่นที่ยังใช้การได้และช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

"ปกติมนุษย์เราจะใช้การมองเห็นเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจมากกว่า 90% แต่บทเรียนในความมืดจะบอกว่าเรายังมีประสาทสัมผัสทางด้านอื่นที่มีประสิทธิภาพมาก แต่เรายังไม่ได้ใช้ออกมาอย่างเต็มที่ ทั้งการได้ยิน การดมกลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัส" น.ส.วิจิตรา ให้รายละเอียด

"นอกจากนี้ยังต้องการสื่อด้วยว่าผู้พิการทางสายตาอยากได้อะไรจากสังคม พวกเขาก็จะปฏิบัติต่อผู้ที่เข้ามาอยู่ในบทเรียนแห่งความมืดเช่นเดียวกับที่เขาต้องการในโลกแห่งความเป็นจริง หรืออาจเรียกได้ว่าบทเรียนในความมืดนี้สามารถทำให้เราค้นพบสิ่งที่มองไม่เห็นได้ " น.ส.วิจิตรา กล่าว ซึ่งนิทรรศการชุดนี้ส่วนหนึ่งยังเป็นการเพิ่มโอกาสและสร้างอาชีพให้ผู้พิการทางสายตาด้วย เพราะมีการนำไปจัดแสดงมาแล้วกว่า 130 เมือง ใน 22 ประเทศทั่วโลก

ใครที่อยากทดลองสัมผัสประสบการณ์ในโลกแห่งความมืดด้วยตัวเอง สามารถไปชมนิทรรศการชุด "บทเรียนในความมืด" นี้ได้ที่งานมหกรรมวิทย์ ตั้งแต่วันที่ 8-22 ส.ค.นี้ 9.00-20.00 น. ที่ไบเทค บางนา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปร่วมงานได้ในวันเวลาดังกล่าวก็อดในรอกันอีกสักนิด เพราะขณะนี้ อพวช. กำลังเตรียมการเพื่อนำนิทรรศการชุดนี้ไปพัฒนาต่อและจัดแสดงอย่างถาวรบนเนื้อที่ราว 2,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการจตุรัสวิทยาศาสตร์ ที่จามจุรีสแควร์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้เข้าชมได้ราวปลายปีนี้แน่นอน
ประชาชนที่มาร่วมเข้าชมงานให้ความสนใจกับ บทเรียนในความมืด กันอย่างมาก แต่หากใครพลาดโอกาสในครั้งนี้ก็อดใจรออีกนิด เพราะ อพวช.จะนำนิทรรศการชุดนี้ไปจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบที่จามจุรีสแควร์ และเตรียมเปิดให้เข้าชมกันในปลายปีนี้
ก่อนเข้าสู่บทเรียนในความมืด ทุกคนจะได้รับไม้เท้านำทางคนละ 1 อัน พร้อมรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่
น.ส.วิจิตรา สุริยกุล ณ อยุธยา และ นายพรชัย เจริญรัตน์ หรือ อิ๊กคิว
กำลังโหลดความคิดเห็น