สกว. - หลายคนอาจจะไม่รู้จัก "มะหาด" และทราบด้วยว่าสมุนไพรไทยชนิดนี้ใช้ยับยั้งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค "เริม" ได้ด้วย ความมหัศจรรย์แบบไม่พึ่งพายาต่างชาติเช่นนี้ทาง สกว.ได้บอกต่อมายังผู้จัดการวิทยาศาสตร์ผ่านจดหมายข่าวเพื่อกระจายข่าวงานวิจัยนี้
เริมเป็นโรคที่ยังคงพบบ่อย และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอันหนึ่งของประเทศไทย โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริม หรือไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์หรือเอชเอสวี (herpes simplex virus: HSV) ซึ่ง แบ่งได้เป็น 2 ชนิดได้แก่ เอชเอสวี-1 (HSV-1) และเอชเอสวี-2 (HSV-2) ทั้งนี้ เอชเอสวี-1 มักก่อให้เกิดโรคกับร่างกายที่ตำแหน่งสูงกว่าสะดือ เช่น สมองอักเสบ เยื่อบุตาและกระจกตาอักเสบ ส่วนเอชเอสวี-2 มักก่อให้เกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศ และเริมในทารกแรกคลอด ซึ่งเชื้อเริมทั้งสองชนิดทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน และก่อความรำคาญให้กับผู้ติดเชื้อ
เชื้อเริมแพร่กระจายได้จากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งที่มีไวรัส โดยไวรัสเข้าสู่เยื่อเมือกผิวหนังหรือบาดแผลที่ผิวหนัง หลังจากติดเชื้อครั้งแรกแล้วไม่ว่าจะแสดงอาการหรือไม่ก็ตาม ไวรัสจะยังคงอยู่ในร่างกายโดยแฝงตัวอยู่ในปมประสาท เมื่อมีการกระตุ้นจึงแสดงอาการของโรคซ้ำ การกระตุ้นอาจเกิดจากไข้ ความเครียด ภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง หรือระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง
โดยทั่วไปการติดเชื้อเริมครั้งแรกจะมีความรุนแรงมากกว่าการติดเชื้อซ้ำ เพราะยังไม่มีภูมิคุ้มกันจำเพาะต่อไวรัส แต่ภายหลังการติดเชื้อจะตรวจพบแอนติบอดีเกิดขึ้น ซึ่งคงอยู่ตลอดชีวิต ทั้งนี้ การติดเชื้อไวรัสเริมในบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต เช่น พบได้ในผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเข้าสู่ในระบบประสาทส่วนกลาง และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาเริมมีราคาค่อนข้างแพงเพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ มีรายงานว่าไวรัสเริมบางสายพันธุ์เริ่มดื้อต่อยาที่ใช้รักษา ดังนั้นการรักษาให้ได้ผลดีจึงอาจต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย การค้นหายาต้านไวรัสชนิดใหม่ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ต่างจากยาปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาการรักษาโรคเริมให้ได้ผลดีในอนาคต
ขณะนี้ได้มีการศึกษาวิจัยพบว่าสมุนไพรไทยหลายชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส ตัวอย่างสารสกัดจากพืชที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเริม เช่น ข่าเล็ก เปลือกต้นฝาง ทับทิม กานพลู และพญายอ นอกจากนี้ยังมี “มะหาด” ไม้ยืนต้นที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร. กิตติศักดิ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ได้ทำการศึกษาศักยภาพของมะหาดเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคเริม โดยได้รับทุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
คณะผู้วิจัยได้นำสารสกัดจากแก่นมะหาด ไปทดสอบในหลอดทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต้านไวรัสเริมทั้งสองชนิด จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าสารออกฤทธิ์ คือ oxyresveratrol ต่อมาได้ทำการศึกษาในสัตว์ทดลอง คือ หนูที่ติดเชื้อไวรัส เอชเอสวี-1 เริ่มจากการนำสาร oxyresveratrol มาเตรียมเป็นยาทาในรูปของขี้ผึ้ง แล้วนำไปทาผิวหนังของสัตว์ทดลองบริเวณที่เป็นแผล
พบว่ายาที่มีความเข้มข้น 30% ให้ผลในการรักษาอย่างชัดเจน โดยยาเตรียมในขนาดดังกล่าว เมื่อทาผิวหนังบริเวณที่เป็นวันละ 5 ครั้งมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของแผลในสัตว์ทดลองได้เทียบเท่ากับยาครีมอะไซโคลไวร์ (acyclovir) ขนาดความเข้มข้น 5 % ซึ่งเป็นยาสังเคราะห์ที่ใช้รักษาโรคเริมในปัจจุบัน และเป็นยาที่มียอดขายอันดับที่ 16 ของโลก
ผลการวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า oxyresveratrol จากแก่นมะหาดมีศักยภาพที่จะนำมาพัฒนาเป็นยาทาผิวหนังต้านไวรัสเริมได้ นับได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งในการวิจัยเพื่อค้นพบยาใหม่โดยเริ่มต้นจากสมุนไพร ซึ่งคณะวิจัยจะพัฒนาสูตรตำรับต่อไปเพื่อให้สามารถลดปริมาณของ oxyresveratrol ในตำรับลงได้ เช่น การเลือกใช้ยาพื้นที่เหมาะสม การลดขนาดอนุภาคของสาร การเปลี่ยนรูปแบบตำรับ ฯลฯ จากนั้นนำยาเตรียม oxyresveratrol ตำรับใหม่ที่ได้มาทำการศึกษาในสัตว์ทดลองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความเป็นพิษ หากได้ผลว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาดี และไม่มีความเป็นพิษ จึงจะพิจารณานำไปศึกษาเพื่อใช้เป็นยาในคนต่อไป